[เลือกหนังสือ]      ปก | คำนำ | สารบัญ | ภาคผนวก | คัชนี
page: 2/20
close

สารบัญ
บทที่ 1
ฉลาดชัดตัดกิเลส

[1]
[2]

บทที่ 2
อวิชชาของคนฉลาด
[3]
[4]

บทที่ 3
พัฒนาอารมณ์
[5]
[6]

[7]

[8]

บทที่ 4
ความแตกต่าง
ระหว่าง
พุทธกับฤาษี
[9]
[10]

[11]
[12]

บทที่ 5
คุณวิเศษของพุทธ
[13]
[14]

[15]

บทที่ 6
อีคิวโลกุตระ
[16]
[17]

[18]

บทที่ 7
หลักปฏิบัติสำคัญ ของศาสนาพุทธ

[19]
[20]

 

อีคิวโลกุตระ... สมณะโพธิรักษ์ / บทที่ 1


 พุทธวิชชา พาฉลาดแท้ 

พระสงฆ์ที่มีภูมิยังไม่สัมมาทิฏฐิ หรือยังมีไอคิวอยู่แค่ “ภูมิโลกีย์” ก็ย่อมไม่มี “สัมมาญาณ” ที่เป็น “ปรมัตถธรรม” อันสามารถรู้แจ้งแทงทะลุใน “เจโตปริยญาณ ๑๖“ ของตน จึงไม่สามารถตรวจ “สังโยชน์ ๑๐“ ของตนได้อย่างถูกต้อง จึงมี “มิจฉาญาณ” กันอยู่ และ “หลงมิจฉาวิมุติ” กันโดยมาก

เพราะไม่มี “ฌาน” ที่ถูกต้องเป็นสัมมาทิฏฐิแบบพุทธ

ไม่มี “วิปัสสนาญาณ” ที่ถูกต้องเป็นสัมมาทิฏฐิแบบพุทธ

ไม่มี “มโนมยิทธิ” ที่ถูกต้องเป็นสัมมาทิฏฐิแบบพุทธ

ไม่มี “อิทธิวิธี” ที่ถูกต้องเป็นสัมมาทิฏฐิแบบพุทธ

ไม่มี “ทิพยโสต” ที่ถูกต้องเป็นสัมมาทิฏฐิแบบพุทธ

ไม่มี “เจโตปริยญาณ” ที่ถูกต้องเป็นสัมมาทิฏฐิแบบพุทธ

ไม่มี “ปุพเพนิวาสานุสติญาณ” ที่ถูกต้องเป็นสัมมาทิฏฐิแบบพุทธ

ไม่มี “จุตูปปาตญาณ” ที่ถูกต้องเป็นสัมมาทิฏฐิแบบพุทธ

ไม่มี “อาสวักขยญาณ” ที่ถูกต้องเป็นสัมมาทิฏฐิแบบพุทธ

ทั้ง ๙ นี้ เรียกว่า “วิชชา ๙“ ซึ่งเป็นสุดยอดสุดเยี่ยม “วิชชา” ของศาสนาพุทธ ไม่มีในศาสนาอื่นใด

ดั้งเดิมที่เรียนๆ กันมานั้น ท่านไม่ได้นับเอา “ฌาน” เป็น “วิชชา” ด้วย จึงมีเพียง ๘ วิชชา ท่านจึงเรียกว่า “วิชชา ๘“ แต่อาตมาขอนับเอา “ฌาน” เป็นอีก ๑ วิชชา จึงเป็น “วิชชา ๙“ ซึ่งท่านผู้ใดจะไม่นับเอาด้วยก็ไม่ว่ากระไร หรือแม้ท่านผู้ใดจะตำหนิจะว่าอาตมาทำเป็นสู่รู้ รู้มาก อวดดีเกิน ก็ขออภัยเถิด อาตมาไม่ได้แย้งหรอก ที่อาตมาทำเช่นนี้เพราะเห็นความจริงเป็นเช่นนี้

เห็นว่า.. “ฌาน” เป็นองค์แห่ง “ปัญญา” ชัดๆ เป็น “วิชชา” อยู่ตรงๆ ที่อาตมาเห็นอย่างนี้ เพราะอาตมามั่นใจตามสภาพที่เป็นที่มีของ “ฌาน” ของ “วิชชา” เท่าที่ได้เรียนรู้ฝึกฝนมาแล้ว และแน่ใจว่าเป็นแบบพุทธด้วย

พระพุทธเจ้าตรัสยืนยันไว้ว่า (ในพระไตรปิฎก เล่ม ๒๕ ข้อ ๓๕)

