[เลือกหนังสือ]      ปก | คำนำ | สารบัญ | ภาคผนวก | คัชนี
page: 7/20

สารบัญ
บทที่ 1
ฉลาดชัดตัดกิเลส

[1]
[2]

บทที่ 2
อวิชชาของคนฉลาด
[3]
[4]

บทที่ 3
พัฒนาอารมณ์
[5]
[6]

[7]

[8]

บทที่ 4
ความแตกต่าง
ระหว่าง
พุทธกับฤาษี
[9]
[10]

[11]
[12]

บทที่ 5
คุณวิเศษของพุทธ
[13]
[14]

[15]

บทที่ 6
อีคิวโลกุตระ
[16]
[17]

[18]

บทที่ 7
หลักปฏิบัติสำคัญ ของศาสนาพุทธ

[19]
[20]

 

อีคิวโลกุตระ... สมณะโพธิรักษ์ / บทที่ 3


สุข ใน ฌาน ๓

เพราะฉะนั้น เมื่อผู้ใดสามารถทำ “ปหานปริญญา” ปล่อยวาง “ปีติ” ใน “รูปภพ” นี้ลงได้อีก จนถึงขั้น “มีความตั้งมั่นแน่วแน่เกิดขึ้น” (เอโกทิภาวะ) ก็เป็นอันนับได้ว่า เป็น “ฌาน ๓“

ผู้จะบรรลุ “ฌาน ที่ ๓“ ก็ต้องลดอุปกิเลสที่เกิดซ้อนขึ้นมาคือ “ปีติ” อันได้แก่ “ความดีใจ, ความยินดี” ที่ตนได้ “ฌาน” นั่นแหละ สภาพนี้คือ อุปกิเลสเกิดซ้อนขึ้นมาในความเป็น “ฌาน” อีกที ก็คล้ายๆกับคนที่ได้ของที่ตนปรารถนา ก็ย่อมเกิด “ความดีใจ” เป็นธรรมดา หากสามารถทำให้ “ปีติ” ซึ่งมีความสงบชนิดปราศจากอุปกิเลสอีกขั้น จึงเป็น “สุขสงบวิเศษ” ยิ่งๆขึ้น

ผู้ได้ฌาน ๓ นี้ จะมีความสงบถึงขีดที่เรียกได้ว่า มีอาการลักษณะ “อุเบกขา” เริ่มปรากฏขึ้นให้เห็น หมายความว่า จิตเริ่มวางเฉย หรือลักษณะจิตว่างๆ เป็นกลางๆ อันเป็นลักษณะอาการของ “อุเบกขา” นี้จะมีให้ “อารมณ์” หรือ “เวทนา” (emotion) ของผู้บรรลุได้รู้ว่า “ดีเลิศพิเศษ” (เอกัคคตา) ซึ่งมีสภาพเบาว่าง เลิศดีกว่ารส “สุข” อย่างไร ผู้มีจริงเป็นจริงเท่านั้นที่จะ “รู้อารมณ์” เช่นนี้ ได้แท้ เมื่อได้วาง “ปีติ” ลงถูกสภาพแท้ ซึ่งต้องเฉพาะ “รสอัสสาทะ” ของมันเฉพาะส่วนของมันเองจริงๆ เท่านั้น อันไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลย ที่จะมีความรู้คมชัดเฉพาะ “อัสสาทะ” และ “ภวตัณหา” นี้

อนึ่ง ความเป็น “อุเบกขา” ก็ยังมีทั้งชนิด “โลกียะ” (เคหสิตอุเบกขา) และทั้งชนิด “โลกุตระ” (เนกขัมมสิตอุเบกขา) ด้วย ซึ่งคนทั่วไปก็ยังแยกไม่ออก ก็ขอไว้โอกาสข้างหน้าค่อยอธิบายก็แล้วกัน ประเด็นนี้

เพราะจริงๆ นั้น ในจิตของคนจะต้องมี “ความยินดี, ความอิ่มใจ” (ปีติ) อย่างเต็มที่เป็นคุณสมบัติที่ ตั้งลงไปในใจมั่นคง (สมาธิยติ) ด้วย ดังที่ได้อธิบายละเอียดมาแล้ว และต้องรู้ “อาการ” ที่มันเป็น “อุปกิเลส” เฉพาะอีกต่างหาก และต้องรู้จักสภาพอุปกิเลสนี้เฉพาะตัวมันชัดๆ คมๆ แม่นๆ แล้วจึงจะทำลายเฉพาะเจ้าตัวนี้อย่างสะอาดหมดจด ไม่ไประรานส่วนดีอื่นๆของจิต

พระพุทธพจน์ตรัสไว้ว่า “เพราะปีติจางคลายไป เธอมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วย นามกาย บรรลุฌาน ๓ ที่พระอาริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข เธอทำทั่วสรรพางค์แห่งกาย (หมายถึง “นามกาย” มิใช่ร่างกายของมหาภูตรูป) นี้ให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มด้วย “สุขอันไม่มีปีติ” รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนของทั่วสรรพางค์ที่ “สุขไม่มีปีติ” จะไม่ซับสัมผัส” (พระไตรปิฎก เล่ม ๙ ข้อ ๑๒๙)

