[เลือกหนังสือ]      ปก | คำนำ | สารบัญ | ภาคผนวก | คัชนี
page: 3/20

สารบัญ
บทที่ 1
ฉลาดชัดตัดกิเลส

[1]
[2]

บทที่ 2
อวิชชาของคนฉลาด
[3]
[4]

บทที่ 3
พัฒนาอารมณ์
[5]
[6]

[7]

[8]

บทที่ 4
ความแตกต่าง
ระหว่าง
พุทธกับฤาษี
[9]
[10]

[11]
[12]

บทที่ 5
คุณวิเศษของพุทธ
[13]
[14]

[15]

บทที่ 6
อีคิวโลกุตระ
[16]
[17]

[18]

บทที่ 7
หลักปฏิบัติสำคัญ ของศาสนาพุทธ

[19]
[20]

 

อีคิวโลกุตระ... สมณะโพธิรักษ์ / บทที่ 2

บทที่ ๒
  อวิชชาของคนฉลาด  

“อวิชชา” คำนี้ ไม่ใช่หมายถึง “ไม่รู้” หรือ “โง่” อย่างสามัญ มันมีสารสัจจะพิเศษที่ต้องทำความเข้าใจให้ดีๆ

คนมี “อวิชชา” ไม่ใช่แปลว่า คน “โง่” หรือ “ไม่รู้” แบบผู้ด้อยความฉลาด ที่โง่ๆ ทึบๆ หรือไม่เฉลียวฉลาด หรือเป็นคนด้อยในเชาว์ไวไหวพริบ เป็นคนมี “ไอคิว” ต่ำ ซึ่งหมายถึง “ไม่ฉลาด” กว้างๆ คลุมไปหมด

“อวิชชา” มิใช่เช่นนั้น

คน “อวิชชา” นั้น คือคนที่ “เฉลียวฉลาดสุดยอดอัจฉริยะ” สุดยอดแห่งคนที่มีเชาว์ไวไหวพริบ หรือคือยอดแห่งคนที่มี “ไอคิว” สูงสุดก็ได้ แต่อัจฉริยบุคคลผู้นี้ มี “อวิชชา” มี “ความไม่รู้” หรือ “โง่” เฉพาะเรื่อง “โลกุตระ” กล่าวคือ “ไม่มีวิชชา” พอที่จะสามารถลดละ “โลกธรรม” หรือไม่มี “ความรู้” ที่เป็น “วิชชา ๙“ พอ จนใช้ลดกิเลสจาก “โลกียะ” ได้ นั่นเอง

“อวิชชา” คือ “ความไม่รู้โลกุตรธรรม” จึงต้องเป็น “ทาสโลกียธรรม” แล้วก็เป็นทุกข์เพราะ “โลกธรรม” และทำร้าย “ชาวโลก” กันเองด้วย

“อวิชชา” ไม่ใช่แปลว่า “ไม่รู้” ที่หมายถึง “โง่” อันรวนไปหมด ว่า “ไม่ฉลาด” หรือ “โง่” ในทุกเรื่องทุกอย่าง

ผู้มี “ความฉลาด” เยี่ยม มีเชาว์ไวไหวพริบยอดอัจฉริยะ แต่ “ไม่รู้” เท่าทัน “โลกียะ” หรือแม้จะรู้บ้าง ทว่าไม่มี “วิชชา ๙“ ถึงขั้นที่จะทำตนให้หลุดพ้น “โลกียะ” ได้ ฉะนี้ต่างหากคือ คนมี “อวิชชา” เป็นคนที่ยัง “ไม่รู้” เป้าแท้เนื้อแท้ของ “โลกุตระ” และเพราะ “ไม่รู้” เท่าทัน “โลกียะ” นี่เอง จึงยิ่งเก่งยิ่งได้ลาภ – ยศ – สรรเสริญ – สุขโลกีย์มากขึ้นๆ ก็ยิ่ง “หลง” มัน จึงยิ่งมัดตัวเองหลงมืดซ้ำซ้อนเข้าไปอีก ก็จมหนักติดหนักยิ่งๆ ขึ้น

คนที่มี “ความฉลาด” มี “เชาว์ไวไหวพริบ” หรือมี “ไอคิว” ยอดเยี่ยม แต่เป็นคน “อวิชชา” หรือ “โง่ยิ่ง” ฉะนี้เอง คือ “โง่ในเรื่องของโลกุตระ”