นัตถิ ฌานัง อปัญญัสสะ ปัญญา นัตถิ อฌายโต

ยัมหิ ฌานัญจะ ปัญญา จะ สะ เว นิพพานสันติเก

ฌานไม่มีแก่ผู้ไม่มีปัญญา ปัญญาไม่มีแก่ผู้ไม่มีฌาน

ฌานและปัญญามีอยู่แก่ผู้ใด ผู้นั้นแลอยู่ในที่ใกล้นิพพาน

ชัดเจนไหมว่า “ฌาน” กับ “ปัญญา” นั้น เป็นอยู่คู่กัน

“ฌาน” ที่ไม่มี “ปัญญา” ไม่ใช่ “ฌาน” แบบพุทธ และ “ปัญญา” ที่ไม่เกิดกับ “ฌาน” ก็ไม่ใช่ “ปัญญา” ที่จะพาไปนิพพาน

แต่ “ปัญญา” ทั่วไปที่ไม่มี “ฌาน” นั้น ก็มีอยู่หลากหลาย ซึ่ง “ปัญญา” แบบนี้ไม่พาไปนิพพานแน่ จึงไม่ใช่ “วิชชา” ที่เราหมายถึงคือ “วิชชา ๙“

ดังนั้น “ปัญญา” ที่จะพาไปนิพพานได้นั้น ก็ต้องเป็น “ปัญญา” ชนิดที่มีคุณภาพถึงขั้นที่เรียกว่า “วิชชา” ด้วย แต่ “ปัญญา” ที่เป็น “ธรรมะ” ขั้น “โลกียะ” ก็พาไปนิพพานไม่ได้

โดยความหมายทั่วไป “ปัญญา” ก็คือ “ความฉลาด” ที่เป็น “ธรรมะ” เป็น “ความฉลาด” ที่มี “คุณธรรม” ซึ่งก็มีอยู่มากมาย และแน่นอนอยู่แล้วว่าต่างกับ “ความฉลาด” ที่ภาษาบาลีว่า “เฉกตา” หรือ “เฉโก” อย่างมีนัยสำคัญ แม้จะแปลว่า “ความฉลาด” เหมือนกัน ทว่า “เฉโก” นั้นมีนัยแห่ง “ความฉลาดแกมโกง, ความฉลาดไม่มีธรรมะ” แม้กระนั้น “ความฉลาด” ที่เป็น “ธรรมะ” อันเรียกได้ว่า “ปัญญา” ก็ตาม ก็ยังเป็นเพียง “ความฉลาด” ที่เป็นแค่ “ธรรมะ” ขั้น “โลกียะ” เท่านั้น จึงยังต่างกับ “ความฉลาด, ปัญญา” ที่เป็นขั้น “โลกุตระ”

ก็คงชัดแล้วสินะว่า “ปัญญา” ขั้นจัดอยู่ในข่ายของ “วิชชา” นี้ เป็น “ความฉลาดที่เป็นคุณธรรมระดับโลกุตระ” หรือ “ความฉลาดที่พาหลุดพ้นออกจากโลกียะ” จึงจะเป็น “ความฉลาด” ที่พาไปสู่นิพพานแท้ๆ และมันเป็น “วิชชา” ของพุทธ ไม่มีทางเป็นอื่นไปได้

ในเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดว่า “ฌานกับปัญญา นั้นต้องอยู่คู่กัน” ดังที่ได้ยกอ้างผ่านมาแล้ว

ดังนั้น ถ้าขาด “ฌาน” ก็เท่ากับขาด “ปัญญา” หรือหากไม่มี “ฌาน” ก็ไม่มี “วิชชา” ที่จะพาไปนิพพาน และ “ปัญญา” ก็ต้องเป็น “วิชชา” หรือ “ปัญญา” ที่อยู่กับ “ฌาน” แบบพุทธ

กล่าวคือ ต้องเป็น “ฌาน” ที่เกิดจากการปฏิบัติ “มรรค ๗ องค์” ใน “ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา” หรือใน “มรรค อันมีองค์ ๘“ นั่นเอง อันนี้ต้องไปศึกษารายละเอียดกันในพระไตรปิฎก เล่ม ๑๔ ตั้งแต่ข้อ ๒๕๒ ถึง ๒๘๑ “มหาจัตตารีสกสูตร” จะเข้าใจดีขึ้น หรือในสูตรอื่นๆ เช่น ในเล่ม ๙ ทุกสูตรก็มีอธิบาย การมีศีล แล้วจึงปฏิบัติโดย “สังวรอินทรีย์” มีสติสัมปชัญญะ รู้ตัวทั่วพร้อมในทุกอิริยาบทของตน แล้วลดละตนให้มักน้อยสันโดษ ล้างนิวรณ์ให้ได้ ก็จะเกิด “ฌาน” แบบพุทธ และเกิด “ญาณ” ต่างๆ อันเป็น “วิชชา ๙“