ชัดเจนใช่ไหมว่า ต้อง “ซับสัมผัส” (ผุฏะ) เอา “สุขที่ไม่มีปีติ” ใส่ใจให้ทั่วทุกส่วนของสรรพางค์ จนเป็นภาวะปกติในตน หรือจนเป็น “เครื่องอยู่เครื่องอาศัยทรงไว้ในตน” (วิหารธรรม) และคงจะไม่ต้องอธิบายว่า “สุข” ที่เป็นความสงบชนิดปราศจาก “ปีติ” นี้ เบาว่างวิเศษกว่า “สุข” ที่ยังมี “ปีติ” จึงสามารถทำให้คนติดยึดได้ยิ่งกว่า หรือทำให้คนหลง “ติดสุข” แม้ขั้นนี้เป็น “อารมณ์” (emotion = เวทนา) ที่ไม่ว่างจาก “ภพ,,,ชาติ” ได้อยู่อีก

ในทางพุทธศาสนา “รสสุข” (อัสสาทะ) ปานนี้ หากผู้ใดไม่ได้เรียนรู้ด้วยความแยบคายถ่องแท้ใน “อาการเสพ (ชาติ) และ อาการติด (ภพ)” ให้ลึกซึ้ง (คัมภีรา) เพราะเห็นได้ยาก (ทุททสา) รู้ตามได้ยาก (ทุรนุโพธา) สงบพิเศษ (สันตา) ละเอียดลุ่มลึก (ปณีตา) ไม่สามารถรู้ได้ด้วยตรรกศาสตร์ (อตักกาวจรา) ต้องมีฝีมือเข้าขั้นภูมินิพพาน (นิปุณา) รู้ยิ่งเห็นจริงได้เฉพาะบัณฑิตจริงที่ทั้งรู้ทั้งถึงความจริงนั้นเท่านั้น (ปัณฑิตเวทนียา) และมันมีความซับซ้อนแฝงเป็น “ภพ” เป็น “ชาติ” แฝดอยู่กับ “วิหารธรรม”

ผู้นั้นก็จะยังหลงเสพหลงติดทั้ง “ภพ” ทั้ง “ชาติ” นั้นแน่ ทำให้ไม่สามารถหลุดพ้นจากภพชาติไปได้

จึงจะต้องศึกษาและปฏิบัติล้างละ “ภพ…ชาติ” ที่ยังเหลือ ไม่ว่าจะเป็นภาวะของ “ความดูดดึงแม้แต่ยังลิ้มเล็มรส” (เล็มภวตัณหา) หรือ “ความยึดติดแม้แต่อาลัยอาวรณ์” (อภินิเวส) อันเป็น “อาการ” ตั้งแต่หยาบกระทั่งถึงละเอียดสุด ธุลีละอองในอารมณ์ อันก็คือ “อาการในจิต” ที่ยังมีลักษณะจริงพวกนี้อีก ให้สิ้น “ภพ” จบ “ชาติ” ต่อไป

ซึ่ง…จะต้อง “ทำใจในใจ” (มนสิการ) ด้วย “ความรอบรู้แยบคายยิ่ง” (โยนิโส) กระทั่งสามารถวิจัยลงไปหยั่งรู้ภาวะอันสุดละเอียดเหล่านี้ ได้จริงแล้วก็ยังจะต้องสามารถละวางจน “ล่วงพ้น” (สมติกกมะ) สำเร็จอีก

แค่นี้ก็คงพอจะเห็นว่า พุทธเรียนรู้เรื่อง “อารมณ์” (emotion = เวทนา) กันลึกซึ้งละเอียดลออถึงขนาดนี้จริงๆ ฉะนั้น “อีคิว” แบบพุทธที่เป็นสัมมาทิฏฐิ จึงกว้างลึกและมีรายละเอียดชัดเจนอย่างสมบูรณ์ แถมเต็มไปด้วยเป้าหมาย มีขั้นมีตอนถึงที่สุดแห่งจิตวิทยาอีกด้วย ที่อธิบายมานี้ยังไม่สมบูรณ์อะไรเลย

ในพุทธ ศึกษา “รสสุข” แม้จะละเอียดประณีตปานฉะนี้ ก็ยังถือว่ายังเป็น “ธรรมรส” ที่ยังไม่หมดสิ้น “ความวนอยู่ในภพ” (มีวัฏฏสงสาร) เรียกชื่อ “รสอร่อย” ชนิดนี้ว่า “อัสสาทะ” (รสอร่อยที่ยังไม่พ้นวัฏฏะ) ผู้ยังไม่รู้ลึกซึ้งถึงอาการที่เป็น “อารมณ์” (emotion) อันละเอียดปานนี้ ว่า ยังเป็น “ภพ” เป็น “ชาติ” ก็เพราะไม่ได้ศึกษาเรื่อง “ภูมิธรรมทางอารมณ์ (EQ) หรือความฉลาดทางอารมณ์ (EQ)” ตามคำสอนของพุทธศาสนาอย่าง “สัมมาทิฏฐิ” จริงๆนั่นเอง จึงไม่สามารถจะรู้ว่า สภาพนี้ก็ยังไม่สิ้น “ภพ” จบ “ชาติ”