หรือมี “ความฉลาด” ในเรื่องอะไรสารพัดได้หมด แต่ “ไม่รู้หรือโง่” เฉพาะเรื่องที่จะทำตนหลุดพ้นออกจาก “โลกียะ” เท่านั้น

ผู้สิ้น “อวิชชา” คือ ผู้มี “วิชชา” สมบูรณ์ นั่นคือ ผู้รู้แจ้งใน “โลกธรรม” หรือ “โลกียธรรม” สมบูรณ์ และไม่หลงติดยึดใน “โลกธรรม” แล้ว เป็นผู้ “อยู่เหนือโลกธรรม” ได้แล้ว หรือชื่อว่าเป็นผู้มี “โลกุตรธรรม” ถึงขั้นสูงสุด แต่อาจจะ “ไม่ฉลาด” หรือ “ไม่เก่ง” อะไรมากนักในเรื่องของการมี “เชาว์ไวไหว-พริบ” โดยเฉพาะ “ไม่เก่ง” หรือ “ไม่ฉลาด” ในการล่าลาภ ล่ายศ ล่าสรรเสริญ ล่าโลกียสุข มาบำเรอตนเอง

ผู้หมด “อวิชชา” อย่างสมบูรณ์สุดนั้น จะไม่ล่าลาภ, ยศ, สรรเสริญ, โลกียสุข ให้แก่ตนเองอีกเลย แต่ท่านยังขยันหมั่นเพียรทำงานทำการ จึงสามารถมีลาภมาก แต่ท่านก็จะไม่สะสมหรือไม่ติดยึด ยศหรือตำแหน่งนั้น อาจจะมีผู้มอบให้ท่านก็ได้ แต่ท่านก็ไม่ติดไม่ยึดแน่ๆ และแน่ๆ อีกว่าท่านจะได้รับการสรรเสริญเยินยอ จากผู้รู้คุณค่าแท้ของท่าน ซึ่งท่านก็ไม่ติด ไม่ยึดอีกแน่ สำหรับ “โลกียสุข” นั้น ท่าน “สูญ” ไม่มีใน “อารมณ์” (emotion) ของท่านเด็ดขาด ท่านจะมีก็แต่ “วูปสมสุข” หรือ “ความไม่ม่ทุกขอาริยสัจอย่างสนิท” ซึ่งมันไม่ใช่ “อารมณ์สุขแบบโลกียะ” ที่ใครจะพึงเดาเอา

 ลวงตนไว้ในโลกีย์ 

คนผู้ที่มี “อวิชชา” เต็มภูมิ แม้จะเป็นอัจฉริยะ มี “ความฉลาด” เยี่ยมยอดปานใด จึงไม่สามารถรู้แจ้งความเป็น “ผู้ตกอยู่ในวงวนของโลกีย์” เพราะฉะนั้น ตนเองหากตกจมลงไปใน “วงวน” ของลาภ…ยศ…สรรเสริญ…โลกียสุข จนลึกหล่มจมหนัก ย่อมไม่อาจจะรู้จักความทารุณ แสบเผ็ด หยาบคาย ของลาภ สักการะ เสียงสรรเสริญเยินยอเหล่านั้นได้ง่ายๆเลย

พระไตรปิฎก เล่ม ๗ ข้อ ๓๕๙–๓๖๐ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดถ้อยชัดคำว่า “ลาภ สักการะ และเสียงสรรเสริญเยินยอ ย่อมฆ่าคนชั่ว เหมือนลูกม้าอัสดรที่เกิดในครรภ์ ย่อมฆ่าแม่ม้าอัสดร ฉันนั้น”

ในพระไตรปิฎก เล่ม ๑๖ ตั้งแต่ข้อ ๕๓๗ พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องเกี่ยวกับโทษภัยของลาภ สักการะ เสียงสรรเสริญเยินยอ ไว้ จนถึงข้อ ๕๙๘ ว่า “ลาภ สักการะ เสียงสรรเสริญเยินยอ ทารุณ แสบเผ็ด หยาบคาย เป็นอันตรายแก่การบรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะ ซึ่งไม่มีธรรมอื่นยิ่งไปกว่า ฯลฯ”

