[เลือกหนังสือ]      ปก | คำนำ | สารบัญ | ภาคผนวก | คัชนี
page: 6/20

สารบัญ
บทที่ 1
ฉลาดชัดตัดกิเลส

[1]
[2]

บทที่ 2
อวิชชาของคนฉลาด
[3]
[4]

บทที่ 3
พัฒนาอารมณ์
[5]
[6]

[7]

[8]

บทที่ 4
ความแตกต่าง
ระหว่าง
พุทธกับฤาษี
[9]
[10]

[11]
[12]

บทที่ 5
คุณวิเศษของพุทธ
[13]
[14]

[15]

บทที่ 6
อีคิวโลกุตระ
[16]
[17]

[18]

บทที่ 7
หลักปฏิบัติสำคัญ ของศาสนาพุทธ

[19]
[20]

 

อีคิวโลกุตระ... สมณะโพธิรักษ์ / บทที่ 3


ตามรู้อารมณ์ในฌาน ๑

ครานี้มารู้จัก “ความเป็นฌาน” กันดูบ้าง

สภาพของอาการในจิตแต่ละขณะสามัญที่เราจะเรียนรู้ คือพลังงานของจิตนี่ มันเป็นสภาพเกิดบทบาทพลังงานรวมๆอยู่ เรียกว่า “ความรู้สึก” รวมๆทั้งหมด หรือ “อารมณ์” (emotion) ในขณะนั้นๆทั้งหมด ใน “จิต” ขณะนั้นยังมีตัววิเคราะห์ซ้อนลงไปอีกคือ ซ้อนเข้าไปรู้ใน “จิต” จนรู้ “ความรู้สึก” หรือ “อารมณ์” ทั้งหมด เรียก “อารมณ์, ความรู้สึก” (emotion) ทั้งหมดนี้ว่า “เวทนา” ตัวความสามารถที่ซ้อนเข้าไปรู้ใน “จิต” นี้คือ “สัญญา” หรือ “ปัญญา”

แล้วยังวิเคราะห์วิจัยซ้อนเข้าไปใน “ความรู้สึก” หรือ “อารมณ์” อีก เรียกว่า พิจารณา “เวทนาในเวทนา” ในเวทนาก็มีใจที่มีพลังงานจิตนี่แหละ มันเป็นตัว “ปัญญา” ซึ่งก่อนจะเป็น “ปัญญา” มันก็จะเริ่มจากเจตสิกที่ชื่อ “สัญญา” “สัญญา” คือตัวกำหนดรู้ เป็นอาการหนึ่งของจิตเรียกว่า “สัญญาเจตสิก” อาการตัวนี้จะทำหน้าที่เจาะลึกเข้าไปรู้ใน “อารมณ์” อีกที ความรู้ที่สามารถ “หยั่งรู้” ได้ก็เป็น “ปัญญา” หรือ “ปริญญา” ตั้งแต่ “ญาตปริญญา” แล้วก็ “ตีรณปริญญา” และมี “ปหานปริญญา” ทำงานครบ “ปริญญา ๓“ โดย “สัญญา” เป็นตัว “กำหนดรู้” เข้าไปจนรู้อะไรๆของจิต ผลของการ “รู้” ก็เป็น “ประสิทธิภาพของจิต” เรียกสภาพนี้ว่า “ปัญญา” มันสามารถเข้าไปรู้ในจิตอีกทีหนึ่ง เมื่อ “ญาตปริญญา” อ่านจิตเข้าไปรู้ว่า “อารมณ์” (emotion) เป็นอย่างนี้ “ปัญญา” ก็ตามรู้ และ “ตีรณปริญญา” วิจัยเจาะเข้าไปว่า มีอะไรๆอื่นๆใน “อารมณ์” อีก ซึ่งก็เป็นอย่างนั้นๆ “ปัญญา” คือ “ตัวรับรู้” อีก แม้แต่ “ปหานปริญญา” ทำงานทำลายกิเลสลงไปได้หรือไม่ เป็นอย่างไรบ้าง “ปัญญา” ก็ตามรู้ทั้งนั้น แม้ที่สุดผลเป็นไฉน “ปัญญา” ก็ตามรู้หมด

ดังนี้คือ หน้าที่ของ “ปัญญา” เมื่อเจริญตามแบบพุทธก็คือ “วิชชา”