แม้แต่นักศึกษานักปฏิบัติธรรมทางพุทธศาสนาเองก็ตาม ที่ศึกษาพุทธ ยังไม่ “สัมมาทิฏฐิ” ก็ยังไม่รู้จัก “ภพ” ไม่รู้จัก “ชาติ” เหล่านี้ ยังติด “ภพ” ติด “ชาติ” พวกนี้ ก็มีอีกมาก ซึ่งแม้แต่จะรู้ก็ยาก จะละวางอีก ก็ยากยิ่ง

นี่คือ “ฌาน” แบบพุทธแท้ๆ ซึ่งปฏิบัติชนิดมี “ปัญญา” ตามรู้ตามเห็นสิ่งที่เป็นสิ่งที่จริงมาตลอด ไม่ได้งมงาย ไม่ได้เดาอารมณ์ ไม่ได้ฝากฟ้าฝากพระเจ้า ไม่มีคลุมเครือแม้ในนามธรรมขั้นอรูปทุกสภาวะ ยังรู้ยากปานฉะนี้

ถ้าเป็น “ฌาน” ที่ไม่ใช่แบบพุทธ ซึ่งไม่ได้ปฏิบัติ “ฌาน” ชนิดลืมตา อ่าน “อารมณ์” มาตลอดสาย ด้วย “วิชชา ๙“ แบบพุทธ ก็ยิ่งจะรู้ยากว่าแน่ๆ

ยิ่งบรรดาผู้ที่ หลงผิด ใน “รูปฌาน” ชนิดที่นั่งปิดทวาร ๕ อยู่ในภวังค์แบบฤาษีชีไพร หรือแบบนั่งสะกดจิตจนเป็น “ฌาน” ที่รู้ๆกันอยู่ทั่วไปนั่นเอง โดยเชื่อมั่นว่า นี้แหละคือ “ฌาน” แบบเดียวกันกับของพุทธอย่างปักใจ นั่นยิ่งยากสุดยาก ชนิดแทบหมดทางช่วยสิ้นทางแก้ทีเดียว เพราะนั่นยิ่งทั้งปิดทวารรับรู้ และทั้งหลงผิดไปจากสัมมาทิฏฐิของพุทธ จึงทั้งมืดทั้งออกนอกทางนิพพาน ผู้หลงผิดอยู่เช่นนี้มีมากมายในบรรดาชาวพุทธ

“ภูมิธรรมทางอารมณ์ หรือความฉลาดทางอารมณ์” (Emotional Quotient) ที่ยังไม่สามารถเรียนรู้ “อารมณ์” (emotion) ชนิดรู้แจ้งเห็นจริงด้วย “วิชชา ๙“ อย่างละเอียดประณีตสัมบูรณ์ไปจนครบถ้วนทั้งจิตทั้งเจตสิกนั้น เห็นจะยากมากที่จะสามารถรู้แจ้งแทงทะลุอย่างชัดคมแม่นตรงในเรื่อง ของ “ภพ, ชาติ” ตามที่เป็นที่มีอยู่จริงในจิตนอกจิต หรือในต้นเหตุที่ลึกซึ้ง

ในพุทธศาสนา ความละเอียดประณีตของความเป็น “ภพ” เป็น “ชาติ” นั้นยังมีละเอียดประณีตยิ่งไปกว่านี้อีก “ฌาน” ที่อาตมากำลังพยายามอธิบายสู่ฟังอยู่ขณะนี้ นี่เป็นเพียงขั้น “รูปภพ” เท่านั้น ยังมีละเอียดประณีตยิ่งไปกว่านี้ คือ ขั้น “อรูปภพ” ก็ยังมีลึกซึ้ง คัมภีระ, ทุททสะ, ทุรนุโพธะ นักกว่านัก

ผู้ศึกษา “ความฉลาดทางอารมณ์แบบโลกุตระ” หรือ “EQ โลกุตระ” ยังจะต้องเรียนรู้ “อารมณ์” (emotion) เหล่านี้ และจะต้องมี “ธัมมวิจัย” เจาะลึกเข้าไปใน “อารมณ์” แม้จะปฏิบัติได้ถึงขั้น “ฌาน ๓“ ขนาดนี้แล้วก็เถอะ ก็ยังจะต้องเรียนรู้ฝึกฝนให้รู้แจ้ง “เวทนาในเวทนา” หรือให้รู้แจ้งว่า “มีอะไรอีกที่ละเอียดประณีตลึกซึ้งยิ่งขึ้นอยู่ในอารมณ์นั้นๆ” ซึ่งมี “ภาวะ” อย่างไร ที่เรียกว่า ยังเป็น “ชาติ” เป็น “อัตตา” เข้าไปอาศัย “รูปภพ” นี้อยู่ จึงยังนับว่า มี “ภพ” มี “ชาติ” และยังมี “อัสสาทะ” เป็น “รสเสพ” ที่ “อัตตายังหลงติด” ไม่จบ