ในพระไตรปิฎกเล่มเดียวกันนี้ ข้อ ๕๘๐–๕๘๑ พระพุทธเจ้าตรัสถึงความร้ายกาจของ ลาภ สักการะ เสียงสรรเสริญเยินยอ นี้ ว่า “…เป็นอันตราย แม้แก่ภิกษุผู้เป็นอรหันต์” ปานนั้นทีเดียว และพระองค์ทรงกล่าวอธิบายว่า “ลาภ สักการะ เสียงสรรเสริญเยินยอ ไม่เป็นอันตรายแก่เจโตวิมุติ อันไม่กลับกำเริบของภิกษุผู้เป็นอรหันต์” ก็จริง แต่พระพุทธเจ้าทรงกล่าวยืนยันว่า…ลาภ สักการะ เสียงสรรเสริญเยินยอ เป็นอันตรายแก่ธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ที่พระอรหันต์ แม้บรรลุธรรมแล้ว ก็ยังเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร กระตือรือร้น (ปหิต) อยู่ แล้วพระองค์ก็ทรงเตือนย้ำให้พึงสังวร

ดังนั้น เรื่อง ลาภ – ยศ – สรรเสริญ – โลกียสุข จึงไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ที่คนจะปล่อยปละละเลย ไม่ศึกษาให้ลึกซึ้งถ่องแท้ และเรื่อง “จิต – เจตสิก อื่นๆด้วย โดยเฉพาะเรื่อง “ไอคิว” หรือ “ความฉลาดมีเชาว์ไวไหวพริบ”

กรรมกิริยาและบทบาทของคนที่เกิดมาจากพลังงาน “ไอคิว” สูงๆนั้น มีมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์จนถึงปัจจุบัน เจ้า “ความฉลาด” นี่แหละที่มันมีฤทธิ์ทำร้ายคน ทำร้ายสังคม ทำร้ายประเทศชาติมานักต่อนัก ตราบเท่าที่มันดีแต่ “ฉลาด” ดีแต่ “เก่ง” ดีแต่ “ไอคิว” สูงส่ง ทว่าไม่มีเนื้อแท้ของความจริงที่เป็น “คุณธรรม” เพียงพอถึงขั้น “โลกุตระ”

ดังนั้น ชั้นเชิงของ “ไอคิว” หรือ “เชาว์ไวไหวพริบ” มันก็จะทำงานโดยการ “คั้นเอาความฉลาด” เท่าที่ตนมีสูงสุดขึ้นมาใช้พร้อมกับ “อนุสัย” ซึ่งเป็นกิเลสลึกที่หนักตัวอยู่ใต้ก้นบึ้งของจิตวิญญาณ อันเจ้าตัวผู้ไม่มี “วิชชา” หรือ “ภูมิโลกุตระ” จะไม่สามารถหยั่งรู้มันได้ แต่มันก็จะทำงานอย่างซื่อสัตย์ต่อ “อุปาทาน” (ความติดยึด) เต็มที่ มันจึงเป็นกรรมกิริยาและบทบาทที่…แม้เจ้าตัวก็ไม่สามารถรู้ตัวเองได้ว่า “ตนเองลวงตนเอง” อยู่อย่างงไร? ร้ายแรงแค่ไหน? สลับซับซ้อนใปแล้วกี่ชั้น…ที่มันกลับตาลปัตรลวงตนเอง โดยที่ตนได้ “หลง” เชื่อมั่นในความผิดว่าถูก ในความเลวว่าดี แล้วก็เพิ่มดีกรีความซับซ้อนซ่อนสลับ “ความผิด – ความเลว” ทับทวีขึ้น โดย “หลง” สนิทว่า มันเป็น “ความถูก – ความดี” จนหนาหนักกลายเป็นคนเลือดเย็น ร้ายลึก ที่ “ลวง” ทั้งตน “ลวง” ทั้งสังคม ให้ “หลง” ตาม “เอาอย่าง” ตาม เพราะมันช่างดูเหมือน “ดี” เสียเหลือเกิน “ถูกต้อง” เสียเหลือเกีน

