[เลือกหนังสือ]      ปก | คำนำ | สารบัญ | ภาคผนวก | คัชนี
page: 8/20
Colse

สารบัญ
บทที่ 1
ฉลาดชัดตัดกิเลส

[1]
[2]

บทที่ 2
อวิชชาของคนฉลาด
[3]
[4]

บทที่ 3
พัฒนาอารมณ์
[5]
[6]

[7]

[8]

บทที่ 4
ความแตกต่าง
ระหว่าง
พุทธกับฤาษี
[9]
[10]

[11]
[12]

บทที่ 5
คุณวิเศษของพุทธ
[13]
[14]

[15]

บทที่ 6
อีคิวโลกุตระ
[16]
[17]

[18]

บทที่ 7
หลักปฏิบัติสำคัญ ของศาสนาพุทธ

[19]
[20]

 

อีคิวโลกุตระ... สมณะโพธิรักษ์ / บทที่ 3


การปฏิบัติตามลำดับ

และหากจะดูลำดับของการปฏิบัติ จากพระไตรปิฎก เล่ม ๙ ทุกสูตร ก็จะเห็นได้ว่า “ไตรสิกขา” คือ อธิศีลสิกขา…อธิจิตสิกขา…อธิปัญญาสิกขา ที่เป็นหลักเอกหลักแท้ของศาสนาพุทธโดยตรงนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสเรื่อง “ศีล” (จุลศีล – มัชฌิมศีล – มหาศีล) เสร็จแล้ว ต่อมาภาคปฏิบัติก็ “อินทรียสังวร” ซึ่งต้องปฏิบัติในขณะที่มี “ตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ” อันเป็นทวาร ๖ เปิดรับรู้ด้วย “ผัสสะ” เป็นปัจจัย จิตขึ้นรับวิถีในขณะมีชีวิตปกติลืมตาสามัญอัน “กามคุณ ๕“ ย่อมเกิดใน “กามภพ”

การละล้างจางคลาย “นิวรณ์ ๕“ จึงต้องละล้างทำลายกันอย่างเห็นๆ เป็นปัจจุบัน ในขณะที่มันเกิดจริงเป็นจริง ซึ่งเมื่อคุ้มครองทวาร ในอินทรีย์ทั้งหลาย ประกอบด้วย “สติสัมปชัญญะ” ทำ “ความรู้สึกตัว” หรือที่แท้ก็คือ ฝึกฝนเรียนรู้ “อารมณ์” (emotion) ของตนในทุกขณะที่ก้าวไป ถอยกลับ แลดู เหลียวดู คู้เข้า เหยียดออก ทำธุระกับอุปโภคต่างๆก็ดี ทำธุระกับการบริโภคนานาก็ดี แม้ถ่ายอุจจาระ ถ่ายปัสสาวะ หรือจะเดิน จะยืน จะนั่ง จะนอน จะตื่น จะพูด จะนิ่ง ฯลฯ ทุกอิริยาบทล้วนต้องปฏิบัติเพื่อให้เกิด “ฌาน” ทั้งสิ้น (พระไตรปิฎก เล่ม ๙ ข้อ ๑๒๓ - ๑๒๕)

สรุปแล้ว ก็ศึกษาฝึกฝนตนไปทุกอิริยาบถ ขณะมีชีวิตปกตินั่นแหละ เป็นการปฏิบัติธรรม แล้วก็ปฏิบัติให้ละลดปลดปล่อยให้ได้ ทั้งวัตถุภายนอก และ ทั้งกิเลสนิวรณ์ภายใน กระทั่งเป็นผู้สันโดษ มักน้อย ใน “กามภพ” หรือใน “โลกียะ” ตามที่เป็นจริงมีจริง ด้วยทฤษฎี “โพธิปักขิยธรรม ๓๗“

เมื่อปฏิบัติมีการ “เพ่งและเผา” อยู่ ก็คือทำ “ฌาน” อยู่ หรือด้วยการกำหนดรู้ให้เจริญ “ปริญญา ๓“ ละล้างจางคลาย “กิเลสตัณหาอุปาทาน” ลงไปได้ตามลำดับในขณะปฏิบัติไปกับทุกอิริยาบถนั้น หรือตามหลักปฏิบัติอันเอกตรงที่สุดก็…ทั้งในขณะนี้ “การตริตรึกนึกคิด” อันคือ “สังกัปปะ” ก็ต้องพยายามละล้างจางคลาย “กามวิตก…พยาบาทวิตก…วิหิงสาวิตก” ทำให้พ้น “มิจฉาสังกัปปะ ๓“ ขณะมี “การพูด” อันคือ “วาจา” ก็ต้องพยายามละล้างจางคลาย “มุสา…ส่อเสียด…หยาบคาย…เพ้อเจ้อ” ทำให้พ้น “มิจฉาวาจา ๔“ ขณะมี “การกระทำต่างๆ” อันคือ “กัมมันตะ” ก็ต้องพยายามละล้างจางคลาย “ปาณาติบาต…อทินนาทาน…กาเมสุมิจฉาจาร” ทำให้พ้น “มิจฉากัมมันตะ ๓“ และขณะ “ทำการงานอาชีพ” อันคือ “อาชีวะ” ก็ต้องพยายามละล้างจางคลาย “กุหนา…ลปนา…เนมิตตกตา…นิปเปสิกตา…ลาเภน ลาภัง นิชิคิงสนตา” ทำให้พ้น “มิจฉาอาชีวะ ๕“ ในขณะปฏิบัติก็มี “สัมมาวายามะ” ร่วมกับ “สัมมาสติ” หรือมี “สติสัมโพชฌงค์” (มี “สติปัฏฐาน ๔“ ครบครันนั่นเอง) ร่วมกับ “ธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์” (มี “โพชฌงค์ ๗“ ครบครันยิ่งถูกต้อง) ทำงานประกอบไปด้วย

สรุปแล้ว ก็เป็นการปฏิบัติให้เกิด “สัมมาอาริยมรรค อันมีองค์ ๘“ ร่วมกับ “โพชฌงค์ ๗“ หรือถ้าไม่งงก็มี “สติปัฏฐาน ๔ …สัมมัปปธาน ๔ …อิทธิบาท ๔“ ครบครัน เพื่อสร้าง “อินทรีย์ ๕ และ พละ ๕“ อย่างเต็มสูตรของ “โพธิปักขิยธรรม ๓๗“ นั่นเอง

ครั้นปฏิบัติกระทั่งมีมรรคผลถึงขั้น “ละล้าง” หรือ “เผา, กำจัด” (ปหาน) ได้ไปเรื่อยๆ นั่นแหละคือ กำลังก่อเกิดความเป็น “ฌาน” แบบพุทธ ผลที่ได้ถึงขีด “ตั้งมั่น” เรียกว่า “สัมมาสมาธิ” ซึ่ง ไม่ใช่ “สมาธิ” ทั่วๆไปแน่ๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว (“สัมมาสมาธิ” ดูในพระไตรปิฎก เล่ม ๑๔ ข้อ ๒๕๒ - ๒๘๑)