“ฌาน” แบบพุทธนี้ เป็น “ฌาน” ที่เกิดได้ในคนที่มีชีวิตสามัญ ลืมตาเปิดทวารทั้ง ๖ รับรู้สภาพภายนอกภายในเป็นปกติอย่างคนธรรมดาทั่วๆ ไป มิใช่ “ฌาน” ที่ได้จากการปฏิบัติด้วยวิธีนั่งหลับตาสะกดจิตจนเกิด “ฌาน” ในภวังค์เท่านั้น แม้ “ฌาน” ในภวังค์นั้นจะเป็น “ฌาน” ที่สัมมาทิฏฐิแบบพุทธ ก็เป็นเพียงส่วนเสริมที่ได้ “ปัญญา” เป็นการอุปการะ มิใช่วิธีปฏิบัติอันเอก

ส่วน “ปัญญา” ที่ได้จากการปฏิบัติ “ฌาน” แบบนั่งหลับตาสะกดจิตที่ไม่สัมมาทิฏฐินั้น แน่นอนว่า ย่อมได้ “มิจฉาปัญญา” จึงไม่ช่วยเสริมให้แก่ความเป็น “วิชชา” แต่อย่างใด มิหนำซ้ำจะ “โมหะ” และ “อวิชชา” ยิ่งขึ้น

สรุปแล้ว “ฌาน” จึงเป็น “วิชชา” ด้วยประการฉะนี้

อาตมาเห็นดังนี้จริงๆ จึงขอนับเอา “ฌาน” เป็น “วิชชา” อีกวิชชาหนึ่ง ไม่เช่นนั้นประโยชน์ของ “ปรมัตถธรรม” จะไม่สมบูรณ์ ก็ขออนุญาตทำตามที่เห็นนี้เถอะนะ ท่านผู้ใดไม่เห็นด้วย ท่านก็เอาตามเดิมทำตามแบบเดิมเถิด คงไม่ว่ากันเนาะ

เอาล่ะ.. ประเด็นของ “วิชชา ๘“ หรือ “วิชชา ๙“ คงพอเข้าใจกันแล้ว

ทีนี้ มาต่อประเด็นที่เรากำลังกล่าวถึงกันอยู่ คือ “วิชชา ๙“

หากแม้นผู้ใดเรียนรู้ “วิชชา ๙“ นี้อย่างสัมมาทิฏฐิ เป็นพุทธไม่เพี้ยน ไปหลงเข้าใจออกนอกทางแท้ ผู้นั้นเมื่อปฏิบัติเกิดมรรคผล ก็จะมี “ญาณ” รู้แจ้งเห็นจริงว่า “วิชชา” ใด หมายถึงอย่างใด ได้ถูกต้อง แม่นตรงคมชัด ตาม “อนุสาสนี” (คำสอน) ของพระพุทธเจ้า และหากผู้นั้นสามารถปฏิบัติตนเองจนพ้น “สังโยชน์ ๑๐“ สัมบูรณ์ นั่นก็คือ ผู้มี “อนุสาสนีปาฏิหาริย์” แท้ๆ

ซึ่งยืนยันว่า “อวิชชา” ถูกล้างออกไปสำเร็จด้วย “วิชชา” ของพุทธนี่แล กระทั่ง “อวิชชา” หมดสิ้นเกลี้ยงไปเลยจากจิตวิญญาณของผู้นั้นไม่เหลือ มีแต่ “วิชชา” เจริญเข้ามาแทนที่ เป็นผู้ “ไม่มีอวิชชา” อยู่ในจิตวิญญาณเลย

“วิชชา” จึงไม่ใช่แค่ “ปัญญา” เท่านั้น หรือไม่ใช่แค่ “ความฉลาด” ที่เป็นแค่ “ไอคิว” (IQ) และไม่ใช่แม้แต่แค่ความเป็น “อีคิว” (EQ) เพียงเท่านั้นอีกด้วย “วิชชา” เป็นคุณวิเศษที่มีนัยสำคัญยิ่งกว่านั้น