ตัวที่ไปดึง “อะไรๆ” ออกมา “รู้” ก็เป็นตัวของตัวเองนี่แหละ เป็นตัวของผู้ฉลาดนั้น มีตัว “ความฉลาด” ของผู้ฉลาดนั้นเกิดขึ้นซ้อนๆ เป็น “ความฉลาดขึ้นๆ” จาก “สัญญา” ก็เจริญขึ้นเป็น “ปริญญา” ๓ ตัวนี้แหละ เป็นตัวทำงานให้เกิดผลหยั่งรู้ลึกเข้าไปอีกในอาการของจิต ในบทบาทต่างๆของจิต และ “ปัญญา” ก็เป็นตัวรู้ที่เก็บละเอียดรู้ “ความเป็นความมีจริง” (ภาวะ) ที่เกิดที่มีทั้งหลายไปอีกที

อันการ “รู้” สามัญๆโดยไม่มีที่มุ่งไม่มีจุดศึกษา คนก็ได้แต่รู้ๆๆกันไป แต่ถ้า “รู้” ดังที่กำลังฝึกตามที่ว่านี้ ก็จะ “รู้” อย่างมีที่มุ่งมีจุดศึกษา ฝึกฝนแล้ว “ความรู้” ก็จะพัฒนาขึ้นไปรู้ “ความเป็นความมี” (ภาวะ) ที่เจริญขึ้นๆ การ “ได้รู้” ความจริงตามความเป็นจริงของ “ความเป็นความมี” ต่างๆที่เกิดขึ้น พัฒนาขึ้น ซึ่งเป็นตัวรู้ที่ไม่โกง ตัวรู้ที่เจริญขึ้นมาถึงขั้นนี้ก็เรียกว่า “ปัญญา”

ความฉลาดที่เจริญขึ้น คือ “ปัญญา” ที่รู้ความจริงตามความเป็นจริง เจ้าตัวความฉลาดเฉลียวตัวนี้ มีคุณลักษณะไม่ผสมโรงกับเหตุปัจจัยที่เป็นกิเลส

ส่วนความเฉลียวฉลาดที่ผสมโรงกับเหตุปัจจัยที่เป็นกิเลส คือ “เฉโก”

“กิเลส” เป็นพลังงานอีกชนิดหนึ่งตัวเก่งร้ายมากที่เข้ามาแทรกแซงอยู่ในจิต หากใครดึวตัวเองเป็นตัวเองออกมาให้เป็น “ความฉลาด” ที่รู้จักว่า อาการของจิตนี่มันปรุงแต่งกันอยู่ กำลังมีบทบาท กำลังมีอำนาจ ก็พยายามหยั่งรู้ ว่าเป็นลักษณะอย่างไร แล้ววิเคราะห์วิจัยเข้าไป จนเห็นอาการ “กิเลส” ในจิต ตั้งแต่ในจิตระดับต้นระดับตื้น เรียกกิเลสนี้ว่า “วีติกกมกิเลส” ระดับกลางเรียกว่า “ปริยุฏฐานกิเลส” ระดับสึกเรียกว่า “อนุสัย” “รู้” ให้ชัดคมแม่นว่าตัวไหนเป็นตัวไหน แล้วจัดการปฏิบัติให้เจริญไปตามลำดับ

ตัวที่ “กำหนดรู้” คือ “สัญญา” มันก็ทำงานกำหนดไป ก็จะ “รู้” ตามที่มันได้ทำหน้าที่ไปเรื่อยๆ อาการอะไรเป็นอย่างไร มันกำลังเป็นอย่างนั้น ตัวพลังงานที่กำลังทำงานเพื่อจะ “รู้” ด้วย และเพื่อจะฉลาดขึ้นด้วยนี้ ก็คือ “ปริญญา ๓“ นี่เองทำงานอยู่ทั้ง ๓ หน้าที่ พุทธเราเรียกกรรมกิริยา หรือบทบาทของ “ปริญญา” ทั้ง ๓ นี้ว่า “วิตกวิจาร”

ในขณะที่บทบาทของ “ปริญญา ๓“ กำลังทำงานนี่แหละคือ คนผู้นั้นกำลังมี “ฌาน” บทแรกที่เรียกอาการของ “ฌาน” จึงเรียกว่า “วิตกวิจาร”

“วิตกวิจาร” ก็เป็นอาการหนึ่งของ “ปัญญา” นั่นเอง แม้ใน “ตัวอาการ” ของจิตที่เรียกว่า “วิตกวิจาร” เองก็ยังแยกย่อยไปอีก เป็น “วิตกเจตสิก” นั้นอย่างหนึ่ง “วิจารเจตสิก” นั้นอีกอย่างหนึ่ง

