[เลือกหนังสือ]      ปก | คำนำ | สารบัญ | ภาคผนวก | คัชนี
page: 1/20

สารบัญ
บทที่ 1
ฉลาดชัดตัดกิเลส

[1]
[2]

บทที่ 2
อวิชชาของคนฉลาด
[3]
[4]

บทที่ 3
พัฒนาอารมณ์
[5]
[6]

[7]

[8]

บทที่ 4
ความแตกต่าง
ระหว่าง
พุทธกับฤาษี
[9]
[10]

[11]
[12]

บทที่ 5
คุณวิเศษของพุทธ
[13]
[14]

[15]

บทที่ 6
อีคิวโลกุตระ
[16]
[17]

[18]

บทที่ 7
หลักปฏิบัติสำคัญ ของศาสนาพุทธ

[19]
[20]

อีคิวโลกุตระ... สมณะโพธิรักษ์ / บทที่ 1

บทที่ 1
  ฉลาดชัดตัดกิเลส  

ตลาดสังคมทุกวันนี้ ตื่นตัวกันกับคำว่า “อีคิว” (EQ) ซึ่งเป็นตัวย่อของคำว่า Emotional Quotient ส่วนคำแปลนั้น ยังไม่เป็นที่แน่นอน

บ้างก็แปลว่า “ความฉลาดทางอารมณ์” ก็มี

แปลว่า “ความสามารถด้านอารมณ์” ก็มี

แปลว่า “ทักษะทางอารมณ์” ก็มี

แปลว่า “ความสามารถของผู้มีความฉลาดทางอารมณ์” ก็มี

แปลว่า “ผลลัพธ์ของระดับความฉลาดทางอารมณ์” ก็มี

หรือแปลว่า “เชาวน์อารมณ์” ก็มี

ท่านศาสตราจารย์ ดร.น.พ. วิทยา นาควัชระ แปลให้ได้ความครบขึ้นไปอีก ว่า “ความฉลาดในการใช้อารมณ์ได้ดี” อย่างนี้ก็มี

หรือนายแพทย์เทอดศักดิ์ เดชคง แปลเอาความหมายให้เหมาะกับที่ตนเข้าใจ ก็แปลว่า “ความสามารถของบุคคลในการนำไปสู่การเป็นคนดี มีคุณค่า และมีความสุข” อย่างนี้ก็มี

และคงมีอื่นๆ อีก ส่วนสำนวนไหนจะติดตลาด ก็คงต้องรอให้ท่านนักปราชญ์ทั้งหลายได้คิดได้แปลกันออกมาให้หมดๆ ดูทีรึ หรือรอราชบัณฑิตยสถานตรากันเสร็จแล้วประกาศออกมา ตอนนี้ก็เอาตามที่ท่านผู้รู้แปลๆ มาแล้วนี่แหละไปก่อนก็แล้วกัน อาตมาอาจจะใช้บางสำนวนตามโอกาส ก็ฟังๆ คิดๆ ตามเนื้อหาและเจตนาที่อาตมาหมายเอาก็แล้วกัน คงไม่ว่ากันนะ

นอกจากคำว่า อีคิว หรือ Emotional Quotient นี่แล้ว ก็ยังมีคำภาษาอังกฤษอื่นๆ อีก ที่มีความหมายใกล้เคียงกัน เช่น

Emotional Ability

Emotional Intelligence

Interpersonal Intelligence

Multiple Intelligence

Social Intelligence

Emotional Quotient นี้เพิ่งจะได้รับความสนใจภายหลัง แต่ก่อนรู้จักกันแต่ Intelligence Quotient

Intelligence Quotient นั้น ดูจะเป็นที่รู้จักแพร่หลายกว่าเพื่อน ก็ที่เรียกคำย่อของมันว่า ไอคิว นั่นแหละ ไอ ( I ) ก็คือ Intelligence และ คิว ( Q ) ก็คือ Quotient ดังนั้น ไอคิว ก็คือ Intelligence Quotient

อันหมายถึง “ความฉลาดทางเชาวน์ไวไหวพริบ” หรือ “ความฉลาดทางความคิด” และใครๆ ก็ปรารถนาที่จะมี ไอคิว สูงๆ เพราะเชื่อกันว่าผู้มีไอคิวสูงคือคนฉลาดเฉลียว จะเป็นคนประเสริฐยิ่งฉลาดมากก็ยิ่งจะประเสริฐมาก

มีผู้รู้ได้คิดวิธีการทดสอบเพื่อวัดความมีไอคิวกันเป็นเรื่องเป็นราว และกำหนดมาตรฐานตัวเลขแจ้งบอกความฉลาดมากฉลาดน้อย หรือแจ้งความเป็นคนมีไอคิวมากไอคิวน้อยกันไว้ว่า

หากใครมีไอคิวต่ำกว่า ๗๐ ถือว่า ไม่สามัญกันแล้ว เริ่มนับว่า มีความฉลาดต่ำกว่าปกติสามัญ ใครต่ำกว่า ๗๐ ลงไป ก็นับว่า เป็นคนที่มีความฉลาดบกพร่อง เพราะมีไม่ถึงขีดสามัญ แล้วเรียกกันตามภาษาที่ใช้กันจนติดปากว่า ปัญญาด้อย ถ้าต่ำกว่า ๗๐ ลงไปมากเท่าใด ก็นั่นแหละคือ ยิ่งนับว่าเป็น “คนปัญญาอ่อน” ยิ่งๆ ขึ้น ผู้ที่มีไอคิวต่ำกว่า ๗๐ เขาจัดเข้าไปอยู่ในกลุ่ม mental retardation คือ กลุ่มด้อยสุด