และที่สุดแห่งที่สุดผู้ถึงซึ่ง “วิชชา ๙“ โดยเฉพาะปฏิบัติจนเกิดได้ มีได้ถึง “อาสวักขยญาณ” ซึ่งเป็น “วิชชา” ข้อสุดท้ายขั้นท้ายสุดสัมบูรณ์ ก็เป็นอัน “อวิชชา” หมดเกลี้ยงสะอาดสิ้นจบ ด้วย “อาสวักขยญาณ” นี่แล เพราะผู้นั้นมี “วิชชา ๙“ หรือมี “ญาณ” ทั้งหลาย ตรวจอ่านตนเองได้จริงว่า ตัวเรา “สิ้นสังโยชน์” ครบ แม้ที่สุด “สิ้นอวิชชาสังโยชน์” แล้วสะอาดสนิท

“วิชชา ๙“ คือ ความรู้ หรือ “ความฉลาด” ชนิดพิเศษของ “พุทธ” โดยเฉพาะ จะไม่ใช่ความเก่งพิเศษอย่างที่คนส่วนใหญ่ทั่วไปมักจะเข้าใจเพี้ยนไป เช่น เข้าใจนัยสำคัญผิดว่า มีความหมายอย่าง “อิทธิปาฏิหาริย์” (แสดงฤทธิ์ได้เป็นอัศจรรย์ เช่น ล่องหน ดำดิน เหาะได้ เป็นต้น) บ้าง อย่าง “อาเทสนาปาฏิหาริย์” (การทายใจ, การหยั่งรู้ใจของผู้อื่น) บ้าง หรือไม่ก็กลายเป็น “เดรัจฉานวิชา” กันไปเลย นั่นยิ่งเตลิดไปใหญ่ แต่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจเพี้ยนไปเป็นดังที่ว่านั้นจริงๆ

 ความสามารถเหนือมนุษย์ 

“วิชชา” ทั้ง ๙ นั้น ไม่ใช่ความสามารถที่ชอบเข้าใจกันว่า เป็นเรื่องฤทธิ์เดชวิเศษแบบประหลาดๆ ที่น่าทึ่งน่ามหัศจรรย์ ดังที่ทั่วๆ ไปหลงผิดกัน เช่น “มโนมยิทธิ” พระพุทธเจ้าตรัสว่า สามารถ “เนรมิตกายอื่นจากกายนี้” ดังนี้เป็นต้น ก็มักจะเขวไปเข้าใจว่า เป็นการ “เนรมิตกาย” แบบ “เนรมิตเป็นตัวคน” ที่มือจับต้องสัมผัสได้ เป็นแท่งก้อนของมหาภูตรูป อะไรอย่างนั้น ทั้งๆ ที่พระพุทธองค์ตรัสว่า “มีรูปเกิดแต่ใจ” (มโนมย) ซึ่งหมายถึง “เรื่องของใจในใจเท่านั้น” เพราะ “รูป” ที่ว่านี้คือ “นามกาย” ซึ่งเป็น “กายของนามธรรม” ไม่ใช่ “กายของรูปธรรม” ที่เป็นรูปเป็นร่างมีเนื้อหนังมังสาอะไรอย่างนั้น จริงอยู่ท่านตรัสว่า “มีอวัยวะน้อยใหญ่ครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง” แต่นั่นมันก็เป็นความหมายของ “อวัยวะที่ใจในใจ – อินทรีย์ของใจในใจ” เพราะมันหมายถึงเฉพาะเรื่องของ “ใจในใจ” (มนสิ) เท่านั้น มันเป็น “งานทำใจในใจ” (มนสิการ) และ “สำเร็จกันที่ใจ” (มโนมย)

จะ “เนรมิต” หรือสร้างขึ้นมาก็เป็นการสร้าง “รูปอันเกิดที่ใจ, ซึ่งเกิดแต่ใจ “(มโนมย) เนรมิตหรือสร้างให้เกิดอยู่เฉพาะ “ที่ใจ” (มนสิ) เท่านั้น ไม่มีอะไรออกมาภายนอก ซึ่งการเกิดชนิดนี้เรียกว่า “โอปปาติกโยนิ” เป็นการผุดเกิดหรือคลอดเกิดกันอยู่เฉพาะ “ในใจ” (มนสิ) ไม่ใช่เรื่องของ “รูปธรรม” หรือ “ร่างกายภายนอก” เลย “ใจเกิด – ใจเป็น แต่ในใจ” ที่พระพุทธเจ้าทรงเปรียบว่า เหมือนไส้หญ้าปล้องที่ชักออกจากหญ้าปล้อง หรือเหมือนงูถอดออกจากคราบ หญ้าปล้องก็อันเก่า ไส้หญ้าปล้องก็อันใหม่ หรือคราบก็อันเก่า งูก็อันใหม่ มีของใหม่เกิด ส่วนสำคัญของตนครบครันเหมือนเก่า แม้เกิดอยู่ที่เก่า (ในร่างเดิม) แต่ใจก็เกิดใหม่สู่ “โลกใหม่” (ปรโลก คือ โลกุตระ)