หน้าที่ของ “ความฉลาด” จะต้องพยายาม “รู้” ให้ได้ “รู้” ให้หมดให้ครบทุกลักษณะอาการที่สลับซับซ้อนกันอยู่นั้นๆ การ “ได้รู้” ก็คือ “วิตกเจตสิก” คำว่า “วิตก” ก็คือ “วิตักก” หรือมาจาก “ตักก” ซึ่งหมายถึงเชิง “รู้” หมายถึงอาการตั้งแต่เริ่มรู้ ตรึกตรอง ตรวจตรา ต้อง “รู้” ความเป็นที่เป็นอยู่จริงๆนั้นว่า มันเป็นอย่างไร ดังนั้น “วิตกเจตสิก” จึงคือ “ตัวรู้” ที่เข้าไป “รู้” อาการของจิตตัวเอง ตัวที่ “ถูกรู้” ก็คือ “วิจารเจตสิก” ซึ่งที่จริงก็คือ “รู้ตัวเอง” อีกที มันเป็น “ตัวรู้” ที่รู้จักอาการของจิตตัวเองที่เป็น อย่างนี้ชื่อว่า “วิตก”

ถ้าเรามี “ฌาน” แต่เราก็ไม่รู้สภาพ “ความเป็นฌานนั้น” ของตนชัดเจน โดยเฉพาะไม่มี “ปริญญา ๓“ ก็ชื่อว่า ยังไม่มี “ปัญญาอันยิ่งหรือความรู้ยิ่ง” ตามความเป็นจริง “ฌาน” แบบนี้ ไม่นับว่า “ฌาน” ของพุทธ

“ฌาน” ของพุทธต้องมี “ปัญญาอันยิ่ง” ที่รู้ความเป็น “ฌาน” ของตนดี การมี “ปัญญา” ขั้นรู้จักความเป็น “ฌาน” ของตนจึงชื่อว่า “วิชชา”

“วิจารเจตสิก” ก็คือ สภาพอาการตัวเองที่มันเป็นพฤติกรรมของมัน มันเป็นตัวนั้นน่ะ ตัวที่กำลังเป็นอยู่นั้น คือตัว “พฤติ” “วิจาร” ก็มาจากคำว่า “จาร” “จาร” ก็แปลว่า ความประพฤติ หรือ “พฤติ” เป็นตัวบทบาทเลยทีเดียว ลักษณะอาการของมันเป็นไปอย่างใด มันคือ “ตัวเป็น” อย่างนั้น อาการลักษณะอย่างไรมันก็คืออย่างนั้นๆ เช่นนี้ชื่อว่า “วิจาร”

“วิตกวิจาร” คือพฤติกรรมของจิต ที่เป็นคุณลักษณะหนึ่งในความเป็น “ฌาน” มีคุณลักษณะอื่นๆอีกใน “ฌาน ๑“ คือ ปีติ สุข เอกัคคตา ซึ่งจะเกิดจะเป็น “ฌาน” ได้อย่างมีคุณลักษณะถูกต้องแท้จริง ต้องศึกษาและฝึกฝนอย่าง “สัมมาทิฏฐิ” จึงจะเกิดได้ อยู่ดีๆ “ฌาน” ของพุทธจะเกิดเองไม่ได้ แม้แต่ศึกษาอย่างไม่ “สัมมาทิฏฐิ” “ฌาน” แบบพุทธก็ไม่เกิด

“ฌาน” ดังกล่าวนี้ จึงมิใช่หมายถึง “ฌาน” ที่ได้จากการนั่งหลับตาทำเอา อย่างที่รู้ๆกันดาษดื่นทั่วไป เป็นสามัญ “ฌาน” ของพุทธจะเกิดจะเป็นได้ ต้องเกิดจากการปฏิบัติ “มรรคองค์ ๘“ และ “โพชฌงค์ ๗“ หรือปฏิบัติตาม “โพธิปักขิยธรรม ๓๗“ กระทั่งเกิดผลถึงขั้น “ฌาน” และมี “ปัญญา” คือตัว “รู้” ผลของความเป็นความมีต่างๆตามที่มีจริงเป็นจริงร่วมอยู่พร้อมเสมอ

“ฌาน” ต้องมี “ปัญญา” ด้วยประการอย่างนี้ “ปัญญา” แรกที่เกิดพร้อมกับฌาน จึงคือ “วิชชา” ที่ ๑ ใน “วิชชา ๙“ ซึ่งจะต้อง “รู้” อารมณ์ต่างๆในความเป็น “ฌาน” ชัดเจน ดังอธิบายมาคร่าวๆ จึงจะรู้แจ้งเห็นจริง เป็น “ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ” คือ รู้เฉพาะตน ผู้อื่นไม่อาจรู้เห็นด้วยได้ โดยเฉพาะรู้อย่างมีเหตุมีปัจจัย มี “ความเป็นความมีจริง” (ภาวะ) ชัดเจน