ตัวอย่างเช่น ตนเองดีใจอย่างยิ่งที่เอาเปรียบคนอื่นได้สำเร็จ

ตัวอย่างนี้ มีการ “ลวงตัวเอง” อยู่ คือ

๑. ที่จริงนั้น ตนเองเลวลง ที่ “เอาเปรียบ” แต่ตนเองก็ “หลง” ว่า ดี

๒. การ “ดีใจ” ในกรณีอย่างนี้ ก็ผิดอีก เพราะควรเสียใจต่างหาก ที่ตนเลวลง

๓. เมื่อคนผู้นี้ “หลง” ว่า “เอาเปรียบได้” คือ “ดี” และ “ถูก” พร้อมทั้งมันทำให้ลิงโลดในสุขที่ได้ “ดีใจ” ชื่นจิตอีก จึงซับซ้ำย้ำให้คนผู้นี้ยิ่งเพิ่มพลังความชอบใจความมั่นใจทับทวีขึ้น เพื่อปฏิบัติการเยี่ยงนี้ให้ยิ่งๆขึ้น

แค่นี้ ก็เห็นแล้วว่า “ตนเองลวงตนเอง” อยู่หลายชั้นแล้ว ดังนี้เป็นต้น

อีกสักตัวอย่างหนึ่งก็ได้ และคนในตัวอย่างที่จะสมมุติต่อไปนี้ เป็นคนที่สังคมเห็นว่าเป็น “คนดี” ในโลกสามัญพอสมควร หรือในสายตาของสังคมอาจจะเห็นว่า “ดีมาก” ด้วยซ้ำ เพียงแต่ว่า ยังมี “อวิชชา” จึงยังมี “ความลวงตัวเอง” ชนิดที่ตนเองหลงว่าเป็นสิ่งดีอยู่

และตัวอย่างนี้ ก็ต้องขออภัยไว้ก่อนนะว่า ถ้าใครอ่านแล้วรู้สึกว่า เป็นเรื่องที่ดูเหมือนอาตมาแกล้งพูดกระทบกระเทียบใครคนใด ก็ขอบอกจริงๆว่า ไม่มีเจตนาจะพาดพิงผู้ใด หรือไม่ได้หมายถึงบุคคลหนึ่งบุคคลใด เป็นเพียงสมมุติตามเนื้อเรื่องอันเจตนาว่า จะให้เห็นกันได้ง่ายๆเท่านั้นเอง

สมมุติของเรื่องนั้น ก็เป็นดังนี้

คนผู้หนึ่ง ต้องการจะเป็นประธานาธิบดีหรือนายกฯ (นายกอะไรก็ตาม) จึงหาเงินมาให้ได้มากๆ แล้วก็เริ่มใช้เงินทุนนั้น ทุ่มเททั้งจ่ายทั้งเสียสละเต็มที่ เพื่อให้ได้คะแนนนิยม และได้องค์ประกอบที่จะทำให้ได้เป็นประธานาธิบดี หรือเป็นนายกฯ แล้วเขาก็ทำได้เป็นผลสำเร็จ ก็ดีใจภาคภูมิใจเป็นที่ยิ่ง จึงพาคณะหมู่ฝูงไปฉลองชัย ด้วยการกิน เสพ ดื่ม สูบ อย่างครบสูตร ณ สถานที่อันหรูหราไฮโซสมศักดิ์ศรี ท่านประธานาธิบดีหรือท่านนายกฯ ก็ดี คณะหมู่ฝูงก็ตาม ต่างก็เห็นการกระทำของทั้งท่านผู้นำ และของหมู่ฝูงเป็นเรื่องถูกต้องดีงาม ไม่ได้เฉลียวใจใดๆ ว่า ทั้งหมดนั้น “ตนเองลวงตนเองกันอยู่กี่เชิงกี่ชั้นกี่ตลบ?”

อาตมาคงสาธยายความสลับซับซ้อนให้ฟังไม่ได้หมดแน่ (เพราะบางอย่างเป็นอจินไตย) ก็ขอไขความให้ฟังกันเท่าที่ควร เป็นต้นว่า

๑. คนผู้หาเงินโดยใช้วิธีตามระบบทุนนิยม ซึ่งเป็นแนวคิดที่ “เอาเปรียบ” อันเป็นความไม่ถูกต้องโดยสัจจะอยู่แล้ว แต่คนในโลกทุนนิยมยังคงดำเนินการกระทำในระบบนี้อย่างไม่ได้สำนึกให้ถึงความจริงกันอยู่ทั่ว จึง “หลง” ได้สนิทยิ่ง และยิ่งเพิ่มการพัฒนาระบบให้จัดจ้านหนักหนาสาหัส