หากฝึกฝนกระทั่ง มีผลจนชื่อว่า เป็นผู้ประกอบด้วย อาริยศีลขันธ์ อาริยอินทรียสังวร อาริยสติสัมปชัญญะ และอาริยสันโดษ (พระไตรปิฎก เล่ม ๙ ข้อ ๑๒๕) ปานฉะนี้แล้ว เมื่อพักอยู่ในที่เงียบที่สงัดพอควร ก็หาโอกาสนั่งตั้งสติตรวจตราดูความเป็นความมีทั้งนอกและในของตนดูบ้าง ว่า เราปฏิบัติละลดปลดปล่อยทั้งวัตถุ ทั้งกิเลส จนสันโดษ จนมักน้อยลงได้จริงนั้น มันเป็น “อารมณ์” (emotion) อย่างไร เฉพาะอย่างยิ่งตรวจดู “จิต” ของตนดูทีรึว่า “อารมณ์” ของเราหรือ “จิต” ของเราที่มีลักษณะอาการปราศจาก “นิวรณ์ ๕“ นั้นมันเป็นอย่างไร จะได้รู้จักความเป็น “อารมณ์ฌาน” (emotion ที่เรียนรู้ขั้นรูปภพ) อย่างชัดเจน ถ้าใช้ “เตวิชโช” (วิชชา ๓) ได้ยิ่งดีที่สุด แต่เมื่อยังไม่มี “วิชชา ๓“ ก็ตรวจด้วยวิธีง่ายๆ โดยการ “นั่งตั้งกายตรงดำรงสติเฉพาะหน้า” ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้นั่นแล เพ่งตรวจดูตนทั้งภายนอกและภายใน เฉพาะอย่างยิ่งภายใน “จิต”

หากเป็น “ฌาน” ในจิตเราก็จะมี “วิตกวิจาร…ปีติ…สุข…เอกัคคตา” เป็น “อารมณ์ของฌาน ๑“ อันเป็น “รูปฌาน” หรือเป็น “รูปภพ” ก็ต้องฝึกฝนตรวจตราให้เกิด “วิชชา” ใน “ภูมิรูปฌาน” ไปตามลำดับ ซึ่งเราจะเจริญสู่ความเป็น “รูปฌาน ๔“ ได้แค่ไหนอย่างไร ก็ต้องเรียนรู้ “อารมณ์ฌาน” กันเรื่อยไป ว่ามีคุณภาพเป็น “ฌาน ๑“ หรือ “ฌาน ๒“ กันหรือยัง และเลื่อนขึ้นเป็น “ฌาน ๓“ ได้หรือยัง จนกว่าจะเลื่อนขึ้นเป็น “ฌาน ๔“ ได้

“ฌาน” ของพุทธนั้น คือ การสร้างมรรคผลที่ปฏิบัติได้ไปตามลำดับ หรือคือ การละล้างกิเลสตัณหาอุปาทานไปตลอดสายของการปฏิบัติ และย่อมกำจัดกิเลสตัณหาอุปาทานไปตามลำดับ ดังนั้น ตั้งแต่ “ฌาน ๑“ ก็สามารถดับกิเลสตัณหาอุปาทานในส่วนที่เป็น “สักกายะ” หรือกิเลสแต่ละเรื่อง แต่ละตัวของตนๆนั้นๆ จนสิ้นอา-สวะเป็นเรื่องๆเป็นตัวๆไปได้ เหลือกิเลสตัณหาอุปาทานตัวต่อไปขั้นต่อๆไป ก็พึงกำจัดมันต่อไปอีก และแม้ “ฌาน ๒“ ก็สามารถดับกิเลสตัณหาอุปาทานในส่วนที่เป็น “สักกายะ” หรือกิเลสแต่ละเรื่องแต่ละตัว ส่วนที่เหลือนั้นๆของตนๆ จนสิ้นอาสวะเป็นเรื่องๆไปได้อีก และ “ฌาน ๓“ ก็เช่นกัน ย่อมสามารถกำจัดกิเลสแต่ละเรื่องแต่ละตัวจนสิ้นอาสวะไปได้อีก ที่สุดเมื่อถึง “ฌาน ๔“ ก็คือเข้าสู่ความเป็นขั้นปลายของกิเลสตัณหาอุปาทานที่เหลือระดับสูงอีกนั้น ทั้งหมดจาก “ฌาน ๑ กระทั่งถึง ฌาน ๔“ ถือเป็นขั้น “รูปสัญญา”

พระพุทธเจ้าตรัสว่า…เรากล่าวว่า รูปสัญญาดับในที่ใด และท่านเหล่าใดดับรูปสัญญา ได้แล้วๆ อยู่ในที่นั้น ท่านเหล่านั้นไม่มีความอยาก (นิจฉาตา) ดับสนิทแล้ว ข้ามได้แล้ว ถึงฝั่งแล้วด้วย “องค์ฌาน” นั้นเป็นแน่ ผู้ใดพึงถามอย่างนี้ว่า “รูปสัญญาดับในที่ไหน และใครดับรูปสัญญาได้แล้วๆอยู่ เราไม่รู้ผู้นี้ เราไม่เห็นผู้นี้” เธอทั้งหลายพึงตอบผู้นั้นอย่างนี้ว่า “ผู้มีอายุ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะล่วงรูปสัญญา โดยประการทั้งปวง เพราะดับปฏิฆ-สัญญา เพราะไม่ใส่ใจถึงนานัตตสัญญา บรรลุอากาสานัญจายตนฌาน เพราะคำนึงเป็น “อารมณ์” (emotion) ว่า “อากาศหาที่สุดมิได้” รูปสัญญา ย่อมดับใน “องค์ฌาน” นี้ และท่านเหล่านั้นดับรูปสัญญาได้แล้วๆอยู่” ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอเป็นผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยาเป็นแน่ พึงชื่นชมยินดีภาษิตว่า “สาธุ” ครั้นแล้วพึงนมัสการอัญชุสีเข้าไปนั่งใกล้ (พระไตรปิฎก เล่ม ๒๓ ข้อ ๒๓๗)

ใน ข้อ ๒๓๖ ก่อนจะถึง ข้อ ๒๓๗ นี้ พระพุทธเจ้าตรัสระบุ “ธรรมเป็นเครื่องอาศัยตามลำดับ ๙ ประการ” (อนุปุพพวิหารธรรม) ไว้ชัดเจนอีก คือ

