คำนำ
เห็นท่านผู้รู้ในเมืองไทย ณ กาละแห่งวินาทีนี้
ต่างพากันตื่นตัวกันในเรื่อง "อีคิว" (Emotional Quotient)
ถึงขนาดตื่นเต้นก็ว่าได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องดีมาก เพราะเป็นเรื่องของการศึกษา
ด้านจิตวิทยาฝึกฝนปรับปรุง "อารมณ์" หรือ "ความรู้สึก"
นั่นเอง แถมท่านผู้รู้ทั้งหลายต่างก็เห็นสอดคล้องกันด้วยว่า
"อีคิว" นี้สำคัญยิ่งไปกว่า "ไอคิว" (Intelligence
Quotient) เสียอีก การเข้าใจอย่างนี้ก็เป็นเรื่องที่ดียิ่งขึ้นไปอีก
เพราะ แสดงถึงภูมิปัญญามนุษย์ในสังคมปัจจุบันนี้ว่า มีความก้าวหน้าในด้านจิตวิทยาเพิ่มขึ้น
ที่จริงนั้น "ไอคิว" ก็ดี
"อีคิว" ก็ดี ก็ล้วนเป็นเรื่องของการพัฒนา "จิต"
ด้วยกันทั้งนั้น หากปรับปรุงกันที่ "จิต" ไอคิวก็สูงขึ้นได้
อีคิวก็สูงขึ้นได้ และเป็นประโยชน์ ต่อผู้สามารถพัฒนาไอคิว หรือ
อีคิวของตน พร้อมกันนั้น ก็เป็นประโยชน์ต่อ สังคมมวลมนุษยชาติส่วนรวม
ทั้งโลกได้อีกด้วย
แต่ก่อนหลงกันว่า ไอคิวเท่านั้นสำคัญ
เพราะเชื่อกันว่า หากใครมีไอคิวสูง คนผู้นั้นจะมีชีวิตประเสริฐเจริญรุ่งเรืองแน่ๆ
เพราะเป็นคนฉลาดเฉลียว เป็นคนมีของดีในตัว เป็นผู้ได้เปรียบคนอื่น
เนื่องจากมีการเชื่ออีกว่า ไอคิวมีประจำตัวมาแต่เกิด เป็นเรื่องของ
ความฉลาดพิเศษ เพราะได้มันสมองดีติดตัวมาแต่อ้อนแต่ออก ซึ่งเชื่อกันอีกแหละว่า
"ไอคิว" ของแต่ละคน ใครมีมาแต่เกิดเท่าใดก็มีไปตลอดตายเท่านั้น
ไม่มีการพัฒนาเพิ่มอีกได้ แต่ตอนหลังก็มีนักจิตวิทยาบางพวกเชื่อว่า
"ไอคิว" สามารถพัฒนาให้เจริญเพิ่มเติมได้ ยิ่งมีภูมิปัญญามาถึงวินาทีนี้
ด้านจิตวิทยา ก้าวหน้าขึ้นมาถึงขั้น "อีคิว" ก็เลยยิ่งต่างก็เห็นว่า
ไอคิวสามารถพัฒนาให้เจริญเพิ่มเติมใหม่ขึ้นอีกได้
เพราะเมื่อได้เรียนรู้เรื่อง "อารมณ์"
หรือ "ความรู้สึก" (emotion) มากขึ้นก็เลยชักจะมีพัฒนาการทางปฏิภาณขึ้นมาว่า
"อารมณ์" (emotion) นี่ไซร้ มันก็คือ "จิต"
เพราะการพัฒนา "อารมณ์" ก็คือ ต้องพัฒนา "ความฉลาดของจิต"
เสียก่อน ให้ "ความฉลาด" มีความเข้าใจในเรื่องของอารมณ์
ซึ่งมันเป็นไปได้ต่างๆสารพัด เมื่อเข้าใจแล้ว ก็พัฒนาจิตหรือพัฒนาอารมณ์อีกที
ให้พัฒนาขึ้นตามนัยที่เราเข้าใจ ก็เลยมีปฏิภาณขึ้นมาว่า "ความเฉลียวฉลาด"
แม้จะเป็นระดับ "ไอคิว" ก็สามารถพัฒนาจากเดิมได้ เพราะ
"ความฉลาด" มันก็คือ "จิต" มันไม่ใช่ "ตัวมันสมอง"
ที่มีเท่าใดก็เท่านั้นมาตั้งแต่เกิด ตามที่เคยหลงผิด
เมื่อมีภูมิปัญญามากขึ้น ดังนี้จึงพลอยมีพัฒนาการ
ทางปฏิภาณขึ้นมาอีกว่า หากเป็นเช่นนั้น "ไอคิวหรือวุฒิภาวะทางความฉลาด"
(Intelligence Quotient) มันก็คือ "หนึ่งในจิต" ด้วยหนะซี
เมื่อสามารถปรับปรุงพัฒนาอารมณ์อันเป็น "หนึ่งในจิต"
ได้ มันก็ต้องสามารถปรับปรุงพัฒนา "ความเฉลียวฉลาด"
หรือ "วุฒิภาวะทางความฉลาด" (ไอคิว) ของคนขึ้นได้ด้วยแน่
ความจริงนั้นคนไทยเป็นชาวพุทธเกือบทั้งประเทศ
แต่ก็ยังไม่มีความรู้ทาง "จิตวิทยา" ดีพอ ยังต้องตามก้นต่างชาติต้อยๆในเรื่ออง
"จิตวิททยา"
น่าอดสูใจนัก
!
ศาสนาพุทธสอนเรื่องเกี่ยวกับ "จิต"
ไว้อย่างสมบูรณ์ที่สุด ไม่ว่าจะเป็น "อารมณ์" หรือ
"เวทนา" ก็สอนให้รู้สึกเข้าไปถึงกระทั่ง "เวทนา
๑๐๘ นัย" ไม่ว่าจะเป็น "ปัญญา" หรือ "ความฉลาด"
ก็สอนให้รู้กระจ่างทั้ง "ความฉลาดอย่างโลกีย์" และพ้นสามัญไปถึง
"ความฉลาดอย่างโลกุตระ" ไม่ว่าจะเป็น "ศีลธรรม"
หรือ "จริยธรรม" ก็สอนละเอียดครบหมดทั้ง "ธรรมแค่ปุถุชนหรือธรรมขั้นกัลยาณชนและธรรมขั้นอาริยชน"
ไม่ว่า "สุข" ก็สอนทั้ง "สุขโลกีย์-สุขโลกุตระ"
ซึ่งทั้งหมดทั้งหลายนั้น มี "จิตเป็นประธาน"
(มโนปุพพังคมา ธัมมา) ทั้งสิ้นเรียนรู้เรื่องจิตแบบพุทธแล้ว
สามารถปรับปรุง "จิต"ให้เจริญได้ทุกนัย โดยเฉพาะพุทธสอน
"จิตวิทยา" ถึงขั้นทำจิตให้บรรลุนิพพานได้จริง.
สมณะโพธิรักษ์
|