๒. คนผู้ที่จะรวยมากๆได้นั้น ต้องใช้ “กลเชิงในการเอาเปรียบ” อย่างซับซ้อนซ่อนเชิงมากมาย ต้องบวก “ความเอาเปรียบ” ให้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ ผู้รวยได้จริง ก็คือ ผู้ที่ทำ “การใช้ชั้นเชิง” อย่างมากอย่างมีประสิทธิภาพจริง ชั้นเชิงก็ยิ่งสลับซับซ้อนลึกลับทับทวี บาปก็ยิ่งมาก

๓. คนผู้ร่ำรวยได้นั้น ก็ยิ่งดีใจยิ่งภาคภูมิใจในความฉลาดและฝีมือ ความสามารถที่ “ตนเอาเปรียบได้” ยิ่งๆ จึงยิ่งเพิ่มกรรม วิบากเลวก็ยิ่งเพิ่ม

๔. วิธีนำเงินมาใช้ทุ่มเทจ่ายออกเสียสละออกไป เพื่อให้ได้มาตามที่ต้องการนั้น นั่นคือ ธุรกิจ “การแลกลาภกับยศกับสรรเสริญกับสุขโลกีย์” สามัญๆนี่เอง ไม่ใช่เรื่องบุญเรื่องทานอะไรเลย แต่ผู้กระทำนี้หลงว่า ตนเสียสละ เป็นการทำความดี จึง “หลงผิด” (โมหะ) ชนิดทับทวียิ่งขึ้นแน่

[ในเรื่องของการหาเงินมา และใช้เงินไปนี้ ยังมีอีกหลายแง่หลายประเด็นที่ยังเป็น “ความลวงตนเอง” ชนิดที่ผู้ลวงตนเองรู้ไม่เท่าทัน ขอทิ้งไว้ให้ผู้อื่นคิดบ้าง]

๕. โดยเฉพาะ ความสลับซับซ้อนของ “นามธรรม” อันเป็นกิเลสตัณหาอุปาทาน จะยิ่ง “ลวงตัวเอง” หนาหนักอย่างไม่สามารถรู้เท่าทันมันได้ จึงยิ่งถูกกิเลสตัณหาอุปาทานมันหลอกให้ “ตนเองลวงตัวเอง” ซ้ำซ้อนเข้าไปหนัก พร้อมกันนั้น ผู้นั้นก็ยิ่งจะพัฒนากิเลสตัณหาอุปาทาน ให้มันเก่ง ให้มันฉลาด มีความสามารถยิ่งๆขึ้น นั่นก็เท่ากับทำให้กิเลสตัณหาอุปาทานของตนมากขึ้น หนาขึ้นไม่หยุดหย่อน ซึ่งมันมีมากมายเหลือเกิน ไปคิดดูเถิดผู้รู้ แค่การ “หลง” เสพเสวยสุขทางอารมณ์ อันเป็น “โลกียสุข” ซึ่งเป็นเรื่องของธรรมะขั้นปรมัตถสัจจะ ก็ “หลง” กันอย่างซับซ้อนซ่อนสลับไม่รู้กี่ตลบต่อกี่ตลบนับไม่ไหว ที่มัน “ลวง” มนุษย์ “ลวง” โลก มาตลอดกาลนาน เฉพาะอย่างยิ่ง ผู้มี “ความฉลาดแบบไอคิว” ซึ่งฉลาดแค่ทางเชาวน์ไหวพริบ ไม่มี “ความฉลาดทางอารมณ์” ก็ยิ่งแย่กว่า “ความฉลาดแบบอีคิว” ที่ยังพอฉลาดทางอารมณ์อยู่บ้าง แต่ถ้าไม่ศึกษาให้ถึงขั้น “โลกุตระ” แม้จะ “ฉลาดทางอารมณ์” ตามที่กำลังฮือฮานี่ก็เถอะ ก็ไม่สามารถจะพ้น “ตนเองลวงตนเอง” ไปได้ง่ายๆ