๑. ฌาน ๑ ๒. ฌาน ๒ ๓. ฌาน ๓ ๔. ฌาน ๔

๕. อากาสานัญจายตนฌาน ๖. วิญญาณัญจายตนฌาน

๗. อากิญจัญญายตนฌาน ๘. เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน

๙. สัญญาเวทยิตนิโรธ

นี่คือ “เครื่องอาศัย” ในอารมณ์ “อารมณ์” ต้องมี “เครื่องอาศัย” (วิหาร) และ “เครื่องอาศัย” ก็ไม่นอกไปจากใน “อารมณ์” (emotion) หรือใน “จิต” ที่มีอะไรต่ออะไรต่างๆอยู่ในนั้นนี่แหละ ที่เราจะเรียนรู้ทั้งหมด

เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมแบบพุทธ ก็จะบรรลุธรรมตามลำดับ เข้าไปรู้แจ้งเห็นจริงในทุกๆ “อารมณ์” และวิจัยเข้าไปใน “อารมณ์” (emotion) จนสามารถหยั่งรู้เหตุปัจจัยต่างๆด้วย “วิชชา ๙“ ของพระพุทธเจ้า อันเป็น “เครื่องรู้” ที่พิเศษสุด ซึ่งต้องปฏิบัติจริงอย่าง “สัมมาทิฏฐิ” จึงจะเป็นจริง มีประสิทธิภาพสัมบูรณ์ (absolute) และจะเป็นไปตามหลัก ที่พระพุทธเจ้าทรงตราไว้เหล่านี้แน่นอน

การรู้ “อารมณ์” (emotional quotient แบบพุทธที่เป็นโลกุตระ) จะต้อง “ศึกษาฝึกฝนเพื่อรู้เพื่อเป็นให้ได้” ตั้งแต่ “ฌาน ๑“ ไปทั้งหมดถึงสุดท้าย เราจึงต้อง “รู้แจ้งเห็นจริง” ความเป็นจริง (ภาวะ) นั้นๆ ว่า มันมีอาการลักษณะอย่างไรอยู่ในนั้นจริงๆ แม้แต่ในนั้นจะเบาบาง ละเอียดถึงขั้น “อุเบกขา” ก็ดี “อากาสานัญจายตนะ” ก็ดี กระทั่ง “สัญญาเวทยิตนิโรธ” ทีเดียว

ชาวพุทธที่สัมมาทิฏฐิ จะเรียนรู้ “อีคิว” (Emotional Quotient) และปฏิบัติต่อ “อีคิว” ละเอียดลออถึงขนาดนี้กันเทียวแหละ

อาตมาได้พูดถึงมรรคผลที่เกิดที่เป็นขึ้นมา ก็จะได้มรรคผลไปตามลำดับ ตั้งแต่ได้มรรคผลจาก “โลกียภูมิ” เริ่มก้าวเข้าถึงความเป็น “ฌาน ๑“

คำตรัสของพระพุทธเจ้า ก็คือ…เรากล่าวว่า

“ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย” เพราะอาศัย ฌาน ๑ บ้าง
“ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย” เพราะอาศัย ฌาน ๒ บ้าง
“ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย” เพราะอาศัย ฌาน ๓ บ้าง
“ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย” เพราะอาศัย ฌาน ๔ บ้าง
“ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย” เพราะอาศัย อากาสานัญจายตนฌาน บ้าง
“ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย” เพราะอาศัย วิญญาณัญจายตนฌาน บ้าง
“ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย” เพราะอาศัย อากิญจัญญายตนฌาน บ้าง
“ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย” เพราะอาศัย เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน บ้าง
“ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย” เพราะอาศัย สัญญาเวทยิตนิโรธ บ้าง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า

“ตวามสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย” เพราะอาศัย ฌาน ๑ บ้าง ดังนี้นั้น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศล บรรลุฌาน ๑ มีวิตกวิจารเกิดแต่วิเวกอยู่ กามทั้งหลายย่อมดับในฌาน ๑ นี้ และท่านเหล่านั้นดับกามได้แล้วๆอยู่ ฯ

สังเกตให้ดีๆก็จะเห็นว่า แค่ “ฌาน ๑“ นี้เท่านั้น ความเป็นมรรคผล ตั้งแต่เริ่มเข้าสู่มรรค กระทั่งสู่ผลจนสามารถถึง “ความสิ้นไปแห่งอาสวะ” ทั้งหลาย นั่นคือ มี “อรหัตตผล” ได้แม้แต่ในระดับขั้น “ฌาน ๑“ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ในพระไตรปิฎก เล่ม ๒๓ ข้อ ๒๔๐ ที่เพิ่งผ่านมานั้นยืนยันอยู่อย่างชัดเจนแล้ว

“อรหัตตผล” ก็คือ การดับสิ้น “กิเลส” ตัวนั้นจนถึงขั้น “ดับอาสวะ” หรือ “ดับอนุสัย” อันเป็นกิเลสอาการขั้นปลายของกิเลสตัวนั้นๆ ชนิดไม่กลับกำเริบอีก หรือความไม่เวียนกลับมาเกิดอีก เรียกว่า “อกุปปธรรม”

“ความสิ้นอาสวะ” ในแต่ละกิเลส ในแต่ละขั้นตอนนี้ มีไปเรื่อยๆตาม “อรหัตตผล” ที่ได้จริงสั่งสมขึ้นกระทั่งถึงขั้นรอบต้นก็เรียกว่า “โสดาบัน” ตามขีดขั้น ขีดขั้นรอบต่อไปก็เป็น “สกทาคามี” ขีดขั้นรอบต่อไปอีกก็ “อนาคามี” และรอบสุดท้ายก็ “อรหันต์”

เมื่อเข้าใจดีถึงสภาพของ “อรหัตตผล” หรือ “ความสิ้นอาสวะกิเลส” อันเกิดอยู่ตลอดสายของมรรคผลที่ปฏิบัติได้ไปเรื่อยๆ ไม่ได้หมายความว่า “อรหัตตผล” นั้นจะจำเพาะเป็นของพระอรหันต์ตำแหน่งเดียว ดังนั้น เมื่อถึงรอบของความมี “ผล” ครบขีดขั้นของ “ความสิ้นอาสวะแห่งกิเลสตัวใดๆ” ในคนที่แค่ยังมี “ภูมิโสดาบัน” ทุกตัว เราจึงกล่าวได้เช่นกัน ว่า อาริยธรรมของพุทธนั้น มี “ความเป็นอรหันต์ในโสดาบัน” ก็ถูกต้องตามสภาวะจริง หรือแม้จะกล่าวว่า มี “อรหันต์ในสกทาคามี” มี “อรหันต์ในอนาคามี” และสุดท้าย “อรหันต์ในอรหันต์” หรือยิ่งพิเศษสุดก็มี “อรหันต์ในอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า” เป็นสุดยอดแห่งยอด ผู้เข้าใจดีแล้วก็คงจะไม่งงไม่สับสนเป็นแน่