สำหรับกลุ่มที่จัดว่า ธรรมดาสามัญ คือ normal นั้น จะมีความฉลาดหรือมีไอคิวอยู่ในระดับ ๑๑๐–๙๐ หากใครมีไอคิวต่ำกว่า ๙๐ ลงไปถึง ๘๐ ถือว่า dull normal คือ โง่กว่าคนสามัญปกติ ถ้ายิ่งต่ำลงไปอีกถึง ๗๐ ก็เป็นสุดเขต borderline ของกลุ่มสามัญ เพราะหากต่ำกว่า ๗๐ ต้องถือว่า ไม่สามัญ ดังที่กล่าวมาแล้ว

ส่วนคนที่จัดอยู่ในกลุ่มเฉลียวฉลาดกว่าสามัญ เรียกว่า เป็นพวก bright normal ก็จะมีไอคิวระหว่าง ๑๑๐–๑๒๐ ยิ่งใครมีไอคิวสูงกว่า ๑๒๐ ไปถึง ๑๓๐ ก็นับได้ว่า เป็นคนฉลาดเยี่ยม ระดับ superior ทีเดียว คือ ระดับอัจฉริยะ ถ้ายิ่งคนใดมีไอคิวเกินกว่า ๑๓๐ ขึ้นไป นั้นยิ่งเป็นคนสุดพิเศษ ก็ต้องถือว่า เป็นมนุษย์ฉลาดขั้นเลอเลิศเยี่ยมยอดวิเศษ หรือสุดยอดอัจฉริยะกันไปเลย เรียกว่า very superior

 พัฒนา IQ เพื่อได้เปรียบ 

ดังนั้น บรรดาพ่อแม่ทั้งหลายจึงปรารถนาอย่างยิ่งที่จะมีลูกไอคิวสูงๆ เพราะเชื่อกันอย่างสนิทใจแล้วว่า คนไอคิวสูงนั้น ชีวิตจะดี เจริญประเสริฐ

เชื่อกันมากด้วยว่า คนที่มีไอคิวสูงๆ จะเรียนเก่ง จะรู้มาก จะคิดอ่านคล่อง จะมีชีวิตเจริญรุ่งเรือง ก้าวหน้าทางการงาน เป็นอยู่สุขสบายกว่าคนไอคิวต่ำ จะสามารถดูดเอาเงินทองทรัพย์ศฤงคารมาเข้ากระเปำตนได้มากกว่าคนไม่ฉลาด จะได้เป็นเจ้าคนนายคน จะมีฐานะเลิศลอยกว่าคนอื่น

และเชื่อต่อไปอีกว่า คนฉลาดเฉลียวย่อม “ได้เปรียบ” ผู้อื่น ก็จะชอบใจทีเดียวที่ได้เปรียบคนอื่น เพราะเชื่อว่า การเป็นคนฉลาดก็ต้อง “ได้เปรียบ” เมื่อ “ได้เปรียบ” …ก็ชอบ อย่างนี้แหละคน! ประสาคนก็ “ชอบ” ง่ายๆ ตื้นๆ ฉะนี้เอง ..ชอบ “การได้เปรียบ!”

โดยไม่คิดให้ลึกซึ้งดีๆ ว่า “การได้เปรียบ” นั้นมันเป็นคุณธรรมที่น่า “ชอบ” กันจริงๆ หรือ?

“การได้เปรียบ” คือ คุณธรรมความดี หรืออธรรมความเลว กันแน่?

“การได้เปรียบ” กับ “การเสียสละ” อะไรมันเป็นคุณธรรมของมนุษย์ที่ดีกว่ากันจริงแท้?

ซึ่งหากคิดให้ดีๆ อีกสักนิด ก็จะเห็นความดีกว่าหรือเลวกว่าอย่างเป็นจริงอยู่ชัดๆ ว่า “การได้เปรียบ” ไม่ใช่ความดีงามอะไรเลยที่คนจะน่า “ชอบ” หากพิจารณาต่อไปก็จะเห็นได้ว่า “การได้เปรียบ” กับ “การเสียสละ” นั้น “การได้เปรียบ” ย่อมเลวกว่า “การเสียสละ” ตามสัจจะอยู่โทนโท่

ผู้ “ได้เปรียบๆ อยู่” ไม่ใช่คนดีคนเจริญเลย

ผู้ “เสียให้” หรือ “สละๆ อยู่” ต่างหาก คือคนดีคนเจริญแท้

“คนได้เปรียบ” หรือ “คนเอาเปรียบ” ก็คือ คนที่เลวกว่า “คนเสียสละ” ชนิดที่เถียงไม่ได้จริงๆ อย่าว่าไปถึง “คนเสียสละ” เลย แม้แต่ “คนที่เอาเท่าๆ กัน” หรือแค่ “คนที่ไม่เอาเปรียบ” ก็ยังดีกว่า “คนเอาเปรียบ” แล้ว

เห็นไหมว่า เพียงแค่เริ่มต้นพูดกันเรื่อง “ความฉลาด” ก็ส่อให้เห็นแล้วว่า คนผู้ “ชอบ” ความได้เปรียบ นั้น คือ คนเห็นผิด หรือเห็นอย่าง “ไม่ถูกต้องตามสัจจะ” เพราะไปหลง “ชอบ” ความได้เปรียบ มันก็เท่ากับไป “ชอบ” ความเลว ซึ่งไม่น่าจะ “ชอบ” เลย

คน “ชอบ” ความเลว จึงไม่ใช่ “คนดี” หรือ “คนฉลาดที่ถูกสัจจะ”