“ความเป็นความมี” (ภาวะ) ที่เกิดที่เป็นในขณะ “วิตกวิจาร” ก็คือ เมื่อปฏิบัติจนบรรลุมรรคผลถึงขั้น “ปริญญา ๓“ ทำหน้าที่มีความเจริญภายในจิต เพราะ “ปหานปริญญา” ทำงานได้ผล นั่นคือ เมื่อเริ่มทำงานขั้นละล้างจางคลาย “กิเลส” ตัวสำคัญคือ “สักกายะ” (ตัวตนของสมุทัยที่มีภาวะจริงอยู่ขณะนั้น) ซึ่งผู้ปฏิบัติก็ต้องผ่าน “ตีรณปริญญา” สำเร็จมาก่อนหน้านั้นแล้ว จึงทำการลงมือ “ปหานปริญญา” ได้ และเมื่อละล้างจางคลายลงได้ จะได้มากได้น้อยอย่างไรก็ “รู้” (ปริญญา) ว่า “ตนผ่านความสำเร็จนั้นๆจริง” กล่าวคือ “มีการทำลายกิเลสลงด้วยความสามารถของตน” จน “ผ่านผลสำเร็จหรือก้าวล่วงการละล้างกิเลสได้ขั้นหนึ่งจริง” ขั้นนี้คือ “ปหานปริญญา” ทำงานมีผล และ “กิเลสตัวนั้นก็ถูกจัดการลงได้หรือถูกล่วงละเมิดจนได้” กิเลสตัวนี้เรียกว่า “วีติกกมกิเลส” (วีติกกม = การก้าวล่วง, การล่วงละเมิด)

นี่คือ “มรรคผล” หรือฝีมือของ “วิชชา” ที่เรียกว่า “ฌาน ๑“ ขั้นที่ ๑

ครั้น “รู้” เห็นมรรคผลของตน “ความดีใจ” ในผลที่ได้ที่เป็นนั้นๆก็เกิดขึ้นตามมา เรียกว่า “ปีติ” อาการ “ดีใจ” ในมรรคผลนี้ทางพุทธยังถือเป็นกิเลส เรียกว่า “อุปกิเลส” จะ “ดีใจ” (ปีติ) มากหรือน้อย ก็แล้วแต่เจ้าตัวผู้ปฏิบัติคนใดจะมีจริต เป็นคนช่าง “ดีใจ” อย่างไร แค่ไหน ขึ้นอยู่กับแต่ละคนอีกด้วย

ใน “ฌาน ๑“ จึง “มีวิตกวิจาร – มีปีติ” แล้วก็จะ “มีสุข” ตามมา

“วิตกวิจาร” ก็คือ อาการหรือพฤติการของ “ปริญญา ๓“ นั่นเองที่กำลังทำงานอยู่ขณะนั้น ถ้ายังทำงานได้ผลน้อย “วิตกวิจาร” ก็ยังต้องเคร่งครัด ต้องคุมแจในการปฏิบัตินั้นอยู่ เพื่อให้ได้ผลสูงขึ้นๆ “วิตกวิจาร” จึงชื่อว่า ยังมีอาการอยู่อย่างมาก ยังต้องเคร่งอยู่ ยังเบาเครื่องไม่ได้ หรือยังลดตัวบทบาทนั้นๆลงไม่ได้ นั่นคือยังก้าวล่วง “วิตกวิจาร” ไปไม่ได้ “วิตกวิจาร” ก็ยังทำงานเต็มที่ ครั้นได้ผลเพิ่มขึ้นๆ “ปีติ” ก็ย่อมเพิ่มขึ้นๆตามไปเรื่อยๆ

และถ้าผลของการทำลายกิเลสได้จริงนี้ เมื่อมากพอ กล่าวคือ กิเลสตัวที่เรากำลังทำลายมันอยู่นั้น ลดลงๆถึงขีดเพียงพอ กิเลสก็เบาฤทธิ์ลงหรือหมดฤทธิ์ และอาการเคร่งของ “วิตกวิจาร” ก็เบาได้หรือไม่ต้องเคร่งแล้ว ความเบาใจเบาสรรพางค์ (กาย = องค์ประชุมทั้งหมดนั้น) กระนี้แลคือ “จิตสงบ” รสชาติของอารมณ์สงบนี้เอง คือ “สุข” ที่เรียกว่า “สุขอันสงบชนิดพิเศษ” ภาษาวิชาการทางธรรม เรียกว่า “วูปสมสุข” อันตรงกันข้ามกับ “กามสุข”