สรุป “มโนมยิทธิ” ก็คือ มี “ความรู้ความสามารถอันพิเศษแบบพุทธ” (วิชชา) ถึงขั้นทำตาม “คำสอนของพระพุทธเจ้า” (อนุสาสนี) ถูกตรงเป็นผลสำเร็จหรือบรรลุธรรม ในเรื่องเนรมิตหรือสร้าง “การเกิดทางใจได้สำเร็จ” (มโนมย) จนเป็นคนโลกใหม่ภพใหม่ ที่เรียกว่า “โลกุตระ” ได้จริง เป็นจริง คนที่ทำเรื่องอย่างนี้ได้ ถือว่า เป็น “ความมหัศจรรย์” อันเรียกกันว่า “ปาฏิหาริย์” เมื่อเป็น “ปาฏิหาริย์” เฉพาะในเรื่องของ “อนุสาสนี” (คำสอน) ของพระพุทธเจ้าที่เป็นไปเพื่อดับ “อวิชชา” หรือพาไปสู่นิพพาน

จึงชื่อว่า “อนุสาสนีปาฏิหาริย์”

ซึ่ง.. ไม่ใช่ “อิทธิปาฏิหาริย์” หรือ “อาเทสนาปาฏิหาริย์” เด็ดขาด

แต่ถ้าใครเข้าใจว่า “มโนมยิทธิ” คือ “อาเทสนาปาฏิหาริย์” (การทายใจ, การหยั่งรู้ใจของผู้อื่น) ก็ดี คือ “อิทธิปาฏิหาริย์” (แสดงฤทธิ์ได้เป็นอัศจรรย์ เช่น ล่องหน ดำดิน เหาะได้ เป็นต้น) ก็ตาม นั่นเพี้ยนแล้ว มิจฉาทิฏฐิไปแล้ว

เพราะอย่างนั้นไม่ใช่ “วิชชา” ที่สามารถทำลาย “อวิชชา” ตรงนัยสำคัญ อันเป็นเป้าแท้ๆ ของศาสนาพุทธแน่นอน

“วิชชา” ข้ออื่นๆ ก็เช่นกัน ที่คนทั่วไปส่วนใหญ่มักจะเข้าใจเพี้ยนไปเป็น “อิทธิปาฏิหาริย์” บ้าง (แสดงฤทธิ์ได้เป็นอัศจรรย์ เช่น ล่องหน, ดำดิน, เหาะเหิน ฯลฯ) เป็น “อาเทสนาปาฏิหาริย์” บ้าง (การทายใจ, การหยั่งรู้ใจของผู้อื่น)

ยิ่งในเรื่อง “อิทธิวิธี” แล้ว แทบจะร้อยทั้งร้อย เมื่ออ่านคำแปลที่มีว่า

“เธอบรรลุอิทธิวิธีหลายประการ คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝากำแพง ภูเขาไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลงแม้ในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้”

ดังนี้เป็นต้น

คนก็พาซื่อ เข้าใจตามนั้นตรงๆ เป็น “ภาษาคน” ไปเลย ซึ่งที่จริงแล้วภาษาใน “วิชชา” ในเรื่อง “อิทธิวิธี” นี้ เป็น “ภาษาธรรม” หมายเอา “การเกิดของความรู้ความสามารถ” ที่เรียกว่า “วิชชา” ซึ่งเป็นของพระพุทธเจ้าโดยตรงโดยเฉพาะ จึงจะล้างละ “อวิชชา” หรือดับ “อวิชชา” ได้จริง

จึงจะตรงแท้เป็น “อนุสาสนีปาฏิหาริย์” อันหมายถึง “ความมหัศจรรย์ของคำสอน หรือคำสอนเป็นจริงอย่างมหัศจรรย์”

“อิทธิปาฏิหาริย์” และ “อาเทสนาปาฏิหาริย์” ให้วิเศษเก่งยอดปานใด ก็ไม่สามารถล้างละ “อวิชชา” หรือดับ “อวิชชา” ได้เด็ดขาด