เบื้องต้นแห่ง “ความฉลาด” แบบนี้ จึงชักไม่ชอบมาพากลเสียแล้ว

ถ้าคนที่มีไอคิวสูงนั้น ก็เป็น “คนฉลาด” แบบเดียวกันนี้ด้วย คือ ฉลาดชนิดที่ “ชอบ” ความได้เปรียบ หรือ “ชอบ” ความเลวนี่แหละเช่นกัน แม้คนฉลาดชนิดนี้จะเรียนเก่ง จะรู้มาก จะคิดอ่านคล่อง จะสามารถดูดเอาเงินทองทรัพย์ศฤงคารมาเข้ากระเป๋าตนได้มากกว่าคนไม่ฉลาด จะเอาแต่มุ่งเป็นเจ้าคนนายคน จะมีฐานะเลิศลอยกว่าคนอื่น จะใช้ความฉลาดเฉลียวมุ่งแต่จะเอาเปรียบผู้อื่น

เพราะไม่เห็นว่า “การได้เปรียบ” เป็น “ความไม่ดี” เป็น “ความเลว”

“คนมีไอคิวสูง” แบบนี้ แม้เท่านี้ก็มิใช่ “คนดี” แล้ว

แต่ถ้า “คนมีไอคิวสูง” เป็น “คนดี” ด้วย ก็วิเศษแน่

ทว่าหากเป็น “คนมีไอคิวสูง” แต่เป็น “คนชอบได้เปรียบ” คือ “ชอบ” ความไม่ดี ดังได้กล่าวมา แค่ใครมี “ความชอบการได้เปรียบ” ก็ถือว่า เป็นความไม่ดีระดับหนึ่งแล้ว ถ้าแม้น “ความชอบ” ที่จะได้เปรียบ มันแรงขึ้นๆ จนได้ที่ ถึงขีดหนึ่งซึ่งตนแพ้อำนาจกิเลสของตน “คนมีไอคิวสูง” ก็สามารถเป็นคนไม่ซื่อสัตย์ เป็นคนทุจริตได้แน่ๆ และแบบนี้ก็มีเสมอๆ เต็มสังคม

คนไม่ซื่อสัตย์ คนทุจริต ก็คือ คนที่เอาเปรียบร้ายแรง เลวชั่วยิ่งๆ ขึ้นด้วยความโลภจัด ต้องมี “ความฉลาด” ด้วยจึงจะทุจริตได้แนบเนียนและเก่ง

และคนฉลาดหรือคนมีไอคิวสูง ที่ไม่ซื่อสัตย์ ที่ทุจริต, กิน, โกง หรือเสียสละด้วยจิตมีเล่ห์ โดยเฉพาะหลอกลวงสังคมด้วยเล่ห์แฝงได้เก่ง ได้ยอดเยี่ยม เพราะมีไอคิวสูง เพราะเป็นคนฉลาด แสวงหาผลประโยชน์ ลาภ, ยศ, สรรเสริญ, สุข (โลกีย์) ด้วยความฉลาด ด้วยไอคิวสูงของตนอยู่ในสังคมแล้วก็ลอยนวลอยู่ในสังคมด้วยความฉลาด หรือลอยหน้าเชิดหน้าชูตาอยู่ในสังคมด้วยไอคิวสูงอย่างสง่าผ่าเผย

นี่แหละคือ ลักษณะของคนทำลายสังคม ทำลายชาติ ทำร้ายมนุษย์ในโลก ที่ควรจะรู้กันให้ลึกซึ้งอย่างเป็นสัจจะ และก็เพราะเหตุที่เอาแต่ส่งเสริมให้คนมีไอคิวสูงๆ หรือส่งเสริมให้มีความฉลาดมากๆ นี่เอง โดยไม่รู้ว่า จริงๆ แล้ว ในความสำคัญของความเป็นคนนั้น มีคุณลักษณะอื่นที่น่าส่งเสริมยิ่งกว่า “ไอคิว” และหากได้ส่งเสริมคุณลักษณะดังว่านี้ให้พัฒนาขึ้นได้จริง ก็จะทำให้สังคมประเทศชาติเจริญยิ่ง เป็นอยู่สุขถ้วนหน้ากว่าที่โลกเป็นกันอยู่นี้แน่

เพราะไปมัวหลงส่งเสริมแต่เรื่องความฉลาดหรือไอคิวกันอย่างเอียงโด่งนี่แหละ จึงมีคนทำลายสังคม ทำลายชาติ ทำร้ายมนุษย์ มากขึ้นๆ ในโลก

ดังนั้น “คนทุจริต” หรือ “คนชั่ว” ที่ “เก่ง” เพราะมีไอคิวสูง เพราะมีความฉลาด ประดามีในโลก ต่อให้เก่งด้วยความรอบรู้หรือเก่งด้วยฝีมือ ฉลาด สามารถจัดการ หรือเก่งพูด เก่งคิด เก่งทำอะไรได้ยอดเยี่ยมปานใดก็ตาม แต่เพราะไม่ซื่อสัตย์ ทุจริต จึงประกอบพฤติกรรมต่างๆ อยู่ในสังคมภายใต้การบงการของความแสนฉลาด นั่นเอง ผลก็คือ สังคมย่ำแย่ ประเทศชาติล่มจม และร้ายสุดทั้งสังคมประเทศชาติก็ฉิบหายวายวอด

การทุจริตของคนฉลาดที่ฉลาดมาก ไอคิวสูง คือ การเอาเปรียบด้วยกลวิธีที่ละเมียดละไมสุขุมแนบเนียนยิ่ง ซับซ้อนบางเบา มีกลเม็ดสุดฉลาด ทั้งแฝงทั้งพราง ทั้งหลอกทั้งลวง ทั้งสร้างภาพ ทั้งมีวิธีโฆษณาให้ผู้คนกลับเห็นว่าเป็นดี แต่กินลึกกินกว้าง เอาเปรียบได้มากมหาศาลยิ่งๆ ไม่ว่าจะเป็นการได้เปรียบมา เป็นลาภ เป็นสักการะ เป็นเสียงสรรเสริญเยินยอ หรือเป็นโลกียสุข ก็ล้วนคือ สิ่งที่ “คนโลภ” พยายามใช้ “ความฉลาด” ให้ได้มาแก่ตนทั้งสิ้น คนฉลาด ดังกล่าวนี้ คือ คนฉลาดที่เลวทรามต่ำช้าร้ายกาจกว่า คนฉลาดน้อยที่ทุจริตหรือเอาเปรียบสู้ไม่ได้ เพราะเก่งน้อยกว่า เพราะตื้นกว่า เพราะไม่ลึกล้ำเท่า เพราะไม่ฉลาดเท่านั่นเอง