อารมณ์รวมๆของจิตที่ปฏิบัติมาได้ถึงขั้นนี้ ก็ถึงสภาพที่ “ดีพิเศษ” ชนิดหนึ่ง เรียกว่า “เอกัคคตา” เป็นอารมณ์ของ “ฌาน ที่ ๑“ ซึ่งมีอาการของจิตลักษณะต่างๆรวมกันอยู่ ได้แก่ “วิตกวิจาร, ปีติ, สุข, เอกัคคตา” (ยังไม่ถึงขั้นมีอุเบกขา)

“เอกัคคตา” คือ เอก + อัคค คำว่า “อัคค” แปลว่า ดีพิเศษ, เลิศ ส่วนคำว่า เอก แปลว่า หนึ่ง หรือ เป็นหนึ่ง ก็ได้ เช่น “เป็นเอก” ก็คือ เลิศยอด ก็ได้ รวมความแล้วหมายความว่า “ดีพิเศษเป็นหนึ่ง” ซึ่งก็คือ “อารมณ์ดีพิเศษเป็นเอก” ก็หมายถึง อารมณ์ที่ดีพิเศษนี้ มันดีเลิศชนิดต่างจากสามัญ เป็นอีกชนิดหนึ่ง หรือ “ดีพิเศษเป็นหนึ่งเยี่ยมกว่าสามัญอื่นได”

“ฌาน” คือ การเพ่งและเผากิเลส โดยเฉพาะกิเลสที่ต้อง “รู้” มันให้ได้ด้วย “ธัมมวิจัย” หรือ “วิตกวิจาร” ดังที่ได้อธิบายผ่านมาแล้ว และตัวสำคัญที่เป็น “เหตุ” (ทุกขสมุทัย) ในขณะนั้น ก็ได้แก่ “กิเลส” ที่เป็นที่มีจริงในตน ณ ขณะนั้นๆ ซึ่งก็ใช้ “ปริญญา ๓“ เป็นหลักธรรมในการปฏิบัติ หรือจะใช้ “สติปัฏฐาน ๔ - สัมมัปปธาน ๔ - อิทธิบาท ๔“ ก็เหมือนกัน ยิ่งละเอียดขึ้น

ดังนั้น การปฏิบัติจริงๆ ก็คือ เดินตามสูตร “โพธิปักขิยธรรม ๓๗“ ครบสูตรนั่นแหละเป็นดีที่สุด จนกระทั่งเกิด “ฌาน” เกิด “วิตกวิจาร” ซึ่งเริ่มต้นด้วยการใช้ “สัญญา” หรือลงมือ “กำหนดรู้” เพ่งลงไปที่ “อารมณ์” (เวทนา หรือ emotion นั่นเอง) ตั้งแต่ให้เกิด “ญาตปริญญา” แล้วก็ “ตีรณปริญญา” และ “ปหานปริญญา” จนสำเร็จครบทั้ง ๓ ปริญญา

ในการฝึกหัดก็ต้องปฏิบัติตั้งแต่ “รู้” ให้ถ้วนรอบเป็น “ญาตปริญญา” ว่า “อารมณ์ทั้งหมดโดยรวม” นั้นเรามีอะไรอย่างไรแค่ไหน แล้วก็ “เพ่งวิจัยเพื่อรู้ความมีความเป็นของกิเลสสักกายะในนั้น” ให้ได้ หรือมี “ตีรณปริญญา” จนเกิดผล นี่คือ “มีวิตก” และเมื่อ “ละล้างสักกายะ” ในจิตของเราได้ด้วย นั่นคือมี “ปหานปริญญา” สำเร็จอีก ขณะใด ขณะนั้นก็คือ “มีวิจาร” (มีพฤติ) อันคือเรา “เป็นได้” จึงครบทั้ง “รู้” (มีวิตก) ทั้ง “เป็นได้” (มีวิจาร) ครบครัน

การทำได้ปานฉะนี้ นี่เอง จึงชื่อว่า “วิตกวิจาร” มีประสิทธิภาพ เมื่อ “วิตกวิจาร” มีประสิทธิภาพ ก็จงฝึกฝนไปฉะนี้ๆเสมอๆกับกิเลสตัวอื่นต่อไป