ดังนั้น คำสอนของพระพุทธเจ้าจะเป็น “ปาฏิหาริย์” (ความมหัศจรรย์) อย่างถูกต้องเป็นจริง “วิชชา” ก็ต้องเกิดผลล้างละ “อวิชชา” ได้แน่แท้ ซึ่งเป็นเรื่อง “ไม่ธรรมดา” ผู้ทำได้ ถือว่า มี “ความสามารถเก่งเหนือมนุษย์สามัญ” เขาจึงนับว่า เป็น “ปาฏิหาริย์” ของ “คำสอน” (อนุสาสนี) ซึ่งนับว่ามี “ความสามารถเก่งเหนือมนุษย์สามัญ” เลิศยอดเหมือนกันกับผู้มี “อิทธิปาฏิหาริย์” และ “อาเทสนาปาฏิหาริย์” ที่เหาะเหินเดินน้ำดำดิน หรือหยั่งรู้ใจคนอื่น ฯลฯ

แต่ถ้า “อนุสาสนีปาฏิหาริย์” มันเกิดผลแค่ เหาะเหิน เดินน้ำ ดำดิน ได้หยั่งรู้ใจคนอื่นได้ ฯลฯ หรือเป็นความวิเศษแบบแปลกประหลาดน่าทึ่งอย่างที่เข้าใจกันดื่นๆ อยู่ทั่วไปอย่างนั้น มันก็เป็น “อิทธิปาฏิหาริย์” เป็น “อาเทสนาปาฏิหาริย์” ซึ่งไม่ใช่ “ฤทธิ์” ที่ชื่อว่า “วิชชา” ของพุทธแน่ๆ

ต่อให้มี “อิทธิปาฏิหาริย์” เหาะเหินเดินน้ำดำดินได้จริง แล้วมันจะล้างละ “อวิชชา” กันตรงไหน อย่างไร แม้เหาะได้จริงๆ มันจะล้างละ “อวิชชา” หรือล้างละกิเลสตัณหาอุปาทานกันอย่างไร? ตรงไหน? มันมีแต่จะเพิ่มละไม่ว่า เพราะมันไม่เป็นเหตุเป็นผลกันเลย มันผิดฝาผิดตัวกันอยู่ชัดๆ

ยิ่งกว่านั้นพระพุทธองค์ทรงรังเกียจ “อิทธิปาฏิหาริย์ และอาเทสนาปาฏิหาริย์” ด้วยซ้ำ แม้ที่สุด พระองค์ทรงห้าม ทั้งไม่ให้ศึกษา ทั้งไม่ให้แสดง ถ้าภิกษุใดแสดง ภิกษุนั้นต้องอาบัติทุกกฏ ปานนี้ทีเดียว ใครต้องการจะรู้มากกว่านี้ เชิญค้นคว้าศึกษาจากพระไตรปิฎก เล่ม ๙ ข้อ ๓๓๘ - ๓๕๐ “เกวัฏฏสูตร” พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระองค์ หน่าย – ระอา – รังเกียจ ปาฏิหาริย์ทั้ง ๒ คือ “อิทธิปาฏิหาริย์ และ อาเทสนาปาฏิหาริย์” นี้โต้งๆ ดังนั้นต่อให้ล่องหนได้ เหาะได้ หยั่งรู้ใจคนอื่นได้ ก็ไม่ใช่นัยตรงแห่ง “วิชชา” ของพุทธ

“อิทธิปาฏิหาริย์, อาเทสนาปาฏิหารย์” นั้นเป็นปาฏิหารย์สามัญทั่วไปที่พระพุทธเจ้า ทั้ง “ทรงรังเกียจ” ทั้ง “ทรงห้ามศึกษาห้ามแสดง” ทั้ง “ทรงปรับโทษภิกษุผู้แสดงแม้จะมีจริงเป็นจริงถ้าไม่มีจริงขืนแสดงก็ปาราชิก”

แต่ “วิชชา” นั้นนับเป็น “สิ่งวิเศษสุด” ที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบโดยเฉพาะ และทรงส่งเสริมสั่งสอนจ้ำจี้จ้ำไชให้พากเพียรเอาใส่ชีวิตให้ได้ เป็นปาฏิหาริย์วิสามัญชนิดพิเศษที่ทำให้คนเกิดเป็นคนใหม่ใน “โลกอื่น” (ปรโลก) ได้จริงๆ เรียกโลกนี้ว่า “โลกุตระ” โดยชีวิตไม่ต้องตายจากร่างนี้ไป