เป็นต้นว่า รสอร่อย (อัสสาทะ) ขั้น “กามภพ” คนที่กิน “กับข้าวเช่นพริก” เป็น “อาหาร” ผู้มี “ความอร่อย” หรือ “ความเป็นรสพิเศษที่ผสมไปกับ” รูป, รส, กลิ่น, เสียง, สัมผัส ของพริกนั้น นั่นคือ ผู้ยังมี “รสอร่อย, รสเสพ” ซึ่งเป็น “รสแห่งอารมณ์” (อัสสาทะ) อันเป็นภาวะต่างหากจาก “รสเผ็ดของพริก…รูป สีของพริก…กลิ่นของพริก…ฯลฯ” (สัจจภาวะ) ผู้ปฏิบัติต้องแยกรส อัสสาทะ อันเป็น “รสอร่อย” หรือ “รสแห่งอารมณ์ที่สมใจอยาก” นี้ให้ออก แล้ว “ละวาง” เฉพาะรสที่จะต้อง “วาง” คือ เฉพาะ อัสสาทะ อันเป็น “รสอร่อย” หรือ “รสแห่งอารมณ์ที่สมใจอยาก” ให้ถูกสภาพ ไม่ใช่ไปวางไปดับรสเผ็ดของพริกให้เราไม่เผ็ดไปตามความเผ็ดของพริก หรือดับรูปของพริกไม่ให้เราเห็นรูปโฉมของพริก หรือดับกลิ่นวางกลิ่นของพริกไม่ให้เราได้กลิ่นเลย เป็นต้น จะไม่ใช่แบบนั้นเด็ดขาด เมื่อสัมผัสพริก มันก็ย่อมมีรูป, รส, กลิ่น, เสียง, สัมผัสตามธรรมชาติธรรมดาของพริก ผู้มีประสาทสัมผัสรู้ครบถ้วนทุกทวาร ก็ต้องรู้ความจริงตามความเป็นจริงของธรรมชาตินั้นอยู่อย่างนั้นไม่บกพร่อง

การปฏิบัติธรรมของพุทธไม่ใช่ไปเปลี่ยนแปลงธรรมชาติ หรือไปล้มล้างธรรมชาติใดๆ โดยเฉพาะไม่ใช่ไปดับความรับรู้ หรือดับประสาทสามัญของตนให้พิกลพิการไปด้วย ก็ยังรับรู้รูป, รส, กลิ่น, เสียงที่สัมผัสตามธรรมชาติธรรมดาของมัน แต่ดับหรือวาง “เฉพาะรสอัสสาทะที่เราชอบเราชังอันเกิดอันมี” ต่างหากที่ซ้อนอยู่กับ “รสแท้ๆ” ของพริกอีกทีหนึ่งเท่านั้น ต้องปล่อยต้องวางอารมณ์ที่แทรกซ้อนอยู่ส่วนนี้จนหมดสิ้นอาการในจิตให้ได้ หากผู้ใดยังละเอียดลอออย่างแยบคายถ่องแท้ไม่พอ และทำให้หมดไปจากใจไม่หมดจดสะอาดจริง หรือยัง “มีลิ้มเล็มอร่อย” แม้น้อยนิดธุลีละอองแค่ใดๆ ก็ยังมี “กามภพ, กามชาติ” เหลืออยู่แค่นั้นๆ

“รูปภพ” ก็นัยเดียวกันกับคนผู้ที่ ยังมี “รสเสพ” (อัสสาทะ) อยู่ เมื่อต้องเข้าไปอยู่ใน “รูปภพแต่ละระดับ” เป็น “วิหาร” ซึ่งเรายังต้องใช้เป็น “เครื่องอาศัย” (วิหาร แปลว่า เครื่องอาศัย) แต่ถ้ายังมี “รสอร่อย” ก็ยัง “มีเสพ” แม้เหลือ “เศษเชื้อแค่นิดแค่หน่อยแค่แอบอร่อยอยู่” ก็คือยังไม่หมด “ภพ, ชาติ”

ผู้หมด “อัสสาทะ” ก็คือ “รสอร่อย” มันหายไป หรือ “รสอร่อยไม่มี” แล้วในอารมณ์ (ในอีคิว) แม้แต่ “เศษอร่อยนิดอร่อยน้อย, ไม่มีรสเสพ” นั้นๆแล้วในจิต แต่ “ความเป็นรสตามธรรมชาติสิ่งนั้นๆ” เช่น “รสพริก” ก็เผ็ดนั่นย่อมมีอยู่แล้วแน่ และในอารมณ์ของผู้ “สิ้นภพจบชาติ” ของ “รสอร่อย” นั้นๆแล้ว ก็ยังคงมี “รสสงบ” ซึ่งเป็น “วูปสมสุข” ก็มีอยู่ตามที่มันเป็นมันมี