ในสังคมของคนทั้งโลก ต่างได้พากันหลงใหลชื่นชอบ “ความฉลาด” หรือหลงใหลชื่นชอบเจ้า “ไอคิว” นี้มานานแล้ว แต่ไม่ได้ศึกษาเกี่ยวกับความลึกซึ้งละเอียดลออของ “จิตวิญญาณ” อันเป็นกลุ่มพลังงานชนิดหนึ่งที่วิจิตรพิเศษลึกซึ้งเหนือกว่าพลังงานทางวัตถุ เรียกว่า “จิตวิญญาณ” ในตัวคน จึงไม่รู้ “อาการชนิดอื่นๆ ” ของจิตวิญญาณที่มีลักษณะต่างจาก “ความฉลาด” (Intelligence) ว่า มีความสำคัญพาให้ชีวิตประเสริฐได้ยิ่งกว่า

และใน “จิตวิญญาณ” นี้เอง เจ้า “ความฉลาด – ความมีเชาวน์ไว” หรือ “ไอคิว” นี่ก็เป็นเพียงอาการลักษณะหนึ่งของจิตวิญญาณที่มีอยู่ในความเป็น “จิตวิญญาณ” นั้นด้วย ในจิควิญญาณนั้นมีอาการลักษณะต่างๆ มากมายวิจิตรพิสดารหลากหลาย เช่น “ความฉลาด” หรือ “ความมีเชาวน์ไวไหวพริบ” (Intelligence = ชวน อ่านว่า ชะวะนะ) ก็เป็นอาการลักษณะหนึ่ง ของจิตวิญญาณ “ความโง่” (อวิชชา) ก็เป็นอาการลักษณะหนึ่ง ของจิตวิญญาณ “อารมณ์, ความรู้สึก” (emotion = เวทนา) ก็เป็นอาการลักษณะหนึ่ง ของจิตวิญญาณ แม้ “การกำหนดได้หมายรู้” (สัญญา) ก็เป็นอาการลักษณะหนึ่ง ของจิตวิญญาณ โดยเฉพาะอาการลักษณะที่เรียกว่า “โลภ” ก็ดี “โกรธ” ก็ดี “หลง” ก็ดี หรือ “กิเลส” ก็ดี “ตัณหา” ก็ดี “อุปาทาน” ก็ดี เป็นต้น ล้วนเป็นอาการลักษณะต่างๆ ที่อยู่ในจิตวิญญาณทั้งนั้น มันมีบทบาทอยู่ในจิตอย่างสำคัญ มีอำนาจฤทธิ์เดชบงการคน คน..เป็นทาสความโลภ, โกรธ, หลง ที่อยู่ในจิตจริงๆ ที่คนในโลกทุกวันนี้ไม่ใส่ใจจริงจังเท่ากับ “ความฉลาด”

เพราะฉะนั้น คนที่หลงใหลได้ปลื้มอยู่แต่แค่ “ความฉลาด” (เฉกตา) หรือ “ไอคิว” (Intelligence Quotient) อันเป็นเพียงอาการลักษณะหนึ่งของ “จิตวิญญาณ” แต่ไม่สามารถรู้ละเอียดลึกเข้าไปในความเป็นอาการลักษณะต่างๆ ของ “จิตวิญญาณ” ซึ่งยังมี “ความเป็นทั้งลักษณะดีและลักษณะชั่ว” อีกหลากหลายซับซ้อนวิจิตรพิสดารอยู่ในความเป็นจิตวิญญาณ และไม่สามารถมีวิธีกระทำให้อาการลักษณะบางลักษณะของจิตวิญญาณลดบทบาทลง กระทั่งสุดท้ายดับสนิทหมดฤทธิ์หมดพลังงานไปจากจิตวิญญาณของตนอย่างเด็ดขาด (absolute) หรือไม่สามารถ มีวิธีปฏิบัติกระทั่งให้ บางลักษณะอาการของจิตวิญญาณ มีฤทธิ์แรงแสดงบทบาท อย่างแข็งแรงตั้งมั่น จึงยังเป็นการบกพร่องจากอาการอื่นๆ ของจิตวิญญาณอยู่มาก

 ลีลาลึกล้ำความฉลาด 

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งเป็นพระบรมศาสดาของชาวพุทธ ได้ตรัสรู้ความละเอียดลออวิจิตรพิสดารหลากหลายของจิตวิญญาณมาแล้วกว่า ๒๕๐๐ ปี และได้ทรงนำมาเปิดเผยประกาศแก่มวลมนุษยชาติ ให้มวลมนุษย์ในโลกได้เรียนรู้ตาม และปฏิบัติพิสูจน์ตามที่พระองค์ทรงสอน ก็ได้รู้ยิ่งเห็นจริงประสพผลสำเร็จมาตลอดกว่า ๒๕๐๐ ปี มีผู้เรียนรู้กระทั่ง “สัมมาทิฏฐิ” สามารถปฏิบัติ ให้อาการลักษณะบางลักษณะ ของจิตวิญญาณดับสนิท หมดฤทธิ์หมดพลังงาน ไปจากจิตวิญญาณของตน และสามารถปฏิบัติ กระทั่งให้บางลักษณะของจิตวิญญาณ มีฤทธิ์แรงแสดงบทบาท อย่างแข็งแรง เป็นประโยชน์ตน ประโยชน์ต่อโลก ต่อสังคมได้อย่างประจักษ์สิทธิ์