เพราะฉะนั้น ภาษาที่แปลความใน “วิชชา ๙“ ทั้งหลาย แม้จะเป็นภาษาคำความเดียวกันกับใน “อิทธิปาฏิหาริย์” และ “อาเทสนาปาฏิหาริย์” ก็ตาม แต่ทั้งนัยสำคัญและทั้งสารสัจจะนั้น “วิชชา” อันคือ “อนุสาสนีปาฏิหาริย์” ก็ต้องต่างกันแน่ ๆ กับ “อิทธิปาฏิหาริย์, อาเทสนาปาฏิหาริย์”

ซึ่ง “ภาษาคน” คำเดียวกันแท้ แต่มีนัยเป็น “ภาษาธรรม” ที่ต่างกันจริง

ส่วนจะเป็น “ภาษาธรรม” หรือคำตรัสนั้น จะมีนัยลึกซึ้งหมายถึง การล้างละ “อวิชชา” อย่างไร ชี้บ่งถึงความเป็นฤทธิ์เป็นเดชของ “อนุสาสนีปาฏิหาริย์” อย่างไร ไว้มีโอกาสค่อยอธิบายกันอีกที

แต่กระนั้นก็ดี ที่อาตมาพูดมาทั้งหมดนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่า ผู้ศึกษาปฏิบัติธรรมแบบพุทธอย่างสัมมาทิฏฐิ และเป็นผู้เจริญยิ่งด้วย “อนุสาสนีปาฏิหาริย์” นั้น จะมี “อิทธิปาฏิหาริย์” หรือ “อาเทสนาปาฏิหาริย์” ไม่ได้ ขอยืนยันว่า มีได้เป็นได้ด้วย ผู้ที่มี “อนุสาสนีปาฏิหาริย์” เจริญยิ่งตามจุดมุ่งหมายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ก็สามารถมี “อิทธิปาฏิหาริย์ หรืออาเทสนาปาฏิหาริย์” ได้ บางท่านมีมากด้วยเก่งด้วยก็เป็นได้ ตามแต่บารมีของแต่ละท่าน บางท่านก็ไม่มีเลย บางท่านก็มีบ้าง บางท่านเก่ง “อิทธิปาฏิหาริย์” ด้วย บางท่านเก่ง “อาเทสนาปาฏิหาริย์” ด้วย ก็เป็นเรื่องจริงของบุญบารมีของแต่ละบุคคล ทว่าถ้าเป็นพระ เป็นสงฆ์ แม้ท่านจะมี “อิทธิปาฏิหาริย์” หรือ “อาเทสนาปาฏิหาริย์” เก่งกาจปานใด ท่านก็ไม่แสดงให้ผิดธรรมวินัยแน่

“อิทธิปาฏิหาริย์ กับ อาเทสนาปาฏิหาริย์” นั้น แม้จะไม่ใช่ “วิชชา” แต่ก็มีในผู้มี “วิชชา” ได้ด้วย ส่วนผู้มี “อิทธิปาฏิหาริย์ กับ อาเทสนาปาฏิหารย์” ถ้าแม้นไม่มี “วิชชา” ก็ไม่มีทางไปนิพพานได้ หรือศึกษาไม่สัมมาทิฏฐิก็ดี แม้สัมมาทิฏฐิก็เถอะ แต่ปฏิบัติไม่บรรลุ “อนุสาสนีปาฏิหาริย์” คือไม่ได้ “วิชชา” นั่นเอง ก็ไม่สามารถพ้น “ทุกขอาริยสัจ” หรือไม่ถึงนิพพาน

สรุป “อิทธิปาฏิหาริย์ กับ อาเทสนาปาฏิหาริย์” ไม่ใช่ “วิชชา” และไม่ใช่ “อนุสาสนีปาฏิหาริย์” ไม่ใช่ “คำสอน” ของพระพุทธเจ้า เพราะ “อิทธิปาฏิหาริย์ กับ อาเทสนาปาฏิหาริย์” นั้น คนอื่นในศาสนาอื่นเขาสอนกัน ในพุทธไม่สอน แต่ผู้มี “วิชชา” ของพุทธบางท่าน มี “อิทธิปาฏิหาริย์ หรือ อาเทสนาปาฏิหาริย์” ได้ด้วย แต่ถึงมีท่านก็ไม่ทำ ไม่แสดง พึงเข้าใจ “วิชชา” ให้ถูกตรง