“อัสสาทะ” หมด ก็เทียบให้ฟังแล้วว่า สังเกตอาการของ “รส” จากที่เคยมีอาการของ “รสอร่อย” เมื่อเรา “กินกับข้าวเช่นพริก” แล้วเราก็ยังมี “รสอร่อย” นั่นคือ “ยังไม่สิ้นอัสสาทะ” ผู้ที่สิ้น “อัสสาทะ” หรือหมด “รสอร่อย” แล้ว แม้จะ “กินกับข้าวเช่นพริก” ก็เพียง “รู้” ว่ารสพริกคือเผ็ด แต่ “รสอร่อย” ที่เราเคยมีนั้น มัน “ไม่มี” มัน “ไร้รสอร่อย” นั้นแล้ว หายไปจริงๆ ส่วน “รสของกับข้าว” นั้น เป็นอย่างไร ก็รู้ตามนั้นอยู่ครบตามที่เขาปรุง

เช่นเดียวกัน “อารมณ์” ที่เรียกว่า “ธรรมชาติความอิ่มเอมใจ” คือ อาการ “ปีติ” เป็นอย่างไร เป็นต้น ธรรมชาติเช่นนั้นเราก็ได้ “รู้” ดีมาแล้ว เมื่อถึงคราวต้องสัมผัสสภาพธรรมชาตินี้ คือ คราที่มี “ฌาน ๑ และฌาน ๒“ ซึ่งเราก็ได้ “ซับสัมผัส” (ผุฏะ) จนตั้งมั่นเป็น “สมาธิ” เป็น “วิหารธรรม” มาแล้วด้วย ตั้งแต่ปฏิบัติผ่านมาจากฌาน ๑ ฌาน ๒ ดังนั้น อาการที่เรียกว่า “ปีติ” หรือ “ธรรมชาติความอิ่มเอมใจ” เกิดในจิตเมื่อใดเราก็ “รู้” สภาพนี้เกิดเป็นธรรมชาติแบบที่มันเป็นมันมี ก็สักแต่ว่า “รู้” ตามปกติที่มันมีได้เป็นได้อยู่ตามสภาพ แต่ “รสของความอร่อยที่มีอาการระเริงสิ้มเสพดั่งคนเสพรสอร่อยนั้นๆ ไม่มีแล้ว” มีแต่ธรรมชาติ “ปีติ” เกิดก็ “รู้” ว่าอาการเช่นนั้นซึ่งเป็นธรรมชาติหนึ่งใน “รูปฌาน” เกิด ก็เท่านั้น

“รสธรรมารมณ์” ระดับ “ธรรมรส” ถึงขั้นนี้ ก็คงจะเดาเอาได้ยาก นอกจากผู้ปฏิบัติที่ “มีความเกิดของรสอัสสาทะ” นั้นเอง และที่สุด “ไม่มีรสอัสสาทะ” นั้นแล้วด้วยตัวเอง นั่นคือ “ปัจจัตตัง” คือ รู้ได้ด้วยตนจริง

ยิ่ง “สภาพธรรม” ที่ละเอียดประณีตยิ่งกว่านี้ ก็ยิ่งจะรู้ตามได้ยากยิ่งขึ้น ซึ่งจะคะเนเอา เดาเอา ไม่ได้เลย แม้จะเปรียบจะประเมินเอา ก็แค่ตรรกะ

เพราะฉะนั้น ยิ่งเป็น “ธรรมรส” ที่เรียกว่า “สุข” ขั้น “ฌาน ๓“ ซึ่งเป็น “อารมณ์ขั้นวูปสมสุข” ก็ยิ่งจะเดาเอาไม่ได้เลยเป็นอันขาด แม้แต่ “การเสพรสสุข” ของผู้ใด “สุขในฌาน ๓ โลกีย์” แบบทั่วๆไป ก็เป็น “รส” อย่างหนึ่ง ส่วน “สุขในฌาน ๓ โลกุตระ” แบบพุทธ ก็เป็น “รส” อีกอย่างหนึ่ง

อุเบกขา ใน ฌาน ๔

ทีนี้มาอธิบายต่อเรื่อง “ฌาน ๔“ เมื่อกี้เราพูดมาถึง “ฌาน ๓“ แล้วว่า หากผู้ใดยังหลงภาวะ “สุข” ที่ปราศจาก “ปีติ” “สุข” ชนิดที่ “ปีติ” สิ้นไป ผู้นั้นก็ยังมี “ภพ” มี “ชาติ” ซึ่งเป็น “รสสุข” ใน “รูปภพ” หรือ “รูปฌาน ที่ ๓“