นี่แหละคือ “การปฏิบัติธรรม” ในชีวิตประจำวันทุกอิริยาบถให้เป็น “ฌาน” สำเร็จตามนัยนี้ไปเรื่อยๆ ครั้นได้ฝึกฝนจนกระทั่ง มีความตั้งมั่นแน่วแน่เกิดขึ้น (เอโกทิภาวะ) แล้ว บัดนั้น “วิตกวิจาร” ก็แข็งแรงถึงขั้นตั้งมั่น จึงเรียกคุณภาพขั้นนี้ว่า “สมาธิ” (ตั้งมั่น ก็จะมีเป็นขั้นๆไป ตั้งมั่นได้เป็นขณะๆ ก็เรียกว่า “ขณิกสมาธิ” ทำได้ดีขึ้นมากขึ้นถึงระดับกลาง เรียกว่า “อุปจารสมาธิ” จนถึงขั้นแน่วแน่มั่นคง จึงจะเรียกว่า “อัปปนาสมาธิ”)

เมื่อ “วิตกวิจาร” แข็งแรงตั้งมั่น ก็ไม่ต้องไป “วิตกวิจาร” กันอีก เพราะได้ทำมากระทั่ง “ไม่มีกิเลสสักกายะ” สำเร็จลง และอีกทั้ง “ในพฤติของจิต” ก็เป็น “ฌาน” ที่ก้าวหน้าขึ้นมาจนแข็งแรงตั้งมั่น กล่าวคือ “ฌาน” นั้นผ่าน “ขณิกสมาธิ” ผ่าน “อุปจารสมาธิ” จนมีคุณภาพถึงขั้น “อัปปนาสมาธิ” เป็นได้จนสบายแล้วอย่าง “สามัญหรือปกติ” ทั้งๆที่ “ฌาน” นั้นเป็นเรื่องอุตริมนุสสธรรม ซึ่งเป็นเรื่อง “วิสามัญ” ไม่ใช่ปกติของคนผู้มีกิเลสหรือของปุถุชนจะเป็นจะมีได้ง่ายๆ (สักกายt = กิเลสที่ยึดเอาสิ่งนั้นๆมาเป็นตนเป็นของตน)

หรือจะพูดอีกสำนวนหนึ่งว่า เพราะ “วิตกวิจาร” ระงับไป (วิตักกวิจารานังวูปสมา) ก็ได้ นั่นคือ ไม่ต้องเคร่งต้องคุมให้ “วิตกวิจาร” คอยเพ่งคอยเผาอยู่อย่างแต่ก่อนอีกแล้ว กล่าวคือ ประสิทธิภาพ “ตัวรู้” อันคือ “วิตก” ก็รู้ยิ่งเห็นจริง และประสิทธิภาพ “ตัวเป็น” อันคือ “วิจาร” ก็ไม่มีสักกายะได้จริง

ดังนั้น เมื่อสงัดจาก “กาม” (สักกายะ) บ้าง จาก “อกุศลมูล” (สักกายะ) ต่างๆบ้างลงได้ฉะนี้ ความเป็น “ฌาน” ซึ่งใน “ฌาน ๑“ นี้ พระพุทธองค์ก็ตรัสบอกแล้วว่า ให้สร้าง “อารมณ์ของฌาน” ให้ซาบซ่านเอิบอิ่มใน “ธรรมรส” ซึ่งแน่นอนว่า มันย่อมเป็น “อารมณ์พิเศษ” ต่างจาก “โลกียรส” สามัญของปุถุชน

ดังพระพุทธพจน์ที่ว่าไว้ คือ “สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุฌาน ๑ มีวิตกวิจาร ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ เธอทำทั่วสรรพางค์นี้ให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มด้วยปีติและสุขอันเกิดจากวิเวก รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนทั่วสรรพางค์ (กาย) ที่ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวก จะไม่ซับสัมผัส” (พระไตรปิฎก เล่ม ๙ ข้อ ๑๒๗)

นั่นคือ “ปีติและสุข” ในฌานนี้ ก็สำคัญยิ่งที่จะช่วยสร้างความเจริญ เป็นกำลังของจิต แต่กระนั้นในพุทธยังต้องรู้ความเป็น “อุปกิเลส” ของมันอีก