ในขณะที่เป็น “ฌาน” จึงมิใช่ว่า ไม่มี “วิมุติ” เพราะ “อรหัตตผล” ทุกสภาพ นั่นก็คือ “วิมุติ” จากกิเลสทุกตัวอยู่แล้ว หากปฏิบัติธรรมเจริญถึงขีดเป็น “ฌาน” แม้แต่ใน “ฌาน ๑“ ถ้ามีผลสูงขึ้นๆถึงขีดเข้าขั้น “วิมุติ” หรือ “สิ้นอาสวะ” ก็ย่อมได้ และต้องเป็นเช่นนั้น จึงจะชื่อว่า เจริญบริบูรณ์

และใน “ฌาน” นั้นแหละ ย่อม มี “วิชชา ๙“ ด้วย เพราะดังได้รู้แล้ว จากที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดว่า “บรรลุถึงขั้น “สิ้นอาสวะ” ได้เพราะเหตุแห่งฌาน ๑“ เป็นต้นไปทีเดียว “ฌาน ๒“ ก็ถึงสิ้นอาสวะได้ “ฌาน ๓“ ก็ได้ “ฌาน ๔“ ก็ได้ “อากาสานัญจายตนฌาน” ก็ได้ “วิญญาณัญจายตนฌาน” ก็ได้ “อากิญจัญญายตนฌาน” ก็ได้ “เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน” ก็ได้ ยิ่ง “สัญญาเวทยิตนิโรธ” นั่นยิ่งได้แน่นอน เป็นการ “สิ้นอาสวะ” สุดท้ายเป็น “อรหันต์ในอรหันต์” ทีเดียว

การ “สิ้นอาสวะ” ก็คือ ต้องมี “อาสวักขยญาณ” จึงจะเรียกว่า “สิ้นอาสวะ” ได้ ต้อง “ทั้งเป็นทั้งรู้ในตัวเอง ด้วย ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ” คือ ตนเองต้อง “เป็นเอง” และ “รู้ของตัวเอง” ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะตน และมี “ของจริง” (ภาวะ) นั้นๆ ประจักษ์อยู่โต้งๆ สัมผัสได้ด้วยตนจริง ดังที่ได้อธิบายมาแล้ว ชนิดเป็นจริงๆเห็นแจ้งๆ ไม่ใช่สิ่งลึกลับ และไม่ใช่ยิ่งสูงยิ่งคลุมเครือ ยิ่งงมงาย งมๆคลำๆ เดาๆกันไป เยี่ยง “สิ่งสูง” ในลัทธิอื่น

“อาสวักขยญาณ” ก็คือ “วิชชา” ข้อที่ ๙

“วิชชา” ตั้งแต่ข้อที่ ๑ ถึงข้อที่ ๙ เป็นวิชชาของพุทธ ที่ต้องเกิดจริงเป็นจริง ไปพร้อมกับการปฏิบัติธรรม ซึ่งจะมี “ศีล” ที่เจริญสูงขึ้นๆเป็น “อธิศีล” อันพ้นทั้ง “สิลัพพตุปาทาน” และพ้นทั้ง “สีลัพพตปรามาส” “จิต” ก็เจริญเป็นมรรคเป็นผลขึ้นสู่ความเป็น “อธิจิต” นั่นคือ จิตจะเป็น “ฌาน” เป็น “สัมมาสมาธิ” และเป็น “วิมุติ” พร้อมทั้ง “ปัญญา” ที่เจริญขึ้นๆเป็น “อธิปัญญา” นั่นคือ เจริญจาก “ปริญญา ๓” สู่ความเป็น “วิชชา ๙” และการเจริญ “วิชชา ๙” ก็คือ การเจริญของ “ปัญญา” อันเริ่มจาก “สัมมาทิฏฐิ” แล้วจึงจะพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในพระไตรปิฎก เล่ม ๑๔ ข้อ ๒๕๖ – ๒๕๘ ว่า

    1. “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ “สัมมาทิฎฐิ” เป็นไฉน เรากล่าว “สัมมาทิฏฐิ” เป็น ๒ อย่าง คือ “สัมมาทิฏฐิ” ที่ยังเป็น “สาสวะ” เป็นส่วนแห่งบุญ (ปุญญภาคิยา) ให้ผลแก่ขันธ์ (อุปธิเวปักกา) อย่าง ๑ “สัมมาทิฏฐิ” ของพระอาริยะ ที่เป็น “อนาสวะ” เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค อย่าง ๑ ฯ”
    2. “สิมมาทิฏฐิ” ที่เป็น “สาสวะ” เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์ เป็นไฉน คือ ความเห็นดังนี้ว่า
        1. ทานที่ให้แล้ว มีผล (อัตถิ ทินนัง)
        2. ยัญที่บูชาแล้ว มีผล (อัตถิ ยิฏฐัง)
        3. สังเวยที่บวงสรวงแล้ว มีผล (อัตถิ หุตัง)
        4. ผลวิบากของกรรมที่ทำดีทำชั่วแล้ว มีอยู่ (อัตถิ สุกตทุกกฏานัง กัมมานัง ผลัง วิปาโก)
        5. โลกนี้ มี (อัตถิ อยัง โลโก)
        6. โลกหน้า มี (อัตถิ ปโร โลโก)
        7. มารดา มี (อัตถิ มาดา)
        8. บิดา มี (อัตถิ ปิตา)
        9. สัตว์ที่เป็นโอปปาติกะ มี (อัตถิ สัตตา โอปปาติกา)
        10. สมณพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ ซึ่งประกาศ “โลกนี้ โลกหน้า” ให้แจ่มแจ้ง เพราะ “รู้ยิ่งด้วยตนเอง” (สยัง อภิญญา) ในโลก มีอยู่ (อัตถิ โลเก สมณพราหมณา สัมมัคคตา สัมมาปฏิปันนา เย อิมัญจ โลกัง ปรัญจ โลกัง สยัง อภิญญา สัจฉิกัตวา ปเวเทนติ)

      นี้ สัมมาทิฏฐิ ที่ยังเป็น สาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์

    3. “ก็สัมมาทิฏฐิของพระอาริยะ ที่เป็น “อนาสวะ” เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปัญญา (ปัญญา) ปัญญินทรีย์ (ปัญญินทริยัง) ปัญญาพละ (ปัญญาผลัง) ธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์ สัมมาทิฏฐิ องค์แห่งมรรค ของภิกษุผู้มีจิตไกลข้าศึก มีจิตหาอาสวะมิได้ พรั่งพร้อมด้วยอาริยมรรค เจริญอาริยมรรคอยู่ ฯ” ดังนี้