เจ้า “ไอคิว” หรือเจ้า “ความฉลาด” ที่เป็นตัวสำคัญของจิต และคนผู้มีมันแล้วก็ใช้มัน โดยผู้ใช้ไม่รู้แจ้งถึง “ตัวสำคัญ” ตัวอื่นๆ ของจิต จึงปล่อยให้ “ตัวอื่นๆ ” ซึ่งมีอีกหลายตัวหลายลักษณะอันเป็น “ตัวเลวตัวร้าย” ผสมโรงร่วมไปกับ “ไอคิว” ทำบทบาทหรือทำกรรมกิริยาชนิด “เลวร้ายอย่างฉลาด” คือ ทำได้เก่งแต่ร้ายกาจอย่างแนบเนียนจนผู้คนไม่รู้ไม่เห็นความเลวร้ายนั้นๆ หรือบางบทบาทเจตนาให้รู้ให้เห็น ทว่าให้เห็นอย่างซับซ้อนซ่อนสลับ จนเห็นกลับกลายไปเป็น “ดี” ทวีคูณซ้ำเสียอีก

“ความฉลาด” ของคนที่มีกิเลส ขึ้นชื่อว่า กิเลส ย่อมพาให้ต่ำลงทั้งนั้นแหละ ดังนั้นเมื่อกิเลสมันทำงานผสมโรงกัน “ความฉลาด” ก็คือ มันกำลังพาคนเลวลงๆ เช่น บางคนโลภในตำแหน่ง “ยศ” ศักดิ์ บางคนโลภใน “สรรเสริญ” เป็นต้น ด้วย “ความฉลาด” เขาจึงใช้กลวิธีสร้างภาพให้คนเห็นว่าเขาเป็นคน “ไม่โลภในลาภ” เพื่อให้ใครๆ เห็นว่าเขาเป็นคนดี เหมาะสมเหลือเกินที่ควรจะได้ “ยศ” ตำแหน่งนั้นๆ ภาพลักษณ์ก็ดูเป็น คนไม่โลภในลาภ แต่จริงๆ นั้น เขา “โลภ” ในยศ หวงแหนยศ เขาทำเพื่อให้ได้ยศ เขาเอาลาภแลกยศ หรือบางคนก็ “โลภ” สรรเสริญ ติดบัลลังก์สรรเสริญ ให้ได้มาซึ่งสรรเสริญ เขาก็เอาลาภสรรเสริญ ทุ่มโถมลาภแลกสรรเสริญ แม้แต่ทำทีหรือสร้างภาพเป็นว่า เขาเป็นคนไม่มักมากในลาภ เพื่อแลกยศ แลกสรรเสริญ ดังนี้ ก็ไม่ใช่ “ความมีธรรมะหรือมีคุณธรรม” เพราะยังเป็นแค่กลวิธีของ “ความโลภ” ที่ผู้โลภนั้นๆ ใช้ “ความฉลาด” ทำเพื่อให้ตนเองได้สมใจใน “ความโลภ” ต่อสิ่งนั้นๆ ต่างหาก เช่น ผู้โลภในยศ ในสรรเสริญ ก็ยอมสละลาภเพื่อแลกสิ่งที่ตนโลภนั้น เป็นต้น มันเป็นแค่ “ธุรกิจความโลภ” ที่มีต่อ ลาภ – ยศ – สรรเสริญ – สุขโลกีย์ หรือเป็นแค่พาณิชยการที่ใช้ลาภ – ยศ – สรรเสริญ – สุขโลกีย์ แลกเปลี่ยนกันไปมา เท่านั้นเอง

ความซับซ้อนซ่อนเชิงยิ่งไปกว่านั้น บางคนทำเป็นไม่ทุจริตในลาภ ท่ามกลางกลุ่มพรรคพวกของเขาที่ต่างก็ทุจริตกัน แทนที่เขาจะช่วยระงับพรรคพวกให้เลิกทุจริตเลิกความเลว ทั้งๆ ที่บางคนมีตำแหน่งอยู่ในฐานะทำได้ด้วยซ้ำ และเป็นหน้าที่ด้วย แต่เขาไม่ทำ เขากลับใช้ “ความฉลาด” โดยอาศัยความเลวของพรรคพวกนั่นเอง เป็นการซ้อนเชิงให้กลายเป็นว่าเขาต่างหากที่ “เด่นเป็นคนดี” ยิ่งกว่าใครๆ ในกลุ่มในพวก นี่ก็ยิ่ง “ฉลาด” เหนือชั้นเหนือเชิงขึ้นไปเสียอีก แต่ในความซับซ้อนเช่นนี้ มันเป็นความเลวของคนเลวที่ลึกละเอียดขั้นสูงขึ้นของคนผู้มี “ความฉลาด” ในเชิงชั้นแห่งโลกียวิสัย

ผู้ที่แสดงบทสละลาภ เพื่ออื่นๆ เพราะโลภในสิ่งอื่น เช่นโลภในกาม ก็ใช้การเสียสละลาภ แม้จะทุ่มโถมลาภลงไปมากๆ เพื่อได้มาซึ่งกาม เขาผู้นี้ก็คือคนโลภในกาม สั่งสมราคะให้หนักให้หนาในกามยิ่งๆ ขึ้นอยู่นั่นเอง ไม่ได้หมายความว่า คนผู้นี้เป็นนักเสียสละหรือเป็นคนดีมีธรรมะ หรือมีคุณธรรมอะไรเลย ต่อให้เขามีพฤติกรรมของคนใจดี เป็นยอดนักเสียสละ ทั้งลาภทั้งแรงกายแรงใจ ชนะเจ้าบุญทุ่มทั้งหลายในโลกปานใดก็ตาม