เอาล่ะ…เรื่องนามธรรม ขอไขบอกไว้แค่นี้

๖. ในบทบาทของท่านประธานาธิบดีหรือท่านนายกฯผู้นี้ ก็จะต้อง “ลวงตนเอง” โดยหลงว่าตนเองทำถูกต้อง ไปอีก นับไม่ถ้วนครั้งครา แต่ที่แท้ตนเองยังเข้าใจไม่เป็น “สารสัจจะ” หรือยังไม่ตรงตาม “สัจธรรม” ขั้นสมบูรณ์อยู่ เพราะยังมีกิเลสความเห็นแก่ตัว แก่พรรคพวก แก่ตำแหน่ง แก่เกียรติศักดิ์ที่ตนยังยึดถือ แก่โลกธรรม แก่โลกียสุขที่ตนยังไม่หมดอัสสาทะสนิท ทว่าตนเองก็เชื่อว่า ทุกบทบาทของตนนั้นๆ ถูกต้องอยู่เกือบทั้งนั้น แต่ที่แท้ “ยังเป็นความลวงตน” อยู่ด้วย “อวิชชา” จริงๆ ได้หรือเสีย คิดดูเถิด

ถ้าวิเคราะห์เจาะลงไปอีก ตามเรื่องราว ตามเหตุ ตามปัจจัยที่คนผู้นี้จะต้องเกี่ยวข้อง ในตัวอย่างที่ยกมานี้ ก็ยังมีความซับซ้อนอีกหลายชั้นหลายเชิง ขอทิ้งไว้แค่นี้ก็แล้วกัน ให้คนอื่นได้คิดต่อ

ตัวอย่างที่ยกมานี้ คงต้องยอมรับกันใช่ไหมว่า คนผู้นี้ต้องมี “ความฉลาด” หรือมี “ไอคิว” สูงเพียงพอทีเดียว จึงสามารถนำพาตนให้ขึ้นไปถึงขั้นประสบผลสำเร็จในชีวิตขนาดนั้นได้

เท่าที่สมมุติมานี้ คนผู้ที่จะเป็นดังที่สมมุตินี้ ตามสายตาของสังคม จะเห็นเป็น “คนดีใช้ได้ทีเดียว” แต่นั่นเป็นแค่สภาพ “โลกียะ” เพราะไม่ใช่ “อาริยบุคคล” ที่อยู่ในข่าย “มีคุณธรรมระดับโลกุตระ” จึงย่อมจะมีบทบาทและกรรมกิริยาแบบคนผู้มีภูมิโลกีย์ ที่สลับซับซ้อนดังได้ว่ามานั้นแน่

ด้วยเหตุฉะนี้ ถึงแม้นคนผู้นี้จะมี “ความฉลาด” เยี่ยมยอดจริง เมื่อเป็นคนมีธรรมะหรือคุณธรรม “ไม่ถึงขั้นโลกุตระ” ก็แน่นอนว่า จะเป็นโทษภัยแก่ตนแก่สังคมอยู่โดยมากอย่างลึกซึ้ง เพราะแม้แต่ “อาริยบุคคลที่มีคุณธรรมขั้นโลกุตระ” แท้ๆ อันยังไม่ถึงขั้นอรหันต์ ก็ยังมีส่วนที่จะบกพร่องไม่มากก็น้อยอยู่เลย

ยิ่งถ้าท่านผู้นำคนนี้มี “ความฉลาดลวงคนให้ยอมรับนับถือได้สนิทแนบเนียนยิ่ง” แต่ยังมี ความเห็นแก่ตัว อยู่หนาหนักละก็ แม้ความเสียหายที่เกิดกับสังคม กับประเทศชาติจะมีอย่างไร เท่าใด คนผู้นี้ก็จะยึดมั่นยืนยันอยู่ในฐานะที่ตนได้นั้นตราบที่ยังเป็นไปได้ ไม่ถอดถอน คงกระทำบทบาทและกรรมกิริยาต่อไปอย่าง “ไม่รู้” (อวิชชา) อยู่จริง เพราะ “ความลวงตนเอง” ที่ลึกสุดๆแถม ชนิดยอมตายดิ้นอยู่กับ “ลาภ…สักการะ…เสียงสรรเสริญเยินยอ” ได้เสมอ อีกนานเท่านาน ยิ่งเป็นภิกษุหรือสงฆ์ ยิ่งมี “ความลวง” ที่ลึกซึ้ง

 


   [เลือกหนังสือ]
page: 3/20
   Asoke Network Thailand