การปฏิบัติไปตาม “อาริยมรรค” พรั่งพร้อมด้วยองค์ทั้ง ๘ และพัฒนาให้เกิด “สัมมา” ในองค์ทั้ง ๘ ของ “อาริยมรรค” ยิ่งๆขึ้น นั่นก็คือ “ปัญญา” ย่อมเจริญเป็น “อธิปัญญา” ไปตามลำดับๆ จาก “ปัญญา” แล้วก็เจริญสู่ “ปัญญินทรีย์” และสุดท้ายก็เป็น “ปัญญาผล” หรือ “ปัญญาพละ” ซึ่งจะมี “ธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์” ที่เป็นคุณธรรมสำคัญทำหน้าที่อยู่ใน “องค์แห่งมรรค” กอปรก่อสรรสร้างพัฒนาให้เกิดเป็น “สัมมาทิฏฐิ” เจริญขึ้นๆก้าวขึ้นไปเป็น “ปัญญา” แล้วก็เจริญขึ่นไปเป็น “ปัญญินทรีย์” จนถึงขั้นสุดเป็น “ปํญญาผล” หรือ “ปัญญาพละ”

ซึ่งพัฒนาการของ “ปัญญา...ปัญญินทรีย์...ปัญญาพละ...ธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์...สัมมาทิฏฐิ...องค์แห่งมรรค” นี้ เป็นปฏิสัมพันธ์อันซับซ้อนอย่างเป็นระบบที่ลึกซึ้งวิเศษ ในที่นี้อาตมาขอไม่อธิบาย ไว้ค่อยอธิบายโอกาสหน้า

แม้ในประเด็นของ “สัมมาทิฏฐิที่ยังเป็นอาสวะ” ก็เป็นความลึกซึ้งที่ละเอียดสำคัญอย่างยิ่งที่ควรจะรู้ให้ละเอียด แต่อาตมาคงยังไม่มีโอกาสในที่นี้ ก็ขอผัดไปก่อนแล้วกัน

ตอนนี้ขอพูดต่อในเรื่องของ “ปัญญา” ที่ก้าวหน้าเป็น “วิชชา” อีกนิด ก็จะสามารถเห็นได้ว่า ใน “ฌาน” นั่นเอง จะมี “วิชชา” เกิดพร้อมไปอยู่เสมอ ตามลำดับแห่งความพัฒนาในภาคปฏิบัติที่ “สัมมาทิฏฐิ” ซึ่งเป็นการเจริญใน “ไตรสิกขา” แท้ ไม่ขาดหกตกหล่น

“วิชชา” คือ “อนุสาสนีปาฏิหาริย์” จริง และต้องมีประกอบไปกับการปฏิบัติที่เจริญจริง ไม่ใช่เรื่องพิเศษที่ลึกลับ ที่คลำหาทางเป็นไปได้ไม่พบ แต่เป็น “ความจริงวิเศษลึกซึ้ง” อันมีเหตุมีปัจจัยที่แท้ ที่สามารถเรียนรู้ และปฏิบัติจนเกิดจนเป็นจริงได้ ท้าทายให้มาพิสูจน์ได้ (เอหิปัสสิโก)

ที่พูดมาทั้งหลายแหล่นั้น เป็นหลักวิชาที่ควรรู้ อาตมาจำเป็นที่จะต้องกล่าวถึงบ้าง ที่จริงนั้นมีละเอียดลึกซ้อนยิ่งกว่านี้อีกนักกว่านัก แต่เท่านี้ก็รู้สึกว่าจะมากไปหน่อยแล้ว สำหรับการอธิบายเกี่ยวกับเรื่อง “อีคิว” ซึ่งจะต้องกล่าวพอให้เห็นว่า “อีคิวโลกุตระ” นั้นมีจริง ใครรู้สึกหนักไปก็ขออภัย

ปฏิบัติชัดวัดผลได้

ผู้มี “อารมณ์” (emotion) เข้าขั้นที่เรียกว่า “มีพุทธ” หรือมี “คุณสมบัติแห่งพุทธะ” ในตนจริง ก็จะเป็น “ผู้รู้...ผู้ตื่น...ผู้เบิกบาน” หรือเป็นผู้ที่มีทั้ง “รู้” ทั้ง “ตื่น” อันเป็นสติบริสุทธื์อยู่ ทั้งมี “อารมณ์เบิกบานใจ และสุขใจ” ยิ่งๆอย่างแท้จริง สุขทั้งกายสุขทั้งใจ แถมจิตใจตั้งมั่นแข็งแรงอีกต่างหาก จะไม่ใช่คนเฉื่อยๆ เฉยๆ จืดๆ แห้งๆ ยิ้มมากก็ไม่ได้ หัวเราะก็ไม่ได้ ตามที่คนมักจะเดากัน เพราะมีตำราว่าไว้อย่างนั้นมาก จึงพากันเดาว่า คนที่หมด “สุข” หมด “ทุกข์” ก็คงจะเป็นคน “อารมณ์” จืดๆ ยิ่งแถมด้วยคำว่า “อุเบกขา” เข้าไปอีก ก็เลยยิ่ง “ทั้งจืดทั้งเฉยเมย ทั้งไม่เอาถ่านอะไรทั้งนั้น นั่นคือ การเดาของคนที่ “มิจฉาทิฏฐิ” และ “อวิชชา” แท้จริง

ขอยืนยันว่าคนที่ละ “สุข” เพราะละ “ทุกข์” โดยกำจัด “เหตุแห่งทุกข์” ได้ถึงก้นบึ้งของจิตขั้น “อนุสัย – อาสวะ” นี้ ไม่ใช่คนวางๆว่างๆแบบไม่ขยัน ไม่ขวนขวาย ไม่สร้างสรร ไม่กระตือรือร้น เฉยเมย กลายเป็นคนไม่เอาถ่าน หลบลี้ หนีหน้า เอาแต่หลงติดป่า เป็นอันขาด

และไม่ใฃ่คนเฉื่อยๆ เฉยๆ จืดๆ ชืดๆ แห้งๆ ยิ้มมากก็ไม่ได้ หัวเราะก็ไม่ได้ ตามที่คนมักจะเดากันแน่

ผู้มี “อีคิวโลกุตระ” ของพุทธนั้น จะเบิกบานใจ สุขใจ สดชื่น และเป็นผู้ขยัน ขวนขวาย สร้างสรร เสียสละ อยู่ทีเดียว หากเป็นผู้เจริญสัมบูรณ์ แท้จริง ก็จะประกอบไปด้วย “คุณภาพ ๗ ประการ” ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า จะมี...ความระลึกถึงกัน (สาราณียะ) มีความรักกัน (ปิยะกรณะ) มีความเคารพกัน (ครุกรณะ) มีความเกื้อกูลสงเคราะห์กัน (สังคหะ) มีความไม่วิวาทกัน (อวิวาทะ) มีความพร้อมเพรียงกัน (สามัคคียะ) มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน (เอกีภาวะ) [สาราณียธรรม พระไตรปิฎก เล่ม ๒๒ ข้อ ๒๘๒]