ความเจริญขึ้นไปสู่ความเป็น “ฌาน ๔“ นั้น จะต้องละล้าง “รสอร่อย” ใน “สุข” ที่เป็นความสงบ ชนิดปราศจาก “ปีติ” ของ “ฌาน ๓“ นี้ให้ได้ หรือทำจิตไม่ติด “รสสุข” ของ “ฌาน ๓“ นี้ สำเร็จเสียก่อน จึงจะมีภูมิเลื่อนขึ้นสูงไปเป็นภูมิ “ฌาน ๔“ อันจะมีแต่ “อุเบกขา” เป็นอยู่ อย่างเดียว

ดังนั้น “ฌาน ๔“ ก็คือ ผู้สามารถ “ละสุข” ซึ่งจริงๆละ “อัสสาทะ” ใน “สุข” ดังที่ว่ามานั้นเอง ได้จริง พระพุทธเจ้าตรัสว่า “เพราะละสุขละทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อน จึงบรรลุฌาน ๔ เป็นผู้ “ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข” (อทุกขมสุข) มีอุเบกขา เป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่”

หากไม่รู้แจ้งใน “ฌาน” แบบพุทธ ที่ล้างละกิเลสเพื่อ “หลุดพ้นภพชาติ” อย่างเป็นสัมมาทิฏฐิ ก็จะเข้าใจคำตรัสของพระพุทธเจ้าได้ยาก แม้แต่ความว่า “เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อน”

ซึ่งเป็นประโยคที่ยืนยันให้เห็นชัดเจนว่า นี่เป็นเรื่องของ “ฌาน” แบบพุทธแท้ๆ เพราะคำว่า “ก่อน” จะมาถึง “ฌาน ๓“ นี้ เป็นการชี้ชัดว่า ตั้งแต่ “ฌาน ๑“ มาเลย การปฏิบัติธรรมได้ละล้างกิเลสเพื่อ “ดับทุกข์และสุข” ที่เป็น “ทุกข์, สุข” ของ “ภพโลกียะ” หรือ “กามภพ” มาตั้งแต่ต้น ก่อนจะเป็น “ฌาน ๑“ ซึ่งมันมี “ทุกข์สุข – โทมนัสโสมนัส” ที่เป็นของ “ภพโลกียะ” แท้ๆหรือ “กามภพ” ภายนอก อันยังไม่ใช่ “รูปภพ” ด้วยซ้ำ มาก่อนแล้ว

แล้วจึงจะมาละล้าง “ทุกข์สุข – โทมนัสโสมนัส” กันใน “รูปภพ” ตั้งแต่ “ฌาน ๑“ เรื่อยมาถึง “ฌาน ๓“ นี้ ซึ่งล้วนละล้าง “ทุกข์สุข – โสมนัสโทมนัส” ที่เป็นของ “รูปภพ” ต่างๆ ตั้งแต่ “โสมนัสโทมนัส” ในรูปภพ อันมีวิตกวิจารในฌาน ๑ มีปีติในฌาน ๒ มาก่อน จึงจะมี “สุข” อันเป็น “อุปกิเลส” ใน “ฌาน ๓“ ซึ่ง “สุข” ใน “ฌาน ๓“ นี้มันเกิดซ้อนขึ้นมายิ่งๆขึ้น เพราะมันเป็น “อารมณ์” ที่ประณีตเพิ่มขึ้นมาตามลำดับๆใน “รูปฌาน”

“สุข” ใน “ฌาน” แบบพุทธนี้ จึงไม่ใช่ “สุข” โลกียะสามัญอันเป็นสุขของ “กามภพ” หรือ “สุข” ที่บำเรอ “กามตัณหา” นั้นแน่นอน

เพราะที่ต้องละล้างกันมา “ก่อน” ใน “กามภพ” นั้น ก็ต้องละล้างทั้ง “อารมณ์” (เวทนา) ที่มันเป็นทั้งทุกขเวทนา ทั้งสุขเวทนา ทั้งอทุกขมสุขเวทนา ซึ่งเป็นอารมณ์หยาบเกี่ยวกับภายนอก เป็น “โลกียะ” แท้ๆ

และทั้ง “เคหสิตโทมนัสเวทนา” ทั้ง “เคหสิตโสมนัสเวทนา” อีกทั้ง “เคหสิตอุเบกขาเวทนา” อันเป็นภูมิรู้ในธรรมารมณ์ขั้น “อาริยะ” ที่ต้องรู้ละเอียดขึ้นว่า อย่างไรเป็น “โลกียะ” อย่างไรเป็น “โลกุตระ” ก็ต้องละลดกิเลสที่เป็น “โลกียะ” ให้ได้มา “ก่อน” ทั้งนั้น

ต้องเข้าสู่ “ภูมิโลกุตระ” คือ ต้องบรรลุ “เนกขัมมสิตเวทนา” อันมีถึง “๑๘ เวทนา” ทีเดียว จึงจะเข้าไปสู่ภูมิของ “ฌาน” เจริญกันไปตามลำดับ