ความสลับซับซ้อนลึกล้ำของ “ไอคิว” หรือของ “ความฉลาด – ความมีเชาวน์ไหวพริบ” (IQ) ที่เป็น “โลกียภูมิ” จริงๆ นี้ มันเก่งสุดเก่ง เพราะมันหลอกมันลวงได้ทั้ง “เจ้าตัวคนผู้เป็นเจ้าของไอคิวเอง” ให้หลงผิด.. เห็น “ความเก่ง” ของตนเป็น “ความดี” ไปได้อย่างสนิทเนียน ทั้งๆ ที่มันเป็น “ความเลว” และแน่นอนหลอกได้ทั้ง “ผู้คนในโลกแห่งโลกีย์” ทั้งหลายทั้งปวงให้หลงผิดตาม อย่างเก่งอีกด้วย

ถ้าแม้นคนผู้ใดไม่ศึกษาพุทธธรรมให้รู้แจ้งในความเป็น “โลกุตรสัจจะ” กระทั่งเข้าขั้นมี “สัมมาทิฏฐิ” และปฏิบัติจนกระทั่งมีมรรคมีผลลดกิเลส ตัณหาอุปาทานบรรลุธรรมมากพอ ถึงขั้นเข้ากระแสพ้นจากความเป็นปุถุชนอย่างน้อยก็เป็นโสดาบันขึ้นไป เป็นผู้เกิดใหม่ใน “โลกุตรภูมิ” มีญาณรู้แจ้งทุกขอาริยสัจ จริง ก็จะถูก “โลกธรรม” อันคือ ลาภ – ยศ – สรรเสริญ – สุขโลกีย์ นี่แหละ ครอบงำปุถุชนคนผู้นั้นเอง ให้ตนเองสร้าง “ความฉลาด – ความมีเชาวน์ไวไหวพริบ” (IQ) เป็น “วงวน” ที่สลับซับซ้อนหลอกตนเองให้หนายิ่งลึกยิ่ง ซึ่งดูมันช่างลึกล้ำเลิศยอดสูงเยี่ยมยิ่งๆ ขึ้น แล้วตนเองก็หลงภาคภูมิดีใจกับความไม่รู้เท่าทันในความสลับซับซ้อนชนิดนี้ โดยหลงว่า ตนเอง “ฉลาด” เหนือชั้นเหนือเชิง ทั้งๆ ที่มันเป็นความสลับซับซ้อนแห่งความเลวของคนเลว ที่เลวล้ำลึกทวีคูณไปด้วยโลกธรรมและความฉลาดยิ่งของกิเลส

ถ้ากิเลสมันไม่ “ฉลาด” มันครอบงำมนุษย์เกือบทั้งโลกไม่ได้หรอก

ลาภ – ยศ – สรรเสริญ – สุขโลกีย์ คือ วัตถุปกรณ์ของโลก ที่ปุถุชนคนผู้ยังไม่รู้เท่าทันหรือยังศึกษาพุทธธรรมไม่ “สัมมาทิฏฐิ” อาศัยใช้มันสร้าง “ความฉลาด” สร้าง “เชาว์ไวไหวพริบ” (IQ) ให้แก่ตนเอง เพื่อทวีความโลภ – โกรธ – หลง ให้ตนเองเพิ่มความเป็นปุถุชนที่หนาที่แน่นไปด้วย “โลกียภูมิ” จมหนักยิ่งๆ ขึ้นโดยแท้

มันเป็น “โลกียภูมิ” ที่กินลึกในจิตคน อันเป็นโลก หรือ “วงวน” ของความเจริญแห่งกิเลส, อุปกิเลส ซึ่งคนจะไม่รู้เท่าทันมันได้ง่ายๆ เป็นอันขาด จะติดแน่นเมาหนัก ชนิดที่ผู้ติด “หลง” ชั่วเป็นดี เอาจริงๆ “หลง” เลวยิ่งๆ เป็นเก่งยอดๆ อย่างจมลึกถอดถอนขึ้นยากสุดยาก

ขออภัยเป็นอย่างมากเลย ถ้าอาตมาจะขอวิจารณ์ลึกลงไปถึงพระถึงสงฆ์ ซึ่งไม่มีเจตนาจะถล่มทลาย หรือแกล้งใส่ความหาเรื่องอะไรหรอก เพียงแต่ขอชี้สัจธรรมความเป็นจริง เจาะลึกให้ครบครันมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งอาตมาถือว่า เป็นชาวพุทธด้วยกัน ก็เท่ากับพี่น้องกันแท้ๆ ถ้าพี่น้องกันไม่ติงกันเตือนกันด้วยความหวังดีด้วยใจจริง และเจตนารักษาพุทธของเราไว้ แล้วใครจะจริงใจ จะปรารถนาดีได้เท่า อาตมาเชื่อมั่นว่า ใครอื่นก็ทำได้ไม่จริงใจหรือไม่ปรารถนาดีเท่าเราพี่น้องกันเองทำแน่ๆ อาตมาจริงใจและปรารถนาจริงอย่างนี้ ใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็คงบังคับกันไม่ได้

ดังนั้น อาตมาก็จะขอวิจารณ์ ขอติขอติงขอล้วงลึกลงไปถึงพระถึงสงฆ์กันล่ะ ผู้กระเทือนใจก็ขออภัย หรือแม้นว่าใครจะโกรธก็ต้องยอม แต่…อย่าโกรธเลยนะ ถ้าไม่โกรธ พระพุทธเจ้าทรงชื่นชมจริงๆ ด้วย