ที่อาตมาได้พูดได้อธิบายมาถึงแค่นี้ ก็แค่มีมรรคผลเพียงขั้น “ฌาน” และก็แค่ “รูปฌาน” เท่านั้นด้วย ยังจะมี “อรูปฌาน” แบบพุทธ ซึ่งต่างกับ “อรูปฌาน” แบบสามัญทั่วไปแน่นอน และสุดท้าย “สัมมาวิมุติ” ที่เป็นนิพพานสุดยอดของศาสนาพุทธอีก ก็ต้องต่างจาก “มิจฉาวิมุติ” แน่ๆ

ดังนั้น “อีคิวโลกุตระ” ของพุทธ หากถึงขั้น “อารมณ์วิมุตินิพพาน” ก็จะเป็น “อารมณ์” ที่มีทั้งความสุขพิเศษยิ่งจริงๆ ที่เรียกว่า “วูปสมสุข” หรือที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “นิพพานัง ปรมัง สุขัง” แล้วก็แปลกันว่า “นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง” ก็คงจะเคยได้ยิน ฉะนั้น ผู้มีนิพพานจึงเป็นคนมี “อารมณ์สุข” แน่ๆแต่ “ไม่ติด” นิพพาน เพราะเป็นผู้ “ทำใจในใจ” (มนสิการ) ไม่ยึดไม่ติดแม้ที่สุดสภาพ “อรูป” ที่ละเอียดสุดขั้น “เนวสัญญานาสัญญายตนภพ” ได้สำเร็จแล้ว

ผู้มีนิพพานนั้นจึงเป็นคนที่มีพฤติกรรมเป็นสามัญ มีชีวิตดำเนินไปตามปกติเยี่ยงคนทั่วไป แต่เป็นอยู่ทำงานทำอาชีพขยันกว่าคนปกติ สร้างคุณค่าประโยชน์ต่อโลกต่อสังคมต่อมวลมนุษยชาติอย่างบริสุทธิ์และลึกซึ้งกว่าสามัญอีกนักกว่านัก โดยไม่มีทุกข์ไม่มีสุขโลกียะ ทว่าย่อมมี “สุขโลกุตระ” นั้นแน่นอน หรือคือ “ปรมัง สุขัง” นั่นเอง

คำว่า “ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข” (อทุกขมสุข) คำนี้ ทำให้ผู้ศึกษาเพียงพยัญชนะหรือนักตรรกะ แม้แต่ผู้ปฏิบัติที่ยัง “มิจฉาทิฏฐิ” ต่อให้สามารถบรรลุรูปฌาน อรูปฌานสูงสุดปานใดก็ตาม มักจะงงสงสัยสับสน กับพระพุทธพจน์ที่ว่า “มีนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง” เมื่อ “ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข” แล้วจะกลับมา “สุข” อีกได้อย่างไร “ภาวะดูเหมือนกลับไปกลับมา” เยี่ยงนี้ต้องศึกษากันอย่างดียิ่ง

ภาวะที่มีนัย “เวียนกลับไปกลับมา” เยี่ยงนี้ เป็นภาวะขั้นสูงถึงสูงสุด เรียกว่า “ปฏินิสสัคคะ” อันเป็นภาวะจริงของ “ผู้สูงสุดคืนสู่สามัญ”

ส่วนภาวะที่ “เวียนกลับไปกลับมา” อีกนัยหนึ่ง เรียกว่า “กุปปะ” ซึ่งต่างกันคนละขั้วกับ “ปฏินิสสัคคะ” เพราะ “กุปปะ” คือ “การเวียนกลับ” ที่หมายถึง “กิเลสกลับกำเริบ” เป็นภาวะของคนเสื่อมลงต่ำลง คนละทิศ

เช่น เมื่อ “วาง” ได้แล้ว “ว่าง” แล้ว แล้วทำไมกลับขยัน กลับไม่อยู่ว่างๆ หรือ…ที่ไม่คลุกคลีเกี่ยวข้อง แล้วทำไมกลับไม่คลุกคลีเกี่ยวข้องอีก เป็นต้น ทำไมมันจึงดูเหมือนกลับไปกลับมาอย่างนั้น เป็นเรื่องน่างงอยู่

ลักษณะของคุณธรรมที่ “ว่างได้แล้ว แล้วกลับยิ่งไม่ว่างยิ่งขยันขึ้นเสียอีก” นี้ หรือ “ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข แล้วก็กลับมาสุข” หรือ มี “ปีติสุข” แล้วก็วาง แล้วกลับมี่ “ปีติสุข” อยู่อีก หรือ “วางแล้ว แล้วกลับไปสัมพันธ์อีก” หรืออื่นๆที่มีนัย “ตีกลับ” เยี่ยงนี้ คือลักษณะที่เรียกในภาษาทางธรรมว่า “ปฏินิสสัคคะ”

“ปฏินิสสัคคะ” หมายถึง “การเวียนกลับ, ลักษณะตีกลับ” ซึ่งเป็นประสิทธิภาพของพระอาริยะในขั้นต่อจาก “นิโรธ” กล่าวคือ ลำดับของผู้ปฏิบัติที่เกิดการพัฒนาความเป็น “สัมมาสมาธิ” นั้น ก็จะตามรู้ตามเห็นบทบาทของความเจริญในผล ที่จะมีขั้นตอนของความเจริญ เรียกว่า “อนุปัสสี ๔" ได้แก่

ขั้นต้น “อนิจจานุปัสสี” ตามเห็นความไม่เที่ยง

ขั้นที่ ๒ “วิราคานุปัสสี” ตามเห็นความจางคลายของกิเลสที่ละล้างได้

ขั้นที่ ๓ “นิโรธานุปัสสี” ตามเห็นความดับความหมดสิ้นกิเลส

ขั้นที่ ๔ “ปฏินิสสัคคานุปัสสี” ตามเห็นความสลัดกลับหรือการเวียนกลับ ที่ผู้ปฏิบัติจะประสบเองเมื่อถึงภูมินี้ ซึ่งต้องปฏิบัติพิสูจน์ จน “ตั้งมั่น…ไม่หวั่นไหว…ไม่กลับกำเริบ…ยั่งยืนถาวร” จึงจะมีความสามารถที่ “ยิ่งกว่าโลกียะ” (อุตตระ) เป็นที่สุด ในความเป็น “โลกุตรจิต” สัมบูรณ์