นี่แหละคือ ความหมายของ “เพราะละสุขละทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อน” จึงบรรลุ “ฌาน ๔“

ผู้มี “ฌาน ที่ ๔“ พระพุทธองค์ตรัสว่า “เพราะละสุขละทุกข์ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนได้ ผู้นั้นบรรลุฌาน ๔ ที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่”

“ผู้มีอุเบกขา เป็นเหตุให้มีสติบริสุทธิ์อยู่” หรือบางสำนวนท่านผู้รู้ก็แปลไว้ว่า “มีสติบริสุทธิ์ เพราะอุเบกขาอยู่” หมายความว่า เพราะ “มีอุเบกขา” จึงทำให้ “สติบริสุทธิ์อยู่” ศักยภาพของ “อุเบกขา” แบบพุทธนั้น มีมากถึงขนาดทำให้ “สติบริสุทธิ์อยู่”

ซึ่งเห็นได้ว่า “ผู้มีอุเบกขา” ที่มี “วิชชา” จริงแท้นี้ ต้องเป็นคนที่เต็มไปด้วย “สติ” และ “บริสุทธิ์อยู่” อีกต่างหาก คือ เป็นผู้รู้อย่างมีสติดีผ่องใสสะอาดเสียอีก จึงชื่อว่า เป็นผู้ตื่นตัว รู้ตัวกระปรี้กระเปร่าอยู่ หรือมีลักษณะของความคล่องแคล่วกระตือรือร้นด้วย “ความบริสุทธิ์” เพราะไม่มี “พลังงานตัวร้าย” แทรกแซงแฝงปนทำงานร่วมอยู่ใน “อารมณ์” หรือร่วมจิตใจของคนผู้มี “ฌาน ๔“ นี้

อารมณ์ “อุเบกขา” มีอาการลักษณะก็แจ้งชัดแล้วว่า เป็นอารมณ์ที่ “ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข” ซึ่งเป็นอารมณ์กลางๆ ว่างๆ เฉย แต่ไม่ใช่ “คนเด๋อๆ” หรือ “คนอยู่เฉยๆว่างๆ” หรือ “คนอยู่นิ่งๆเปล่าดาย” แม้แต่เป็น “คนเอาแต่วาง…ไม่ใส่ใจอะไร, ไม่เกี่ยวข้อง” ซึ่งเข้าข่ายลักษณะ “ไม่นำพา…ไม่เอาภาระ…ไม่สนใจ” ถ้าอย่างนี้ท่านเรียกว่า คนมี “อัญญาณอุเบกขา” อันหมายถึง คนที่มีอุเบกขาชนิดที่ “ไม่มีญาณ” หรือไม่ใช่ อุเบกขาที่ได้จากการเกิดขึ้นด้วยความรู้ความสามารถของ “วิชชา” อุเบกขาชนิด “อัญญาณอุเบกขา” นี้ มีได้เป็นได้ในคนปุถุชนธรรมดาทั่วไป ไม่ต้องเรียนต้องฝึกก็มีกัน ซึ่งเป็น “เคหสิตอุเบกขา” สามัญ

“อุเบกขา” ที่ได้จากการปฏิบัติแบบพุทธนั้น หมายถึง ความว่างจากการเสวยรสชาติ (อัสสาทะ) ของ “อารมณ์สุข” แม้ถึงขนาด “วูปสมสุข” ของ “ฌาน ๓“ ปานฉะนี้แหละได้แล้ว อารมณ์ขณะนั้นจึง “เป็นอารมณ์ว่างจากรสอร่อยใดๆ” ซึ่งเป็นภูมิที่ได้ผ่านการล้างละกิเลสมากระทั่ง “ทุกขอาริยสัจและโทมนัสโสมนัส” ตามขั้นตอนของผู้ปฏิบัติมาด้วย “วิชชา” แบบพุทธ ดังที่อาตมาอธิบายมานั้น ก็ได้ล้างละมาหมดสิ้นก่อนแล้ว ดังนั้นจึงเป็นอัน “ทุกข์สุข แม้แต่โสมนัสโทมนัสในกาม” ก็ได้หมดสิ้นไปตามลำดับๆ ก่อน จะเป็น “ฌาน ๑“ เป็นต้น “ทุกข์สุขแม้แต่โสมนัสโทมนัส” ใน “ฌาน ๑ - ๒“ ก็ละได้มาก่อนแล้ว เมื่อมาถึง “ฌาน ๓“ ก็เหลือเพียง “วูปสมสุข” ที่เป็น สุขขั้น “ฌาน ๓“ ซึ่งเป็น “รูปฌาน” แบบพุทธอยู่

เพราะฉะนั้น เมื่อล้างละปล่อยวาง “สุขของฌาน ๓“ นี้ลงได้ จึง “หมดสุขหมดทุกข์ในรูปฌาน” ลงเกลี้ยงสิ้น ถึงขั้นนี้ชื่อว่า “จิตว่าง” หรือมี “อุเบกขา” อยู่เป็นเครื่องอาศัย และเป็น “อารมณ์ว่าง” ประณีตยิ่งกว่าในขณะที่เป็น “ฌาน ๓“ ซึ่งเป็นอารมณ์ที่เริ่มนับว่ามี “อุเบกขา” บ้างแล้ว