ในความเป็นพระเป็นสงฆ์ของศาสนาพุทธไทยนี่ก็เถอะ หากผู้ใดศึกษาเรียนรู้ “ไม่สัมมาทิฏฐิ” ก็จะไม่สามารถเข้าใจได้ง่ายๆ เลย หรือใครจะ “สัมมาทิฏฐิ” แล้วก็ตาม แต่ถ้ายังปฏิบัติไม่ถึงขั้นได้อาริยธรรม กระทั่งจิตบรรลุสู่ภูมิอาริยะจริง จนสูงเพียงพอกันละก็ ผู้นั้นจะไม่มี “โลกุตรภูมิ” ที่เป็นญาณรู้แจ้ง “อาริยสัจ” เป็นแน่แท้ อำนาจของลาภ – ยศ – สรรเสริญ – โลกียสุข ชนิด “หลง” ชั่วเป็นดี “หลง” เลวยิ่งๆ เป็นเก่งยอดๆ อย่างแนบเนียนสนิทลึก สลับซับซ้อนยิ่งขึ้นไปอีก เพราะเป็นพระเป็นสงฆ์นั้นมันได้ทั้งศรัทธาตามค่านิยมของลัทธิอยู่แล้ว และทั้งยังมีวัฒนธรรมจารีตประเพณี ที่ต้องยกเทิดเชิดกันไว้ ให้ซ้ำซ้อนเข้าไปอีก ลาภ สักการะ เสียงเยินยอ จึงยิ่งเป็นยอดอันตราย ที่ยากสุดแสนยากหนักหนาเหลือที่จะ “รู้ตัว” และเหลือที่จะ “รู้เท่าทัน” มันได้ แต่โดยความแท้ความจริงนั้น มันคือ ตัวร้ายที่เป็นภัย อันแสบเผ็ด ทารุณ หยาบคาย ร้ายยิ่งสุดยิ่ง

เพราะถึงแม้นจะเป็นพระเป็นสงฆ์ แต่ถ้าหากยังอยู่ใน “ภูมิโลกีย์” ยังตกอยู่ใน “วงวน” ของลาภ – ยศ – สรรเสริญ – สุขโลกีย์ ละก็ ผู้มี “ไอคิว” สูง หรือผู้ที่ได้ฟักตัวพัฒนา “ความฉลาดเชาว์ไวไหวพริบ” ด้วยองค์ประกอบต่างๆ ของลัทธิศาสนา เท่าที่ได้เล่าเรียน ได้รับรู้สืบทอดมาตามภูมิของตนๆ ซึ่ง “ไม่สัมมาทิฏฐิ” หรือแม้จะ “สัมมาทิฏฐิบ้าง ไม่สัมมาทิฏฐิบ้าง” นั่นแหละ ก็สามารถเฉลียวฉลาดขึ้นได้ อย่างซับซ้อนลึกล้ำตามประสา “โลกียภูมิ”

ในทำนองเดียวกันกับที่ได้พูดผ่านมาแล้ว ผู้ที่แสดงบทบาทสละลาภด้วยความซับซ้อนซ่อนเชิงบางท่าน ทำเป็นไม่โลภในลาภท่ามกลางกลุ่มพรรคพวกของตนที่ต่างก็ทุจริตกัน แทนที่ท่านจะช่วยระงับพรรคพวกให้เลิกทุจริต เลิกความเลว ทั้งๆ ที่บางท่านมีตำแหน่งหน้าที่อยู่ในฐานะทำได้ด้วยซ้ำ แต่ท่านไม่ทำ ท่านกลับใช้ “ความฉลาด” โดยอาศัยความเลวของพรรคพวกนั่นเอง เป็นการซ้อนเชิงให้กลายเป็นว่า ท่าน “เด่นเป็นคนดี” ยิ่งกว่าใครๆ ในกลุ่มในพวก นี่คือ “ความฉลาด” เหนือชั้นเหนือเชิง แม้จะเป็นพระก็ตาม สงฆ์ก็ตามผู้ได้ฝึกโลกียภูมิจนมี “ไอคิว” สูงก็อาจสามารถใช้ “ไอคิว” สูงๆ นั้น ขับตัวเองให้ “เด่นกว่าใครๆ ในพรรคพวกกลุ่มหมู่” โดยเฉพาะพรรคพวกกลุ่มหมู่สงฆ์ที่เห็นอยู่แล้วว่าตกต่ำย่ำแย่ และใช้ความฉลาดเสริมสร้างสีสันตนเองแถมเข้าไปอีก ด้วยการทำตนเป็นคนมักน้อยสันโดษในลาภ (เพื่อแลกสรรเสริญ) หรือแสดงความมีน้ำใจ ผู้นั้นก็จะ “โดดเด่น” ได้สักการะ สรรเสริญ ชื่อเสียงยิ่งๆ ขึ้น นี่คือชั้นเชิงของ “ไอคิว” ซึ่งมีอยู่ในโลกจริง แม้แต่ในวงการสงฆ์

เท่าที่อาตมาสาธยายด้วยภาษาเนื้อหาที่ดูไม่น่าชื่นชมนี้ เพราะเป็นคำกล่าวถึงความเสียหายเลวร้ายต่างๆ นานาของพระของสงฆ์ แต่อาตมาตั้งใจที่จะพูดสัจธรรมบทนี้ ให้เห็น “สัจจะ” ที่มันถูกปกปิดและแอบแฝงมานาน เพื่อที่จะได้เป็นการศึกษา โดยเฉพาะพระรูปใดที่เป็นจริงมีจริง ที่ยอมรับฟัง และไตร่ตรองตรวจตราตนเองให้ถ่องแท้ ไม่เอียงเข้าข้างตนเอง ท่านก็จะได้ประโยชน์ ดังนั้น แม้ใครจะมองอาตมาไปในแง่ร้ายอย่างใด จะรู้สึกไม่ดีต่ออาตมา อาตมาก็ยอม อาตมายอมรับในการวิจารณ์แง่ร้ายต่างๆ ในที่นี้ และขออภัยต่อทุกท่านที่เกิดความรู้สึกดังกล่าว แต่ด้วยใจจริงที่ต้องการเปิดเผยเรื่องนี้จริงๆ เพราะมันทำร้ายทั้ง “ตัวผู้ที่เป็นอย่างนี้อยู่” และมันทำร้ายทั้ง “คนอื่น” ทั้ง “สังคมส่วนรวม” อีกด้วย จึงจำเป็นจริงๆ

เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องลึกซึ้ง ที่ยากจะเข้าใจหรือหยั่งลงไปถึงรากเหง้าของความจริงในอนุสัย (กิเลสที่อยู่ส่วนลึกแม้เจ้าตัวก็ไม่อาจรู้ของตนได้ง่าย) ดูเผินๆ ใครๆ ก็เห็นว่า “ดี” น่าเคารพนับถือ เพราะดูท่านมักน้อยสันโดษดี ดูท่านมักน้อยในลาภ บางท่านแสดงถึงขั้นมักน้อยในยศ ดังนี้ ล้วนมีจริง

เรื่องอดกลั้นกดข่ม ทำทีเป็นไม่โลภในลาภในยศ เพื่อแลกสักการะ เสียงสรรเสริญเยินยอนี้นั้น ในบรรดานักปฏิบัติธรรมทั้งที่เป็นนักการศาสนาในกรุงก็ดีหรือฤาษีชีไพรก็ตาม ไม่ว่าศาสนาไหนเขาต่างก็ทำได้กันทั้งนั้นแหละ เพียงแต่บางคนในอนุสัยลึกๆ ของเขามันปิดบังตัวเขาเองให้เขาไม่รู้ตนเองว่า เขายัง “หลง” ในสักการะ เสียงสรรเสริญเยินยออยู่เท่านั้น เพราะผู้ไม่มี “ภูมิโลกุตระ” จึงไม่สามารถหยั่งเข้าไปรู้เท่าทันเจ้าตัว “อนุสัย” ของตนอย่างกระจ่างแจ้งได้ ดังนั้น บางคนจะเสียงแข็งทีเดียวว่าตนไม่ได้ “หลง” สักการะ เสียงสรรเสริญเยินยอแต่อย่างใด แต่ตัวเองก็ไม่มี “ภูมิโลกุตระ” ที่จะสามารถรู้แจ้งกระจ่างใน “อนุสัย” ของตนเอง เหมือนท่านผู้บรรลุธรรมที่สิ้นอนุสัยแล้วแน่ๆ บางคนก็ไม่อยากจะรับว่าตัวเอง “หลง” แต่ก็ไม่แน่ใจในตนเอง บางคนก็รู้แสนรู้ว่าตนยังมี “จิตซับรส” ในการมีสักการะ เสียงสรรเสริญเยินยออยู่บ้าง บางคนนั้นรู้ทั้งรู้ว่าตนยังติดยึดอยู่แท้ๆ แต่กล้ามดเท็จ ปฏิเสธต่อคนอื่นว่า ตนเอง “ไม่หลง” ให้ชั่วหนักเข้าไปอีกก็มี

ความหนาหนักของ “อนุสัย” มันมีฤทธิ์เลวร้ายทำให้คน “หลง” (โมหะ) และ “อวิชชา” ได้หลากชั้นหลายเชิงจนสุดจะสาธยาย

ผู้ที่อดกลั้นกดข่มทำทีเป็นไม่โลภในลาภในยศ เพื่อแลกสักการะ เสียงสรรเสริญเยินยอ ดังกล่าวมาแล้ว ซึ่งล้วนใช้ความสามารถของ “โลกียภูมิ” อันไม่ใช่ “โลกุตรภูมิ” ทั้งนั้น พระสงฆ์ของพุทธผู้ที่ไม่สัมมาทิฏฐิ และมีแค่ “ภูมิโลกีย์” ทั้งหลาย ก็ย่อมทำได้และต่างก็ทำกันอยู่แล้ว โดยใช้วิธีอาศัย “ความฉลาด” นี่เองปรามตนเองด้วยตรรกะต่างๆ ไปวันแล้ววันเล่า จนสามารถ อดได้ทนได้ ยิ่งได้รับผลตอบแทนเป็น “สักการะ เสียงสรรเสริญ” คนก็ “หลง” เป็นสุข (โลกีย์) โดยไม่รู้ตัวหรอกว่า ยังวนเวียนอยู่ใน “ทุกขอาริยสัจ” บ้างภาคภูมิตนเองไปจนตายก็มี เป็นอยู่อย่างนี้ก็เยอะ หรืออีกอย่างก็ใช้วิธีนั่งสมาธิ สะกดจิตสั่งใจตนเองไปวันแล้ววันเล่า ก็สามารถทำได้อีกวิธีหนึ่งและก็ทำกันอยู่โดยมาก..วิธีนี้ยิ่ง “หลง” ได้สนิทกว่า เพราะมันลวงซับซ้อนกว่า

“การปราบตนเองด้วยตรรกะต่างๆ ” คือ วิธีที่คนแทบทุกคนใช้อยู่มากที่สุด ส่วนคนที่ “นั่งสมาธิสั่งใจตนเอง” มักจะมีสำนึกมากกว่าคนทั่วๆ ไปและแถมสั่งสำนึกลงไปในสมาธิด้วย จึง “อด” และ “ทน” ได้ลึกมากกว่า

   [เลือกหนังสือ]
page: 1/20
   Asoke Network Thailand