“โลกุตรจิต” คือ จิตที่ได้เรียนรู้และฝึกฝนมาแล้วกระทั่งมีอำนาจในตนเอง สูงสุดก็สามารถอยู่เหนืออำนาจของ “ความเป็นโลกียะ” ได้สำเร็จแข็งแรงถาวร ไม่เวียนกลับมามีกิเลสกำเริบอีก

คำว่า “เวียนกลับ” จึงมีทั้งที่หมายความว่า “เวียนกลับชนิดที่กลับไปก็ยังเป็นทาสโลกียะ หรือไม่มีอำนาจเหนือสิ่งนั้นอย่างปุถุชน” ภาษาทางธรรมก็ว่า “กิเลสกลับกำเริบได้อีก” ภาษาบาลีคือคำว่า “กุปปะ” และมีทั้งที่หมายความถึง “การเวียนกลับชนิดที่กลับไปอย่างมีอำนาจอยู่เหนือสิ่งนั้นแท้จริง เพราะจิตเป็นโลกุตรจิตแล้ว ชนะกิเลสนั้นได้แล้ว” ลักษณะนี้ภาษาทางธรรมคือ “ปฏินิสสัคคะ”

“การตีกลับ” ชนิด “กุปปะ” นี่แหละมักจะมีคน “ตีกิน” กล่าวคือ ตนเอง “เวียนกลับเพราะกิเลสกำเริบ” แต่แล้วก็ “ตีกิน” โดยการโกหกคนอื่นว่า “ตนเองปฏินีสสัคคะ” บาปก็เป็นของคนเช่นนี้หยาบช้าหนักขึ้นสองชั้น กล่าวคือ ตนเองหันกลับมาเพิ่มกิเลส ให้แก่ตนเองหนาขึ้น นั่นก็บาปหนึ่ง แถมโกหกผู้อื่นเข้าไปอีก ก็เป็นบาปหยาบช้าขึ้นเป็นสองเท่า

สภาพของผู้ “เวียนกลับ” ที่มีโลกุตรจิตแล้ว จะเป็นดั่งที่ท่านพุอธทาสเปรียบไว้ว่า “น้ำแข็งกลางเตาหลอมเหล็ก” แม้ความร้อนจะร้อนปานใด น้ำแข็งก็ไม่ละลาย นี้คือ ลักษณะ “โลกุตระ” ซึ่งเป็นการอยู่เหนือโลกียะ เป็นจิตที่ผ่านพ้นได้แล้วอย่างถาวร ตาม “มงคลธรรม” ขั้นที่ ๓๕ ที่ว่า “ผุฏฐัสสะ โลกธัมเมหิ จิตตัง ยัสสะ น กัมปติ” อันหมายความว่า จิตสัมผัสกับโลกธรรมปานใด ก็ไม่มีหวั่นไหวแล้ว เพราะจิตแข็งแรงแล้ว ว่างจากกิเลสแล้ว หลุดพ้นโลกียะนั้นได้แล้วทั้งด้วยพลังทางจิต (เจโตวิมุติ) ทั้งด้วยพลังทางปัญญา (ปัญญาวิมุติ) ครบ “อุภโตภาควิมุติ” (วิมุติทั้งสอง)

ผู้มี “ความว่าง” ในจิตตามที่เรากำลังพูดถึงมาตลอด แต่ยังอธิบายค้างอยู่ ก็คือ ผู้มี “อุเบกขา” ซึ่งเป็นคุณลักษณะเด่นของคนที่เข้าถึงภูมิ “ฌาน ๔“

ดังนั้น ภูมิที่สูงไปกว่านี้ ก็คือ ภูมิเลย “ฌาน ๔“ ซึ่งก็ต้อง “ปล่อยวางอุเบกขา” นั่นเอง สู่สภาพ “อากาสานัญจายตนฌาน” อันเป็นขั้น “อรูป”

เรื่องนี้ต้องตั้งใจฟังกันดีๆ เพราะเป็นเรื่องสุขุมประณีตยิ่งแล้ว ที่เราพูดกันนี้ก็เป็นเพียงภาษาสื่อสู่กันฟัง ผู้จะรู้จริง ก็ผู้ทำได้จริง คือ ผู้ที่ต้องมี “ความเป็นอุเบกขาเวทนา” นั้นในตนจริงเสียก่อน แล้วจึงจะ “ทำการปล่อยวางตัวอารมณ์วางเฉย” นั้น หรือที่จริง ก็คือ ทำการปล่อยวาง “อารมณ์ที่เป็นจิตบริสุทธิ์” ที่มี “สติบริสุทธิ์อยู่” นั่นเอง และความเป็น “จิตว่างจากกิเลสนิวรณ์ใดๆแล้ว” มันก็เป็น “จิตบริสุทธิ์” หรือจะเป็น “สติบริสุทธิ์” ก็ตาม “สติบริสุทธิ์” ก็คือ “จิตที่บริสุทธิ์” แล้วนั่นแหละ

ดังนั้น การ “ปล่อยว่าง” ก็ทำ “ที่ใจ” (มนสิ) ของตนลงไปเลย ทำการ “วาง” ใจที่บริสุทธิ์แล้วนี้ลงไป ปล่อยวางลงไปเลย

“ปล่อยวาง” ก็คือ การกระทำใจในใจ (มนสิการ) ของตนเองว่า “อย่าทำอาการยึดว่า “อุเบกขา” นี้ เป็นเราเป็นของเรา” …ก็ทำเท่านี้

ท่านใด “ทำ” เป็นจริงๆ ก็สำเร็จ ผู้ที่ฝึก “วาง” มาถึงขั้นนี้ จะรู้เอง

เมื่อ “ทำ” แล้ว มันก็จะคล้ายๆกับไม่ทำ เพราะ “จิตบริสุทธิ์” หรือ “สติบริสุทธิ์” ก็ตาม มันก็ล้วน “ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน” อะไรกันแล้ว ผู้ปฏิบัติจนบรรลุธรรมถึงขั้นนี้จริงเท่านั้น จึงจะรู้จริงเห็นจริง และเป็นจริง ผู้ได้แต่รู้ ได้แต่นึกคิด หรือนักตรรกะชั้นยอดขนาดไหน ก็ไม่สามารถจะมีจริงเป็นจริงดังกล่าวนี้ได้

คำว่า “จิตบริสุทธิ์” นั้น “ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน” ตรงนี้สำคัญ เพราะคนที่ยัง “มิจฉาทิฏฐิ” ก็มักจะตีขลุมคลุมไปเลยว่า “จิตวิญญาณ” ในคนทุกคนนั่นแหละ ล้วน “ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน” ทั้งนั้น ตรงนี้แหละ เป็นความเข้าใจผิด เพราะตาม “สัมมาทิฏฐิ” แล้ว “จิตบริสุทธิ์” เท่านั้น จึงจะนับได้ว่า “ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน” ส่วน “จิต” ของคนทั่วไป หรือ “จิตที่ยังมีกิเลส” ทั้งหลายนั้นจะนับว่า “ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน” ยังไม่ได้ เพราะมันยังมีกิเลสที่ยึดที่ติดเป็นตัวเป็นตนอยู่ในจิต บางคนออกหนาแน่น อย่าหลงประเด็นตรงนี้เป็นอันขาด