และอารมณ์ “อุเบกขา” ในขั้น “ฌาน ๔“ นี้ จึงยิ่งเป็นอารมณ์ว่างระดับเข้าข่าย “อุปสมะ” ทีเดียว เป็นอารมณ์น้องๆนิพพานเชียวแหละ ถ้าผู้ปฏิบัติผู้นั้น “ไม่หลงยึดติด “อารมณ์ว่างๆ” นี้เป็นภพ” ได้แล้วกันจริงๆ เพราะพระอาริยเจ้า ต่างก็อาศัย “อารมณ์” ลักษณะต่างๆทั้ง วิตกวิจาร…ปีติ…สุข…อุเบกขา นี่เอง เป็น “เครื่องอยู่เครื่องอาศัย” (วิหารหรืออาหาร) เพื่อพัฒนาตนและท่าน เพื่อทำงานดำเนินชีวิตขณะที่ยังมีขันธ์๕ ยังไม่ตายไปจากโลก อย่างเป็นสมบัติที่มีประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติต่อสังคมต่อโลก

หากเข้าใจดีตามที่ว่ามานี้ ก็จะเข้าใจได้ต่อไปชัดเจนว่า “วิตกวิจาร” ใน “ฌาน ๑“ ที่ต้องปฏิบัติกระทั่งไม่มี “วิตกวิจาร” ให้ได้ จึงจะผ่านสูงขึ้นเป็น “ฌาน ๒“ ก็ดี “ปีติ” ใน “ฌาน ๒“ ที่ต้องละล้างให้ได้ก็ตาม กระทั่ง “สุข” ใน “ฌาน ๓“ นี้ก็เถอะ ล้วนไม่ใช่เรื่องของ “เบื้องต้น” แต่เป็นคนละขั้นตอนกับกิเลสตัณหาอุปาทานขั้น “กามภพ” แน่แท้ เพราะเป็นกิเลสตัณหาอุปาทานขั้น “รูปภพ” โดยตรง ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดใน “รูปฌาน” ทั้งนั้น

ที่สุดแห่ง “ฌาน ๔“ เมื่อล่วงเข้าถึงความมีภูมิธรรมสูงขั้น “อุเบกขา” ก็จะต้องปล่อยวาง “อุเบกขา” เป็นที่สุด จึงจะเข้าสู่สภาพที่มีลักษณะชื่อว่า “อากาสานัญจายตนฌาน”

ผู้มี “ฌาน” แม้แค่ “รูปฌาน” ที่กล่าวถึงมานั้นก็เถอะ พระพุทธเจ้าทรงยืนยันว่า “อารมณ์” (emotion) ของผู้ที่มี “ฌาน” แบบพุทธนี้ จะเป็นผู้มี “ความเบิกบานใจ และสุขใจ” ยิ่งๆ (พระไตรปิฎก เล่ม ๙ ข้อ ๑๒๖)

เปรียบปานกับ คนหมดหนี้ แถมมีเหลือมาใช้จ่ายอีกด้วย จึงมี “ความเบิกบานใจ และสุขใจ” ยิ่งๆ

เปรียบปาน คนป่วยอาการหนัก หายป่วย แถมมีกำลังดีเสียอีก จึงมี “ความเบิกบานใจ และสุขใจ” ยิ่งๆ

เปรียบปาน คนถูกจำขัง ได้พ้นโทษโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ จึงมี “ความเบิกบานใจ และสุขใจ” ยิ่งๆ

เปรียบปาน ทาสที่พ้นจากความเป็นทาส มีอิสระเสรีและพึ่งตนเองได้ จึงมี “ความเบิกบานใจ และสุขใจ” ยิ่งๆ

เปรียบปาน คนมีทรัพย์ศฤงคาร เดินทางไกลกันดาร หาอาหารได้ยาก แถมมีภัยเฉพาะหน้า บัดนี้ข้ามพ้นทางกันดารถึงหมู่บ้านอันสงบร่มเย็น ปลอดภัยโดยสวัสดิภาพ เพราะการพบภูมิสถานอันร่มเย็นเป็นเหตุ จึงมี “ความเบิกบานใจ และสุขใจ” ยิ่งๆ

ดังนั้น “วิตกวิจาร…ปีติ…สุข…อุเบกขา” จึงล้วนเป็นเรื่องของ “รูปภพ” ไม่ใช่เรื่องของ “กามภพ” มันต้องละ “กามตัณหา” ของ “กามภพ” มาก่อน แล้วค่อยมาละ “ภวตัณหา” ของ “รูปภพ” กันทีหลัง


   [เลือกหนังสือ]
page: 7/20
   Asoke Network Thailand