ปีติ ใน ฌาน ๒

เมื่อสามารถปฏิบัติถึงขั้น “วิตกวิจาร” มีประสิทธิภาพ หรือ “วิตกวิจาร” แข็งแรงกระทั่งตั้งมั่น จนเรียกคุณภาพขั้นนี้ว่า “สมาธิ” ผลสำเร็จเช่นนี้เป็นอาการที่สูงขึ้นแล้ว เรียกว่า “ฌาน ที่ ๒“ ซึ่งตามสำนวนที่ได้ยินกันมาก็คือ “เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ผู้ปฏิบัติบรรลุฌาน ๒ มีความผ่องใสในภายใน มีความตั้งมั่นแน่วแน่เกิดขึ้น (เอโกทิภาวะ) ไม่มีวิตกวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่ เธอทำทั่วสรรพางค์ (กาย) นี้ให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มด้วยปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิ รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนในสรรพางค์ที่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิไม่ซับสัมผัส” (พระไตรปิฏก เล่ม ๙ ข้อ ๑๒๘)

“อารมณ์” ของ “ฌาน ๑“ อย่าลืมนะว่า มี “วิตกวิจาร…ปีติ…สุข…เอกัคคตา” ซึ่งมีทั้ง ๔ สภาพ และสภาพทั้ง ๔ นี้ มีความสำคัญสลับซับซ้อนกันอยู่อย่างลึกซึ้ง

สภาพของ “วิตกวิจาร” นั้น เป็นสภาพที่กล่าวได้ว่า คือ “ตัวแท้ของการปฏิบัติโดยตรง” ซึ่งปฏิบัติด้วย…รู้ตัวเองไปด้วย จึงมีภาวะทั้ง “ตัวเป็น” และทั้ง “ตัวรู้” ดังกล่าวมาแล้ว ฐานะของ “วิตกวิจาร” คือ ตัวงาน ไม่ใช่สภาพของ “ธรรมรส” หรือไม่ใช่ “อารมณ์” ที่จะต้องเสพต้องติด ดังนั้นเมื่อ “วิตกวิจาร” ทำหน้าที่มีประสิทธิภาพแข็งแรงตั้งมั่น ก็เป็นอันผ่านล่วงไปได้เลย

ส่วน “อารมณ์” ที่ยังเสพอยู่ อันคือ “ปีติ…สุข” ซึ่งถ้าไม่เรียนรู้ก็จะกลายเป็น “หลงติด” ได้ เพราะทั้ง “ปีติ…สุข” นี้ เป็นอารมณ์ที่ให้คุณค่า ประโยชน์อย่างมากแก่ผู้ปฏิบัติในเบื้องต้น แต่ก็เป็นอารมณ์ที่ให้โทษอย่างสุดแสนลึกซึ้งแก่ผู้ปฏิบัติเบื้องปลาย อันจะทำให้ไปไม่ถึงนิพพาน

หากผู้ใดมิได้ศึกษาจน “สัมมาทิฏฐิ” จริง ก็จะหลงติดหลงเสพอยู่แค่อารมณ์ (emotion) แห่ง “ธรรมรส” ที่เป็น “ปีติ” ก็ดี “สุข” ก็ตาม ใน “รูปภพ” ของ “ฌาน ๑“ นี้ได้แน่ๆ ผู้ใดเสพติด ผู้นั้นก็มี “ตัณหา” ชื่อว่า “ภวตัณหา”

ความเป็น “ตัณหา” ก็ย่อมเกิดกับคนผู้ที่ติดอยู่นั้นๆฉะนี้ กิเลสขั้นนี้ เรียกว่า “อุปกิเลส” เพราะไม่ใช่กิเลสแค่ “โลกียะ” สามัญ แต่เป็นกิเลสซับซ้อนสูงขึ้นขั้น “ธรรมรส” กันทีเดียว ซึ่งเป็นความหลงใคร่หลงอยากหรือเป็นความเสพติดใน “อารมณ์” อัน “ดีเลิศที่ต่างจากสามัญ” (เอกัคคตา) หรืออารมณ์ที่ “ดีพิเศษเป็นหนึ่ง เยี่ยมกว่าดีสามัญ” (เอกัคคตา)

ใน “อารมณ์” (emotion) ใคร่อยาก “ธรรมรส” ขั้นนี้นี่แหละ ลึกเข้าไปใน “อารมณ์” ก็ยังมี “ตัวเหตุ” (ทุกขสมุทัย) ที่เรียกว่า “ภวตัณหา” ซึ่งเป็นตัวผสมโรงอยู่ใน “อารมณ์” (เวทนาที่มีปีติหรือสุข) เพราะผู้ยังไม่ได้ศึกษาและยังไม่ได้ฝึกฝนจนละล้างเจ้าตัวที่ว่านี้ลงได้ ก็ย่อมยังหลง “ภพ” นี้อยู่จริง ยังมี “ชาติ” อยู่แท้ ความเป็นกิเลสระดับนี้ จึงเรียกมันว่า “อุปกิเลส”