เพราะ “จิตแท้” [ไม่ควรเรียกว่า “จิตเดิม” เพราะ “จิตเดิม” ของปุถุชนจะยังไม่บริสุทธิ์ทั้งสิ้น] หรือ “จิตบริสุทธิ์” นั้นคือ ภาวะที่สะอาดจากกิเลสซึ่งประภัสสรแล้ว ไม่มีตัวไม่มีตนหรือไม่ใช่ตัวใช่ตนอะไรเลยจริงๆ “จิตแท้” หรือ “จิตบริสุทธิ์” มันก็เป็นเพียงธาตุที่ “ยึดก็ได้...ไม่ยึดก็ได้” สำหรับผู้บรรลุแล้ว และสามารถ “วางเป็น” จนถึงที่สุดแล้ว เมื่อจิตก็ “ยังต้องอยู่” (ยังไม่ปรินีพพาน) ก็อยู่ทำหน้าที่ที่ควรทำไปตามที่เห็นประโยชน์ เห็นคุณค่าว่าประเสริฐ...ก็เท่านั้น

เพราะฉะนั้น จะ “ปล่อยวาง” พระอาริยะท่านก็รู้แจ้งแล้ว ท่านทำการ “ปล่อยวาง” สิ่งหนัก สิ่งที่มีความติดยึดแท้ๆต่างๆท่านก็วางมามาก วางมาหมดแล้ว ก็เมื่อ “จิตแท้” หรือ “จิตบริสุทธิ์” นี้ โดยจิตเองก็ไม่ใช่สิ่งที่มีคุณสมบัติหลง “ติด” หลง “ยึด” เพราะ “จิตแท้หรือจิตบริสุทธิ์ขั้นหมดอาสวะ” นี้ มันไม่มี “ยางเหนียว” แล้ว ไม่ใช่แท่งใช่ก้อนที่มีพลังเกาะพลังติดพลังดูดพลังผนึกด้วยตัวเอง ตัวเองก็ไม่มีตัวเอง หรือไม่ใช่ตัวใช่ตนแล้ว ดังนั้น จึงเท่ากับ...ไม่เห็นจะต้องวางหรือไม่วาง เพียงแต่ท่าน “ทำความสำคัญที่ใจในใจ” (สัญญาแล้วมนสิการ) ของท่านว่า “ปล่อยวาง” มันก็คือ “วาง” แล้วทันที แต่กระนั้นก็ดี...ท่านก็ยังต้องมี “จิต” อยู่ ตราบที่ท่านยังไม่ “ปรินิพพาน” หรือตายลงไป ณ บัดนั้น มันก็ต้อง “มีอยู่” เท่านั้นเอง...ก็มีไป “จิต” จึงต้องเป็น “เครื่องอยู่, เครื่องอาศัย” เพื่อใช้งานให้เป็นประโยชน์ในโลกอยู่ ก็เท่านั้น

การวางการปล่อยของพระอาริยะขั้นนี้ เป็น “การทำใจในใจ” (มนสิการ) ของตนเอง อย่าง “แยบคายยิ่ง” (โยนิโส) อย่าง “ถ่องแท้ถูกต้องแม่นคมจริงจังยิ่ง” (โยนิโส) ซึ่งเป็นเรื่อง “เฉพาะตัว” จริงๆ ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า

“ถ้าใครพึงถามอย่างนี้ว่า “รูปสัญญาดับในที่ไหน และใครดับรูปสัญญาได้แล้วๆอยู่ เราไม่รู้ผู้นี้ เราไม่เห็นผู้นี้” เธอทั้งหลายพึงตอบผู้นั้นอย่างนี้ว่า ดูกรอาวุโส ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะล่วงรูปสัญญาโดยประการทั้งปวง เพราะดับปฏิฆสัญญา เพราะไม่ใส่ใจในนานัตตสัญญา บรรลุอากาสานัญจายตนฌาน เพราะกำหนดใน “อารมณ์” ว่า อากาศไม่มีที่สุด (อนันโต อากาโส) รูปสัญญาย่อมดับใน “องค์ฌาน” นี้ และท่านเหล่านั้น ดับรูปสัญญาได้แล้วๆ อยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอเป็นผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยาเป็นแน่ พึงชื่นชมยินดีภาษิตว่า สาธุ ครั้นแล้ว พึงนมัสการกระทำอัญชลีเข้าไปนั่งใกล้”

ผู้ที่สามารถทำการ “ปล่อยวาง” หรือสามารถ “ล่วง” รูปสัญญา ขั้น “อุเบกขา” นั้น ท่านจะเป็นไฉน มี “อารมณ์” อยู่อย่างไร ก็ต้องอยู่ที่ผู้ทำการกำหนดใน “อารมณ์” ให้แก่ตนเองว่า “ว่างอย่างไม่มีที่สุด” (อนันโต อากาโส) และแล้วเมื่อท่านทำได้สำเร็จ ท่านผู้นี้ ก็ “ว่าง” ตามที่ท่านสามารถทำได้ หรือมี “วิชชา” รู้ได้ยิ่งๆ ทำได้ยิ่งๆ คือเป็นผู้สามารถ ว่างจาก “ความว่าง” ที่เป็น “อุเบกขา” ยิ่งขึ้นไปอีก เท่าที่สามารถ “ทำให้มีอารมณ์ว่าง” นั้นได้

ผู้ถึงภูมินี้จริง และสามารถทำได้จริง ก็คือ ผู้มีจริงเป็นจริงในตนเอง ย่อม “รู้” ของตนเองที่ “เป็น” อยู่เอง ตรงตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ” ไม่มีใครสามารถ “รู้” ด้วย หรือเห็นสภาพนั้นๆได้ด้วยโดยแท้

เพียงแต่ว่า ผู้เข้าถึงภูมินี้ได้ใหม่ๆ อย่าหลงว่า “ประโยชน์หรือคุณงามความดี” ที่ตนทำช่วยผู้อื่นช่วยโลกอยู่ เป็น “การยึดดี – ถือดี” ให้เป็น “มานสังโยชน์” และอย่าเผลอยึด “ความว่าง” ก็ดี “จิตบริสุทธิ์” ก็ดี ว่า “เป็นเรา” ให้เป็น “อัตตา” หลงเหลือเป็นเศษขั้น “อุทธัจจสังโยชน์” ให้ได้ก็แล้วกัน

   [เลือกหนังสือ]
page: 8/20
Colse
   Asoke Network Thailand