ดังนั้น ผู้ศึกษาจะต้องศึกษาให้ดีๆ แม้จะใช้ “ปีติและสุข” เป็นเครื่องอาศัยย้อมใจ จนเอิบอาบซาบซ่านไปทั่วสรรพางค์ของตน เพื่อให้ตนได้ซับซ่าน “ธรรมรส” จนกว่าจะ “ตั้งจิตมั่น” (สมาธิยติ) เป็นขั้นๆตอนๆไปก็ตาม กระนั้นก็ยังต้องสังวรว่า จะหลงเสพหลงติด “ธรรมรส” เหล่านี้ไม่ได้ อีกด้วยโสดหนึ่ง จึงต้องศึกษาฝึกฝนตนอย่างสำคัญทีเดียว เพราะในการปฏิบัติถึงขั้นนี้นั้น มันมีทั้งใช้เป็นเครื่องอาศัยเพื่อประโยชน์ก็ต้องใช้ และมีทั้งต้อง “ทำใจในใจ” (มนสิการ) ให้แยบคาย (โยนิโส) เพื่อ “ละล้างจางคลาย” (วิราคะ) ให้สำเร็จ จะได้ไม่ติดยึดจนเป็นโทษแก่ตน นี่ก็ต้องทำอย่างลึกซ้อนอีกด้วย

การปฏิบัติขั้นนี้จึงมีนัยสำคัญที่ต้องทำประณีตยิ่งขึ้น ปานฉะนี้

ครั้นปฏิบัติได้มรรคผล แม้แค่ “ฌาน ๑“ นี้แล้ว ผู้พากเพียรได้เห็นผล ก็ย่อมมี “ความดีใจ” ในผลที่ได้นั้นๆ อันคือ อารมณ์ที่เรียกว่า “ปีติ” ดังได้กล่าวมาแล้ว และย่อมมีอารมณ์ “สุข” ไปกับผลอันสงัดจากกิเลสเบื้องต้นนั้น (วูปสมสุข) เมื่อใช้ “ปีติ” และ “สุข” นี้ เป็นเครื่องย้อมใจให้เอิบอาบซาบซ่านไปทั่วสรรพางค์ของตน จึงอาจจะเป็นการติดรส “อารมณ์” ที่เกิดใน “รูปภพ” ซ้อนขึ้นมาได้ หากไม่รู้ไม่เรียนก็จะไม่ “ธัมมวิจัย” เจาะรู้แล้วล้าง

“ปีติและสุข” ที่เกิดจากมรรคผลใน “รูปภพ” นี้จึงสามารถเป็นทั้ง “เครื่องอาศัยใช้ประโยชน์” (วิหาร) และเป็นทั้ง “ตัวเสือร้าย” (อุปกิเลส) ในโลกีย์ อันผู้ปฏิบัติเคยเป็นเคยมีจากผลได้ “สมใจในภูมิโลกีย์” ที่ปุถุชนสามัญทุกคนต่างก็เคยเป็นเคยมีกันมาในชีวิตทั้งนั้น เช่น เคยได้ลาภ – ได้ยศ – ได้สรรเสริญ – ได้สุขจากกาม มาสมใจตน ก็มี “ความดีใจอิ่มใจ” (“ปีติ” ที่เกิดเพราะได้โลกธรรม) เป็นต้น ซึ่ง “ความดีใจหรือความยินดี” (ปีติ) ขั้น “กามภพ” เยี่ยงนี้ มันก็แค่ “รสโลกีย์” ตามประสา “โลกียารมณ์”

แต่การได้ “ปีติและสุข” ในองค์ฌานที่เป็น “ธรรมรส” นี้ เป็นรสของ “ธรรม” ไม่ใช่รสของ “กาม” ซึ่งดีกว่า ประณีตกว่า “โลกียารมณ์” และที่สำคัญ คือ จะต้องมาลดละ จางคลาย แม้ “ธรรมรส” นี้อีกทีด้วย

ระดับ “ฌาน ๒“ จึงเป็นระดับที่ยังมากไปด้วย “อารมณ์ปีติและสุข” อยู่เป็นขั้น “ธรรมรส” ก็จะต้องซับซาบให้อาบเอิบในจิตด้วย แล้วก็จะต้องมาละล้างวางปล่อยอีกด้วย การปฏิบัติลักษณะนี้แหละ คือ “ปฏินิสสัคคะ” นัยหนึ่ง ที่นักปฏิบัติธรรมแบบพุทธต้องเรียนรู้ให้ดี และปฏิบัติให้ได้


   [เลือกหนังสือ]
page: 6/20
   Asoke Network Thailand