ใน “วิชชา ทั้ง ๙“ นั้น ไม่ว่าเรื่อง “ทิพยโสต” ก็ดี “เจโตปริยญาณ” ก็ดี ต่างก็ล้วนเข้าใจกันผิดเพี้ยนไปเป็น “อาเทสนาปาฏิหาริย์” จึงไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้ศึกษาผู้ปฏิบัติ อย่างน่าเสียดายยิ่ง เพราะความรู้ขั้น “ญาณทัสสนวิเศษ” หรือขั้น “วิชชา” นี้ มันหมายถึง “ความรู้ยิ่งขั้นพิเศษ” ไม่ใช่หมายถึงแค่สามัญตามภาษาที่แปลไว้ตรงๆ เปรี้ยงๆ เลยทีเดียว เป็นต้นว่า “เจโตปริยญาณ” ที่ให้ความหมายกันไว้ว่า “รู้ใจผู้อื่น อ่านความคิดของเขาได้, ทายใจคนได้” ใครได้ยินได้เห็นภาษาแปลนี้แล้ว มันก็ต้องเข้าใจไปว่า เป็น “อาเทสนาปาฏิหาริย์” แน่ แถมผู้รู้บางท่าน ก็ช่วยขยายความให้อีกว่า “รู้ใจผู้อื่น อ่านความคิดเขาได้ เช่น รู้ว่าเขากำลังคิดอะไรอยู่ ใจเขาเศร้าหมองหรือผ่องใส เป็นต้น” ก็ยิ่งเข้าข่าย “อาเทสนาปาฏิหาริย์” แน่ยิ่งชัดเข้าไปอีก

มันก็ไม่เป็น “วิชชา” ที่จะช่วยล้างละ “อวิชชา” ของตน เพราะเที่ยวได้เก่งออกไปข้างนอกตน ดีไม่ดี “ความเก่งวิเศษ” (อาเทสนาปาฏิหาริย์) นี้ก็จะพาลทำให้เกิดกิเลสหลงดีหลงเก่งของตน เสริมกิเลสตนให้หนาให้มาก หรือไม่ก็เอา “ความเก่งวิเศษ” (อาเทสนาปาฏิหาริย์) นี้ ไปใช้เป็นเครื่องประกาศตนเอง เพื่อเพิ่มลาภ สักการะ เสียงสรรเสริญ ให้แก่ตน ก็เห็นมีทำกันอยู่

เพราะความไม่เข้าใจอย่างลึกซึ้งถ่องแท้ถึงความหมายของ “วิชชา” ที่เป็น “อนุสาสนีปาฏิหาริย์” ตรงๆ เฉพาะๆ อย่างคมแม่นว่า ต่างจากความหมายของ “อิทธิปาฏิหาริย์” ต่างจากความหมายของ “อาเทสนาปาฏิหารืย์”

เหตุก็เนื่องมาจากยังเข้าใจในนัยสำคัญของความเป็น “วิชชา” กับความเป็น “อาเทสนาปาฏิหาริย์” ไม่ชัดเจนเป็น “สัมมาทิฏฐิ” จึงทำให้เข้าใจความหมายของคำตรัสใน “เจโตปริยญาณ” ที่ว่า “กำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น (ปรสัตตานัง) ของบุคคลอื่น (ปรปุคคลานัง) ด้วยใจ” อย่างพาซื่อตรงเผงไปเลย กล่าวคือ เข้าใจความหมายในคำว่า “ของสัตว์อื่น” หรือ “ของบุคคลอื่น” นั้น ก็คือ “สัตว์อื่น – บุคคลอื่น” ที่เป็นสัตว์เป็นบุคคลนอกร่างกายตัวเราไปเลย

ความจริงไม่ใช่เรื่องที่จะไป “รู้ใจของคนอื่น” นอกตัวนอกตนของเรา มันต้อง “รู้ใจในใจของตนในตัวในตนเอง” แล้วพากเพียรอ่าน “ใจตนเอง” ให้รู้จริงรู้ชัด เช่น “ในใจของเรามีราคะ ก็รู้ว่าใจของเรามีราคะ ใจของเรามีโทสะ ก็รู้ว่าใจของเรามีโทสะ ใจของเรามีโมหะ ก็รู้ว่าใจของเรามีโมหะ ใจของเราไม่มีราคะ ก็รู้ว่าใจของเราไม่มีราคะ ใจของเราไม่มีโทสะ ก็รู้ว่าใจของเราไม่มีโทสะ ใจของเราไม่มีโมหะ ก็รู้ว่าใจของเราไม่มีโมหะ ฯลฯ”

สัจธรรมขั้น “วิชชา” นั้นนับว่า “ใจที่มีราคะ” เป็น “บุคคลชนิดปุถุชน” ยังอยู่ในโลกที่เรียกว่า “โลกียะ” หรือถ้าตกสู่โลกที่เรียกว่า “อบาย” ก็เป็น “สัตว์นรก” เพราะอาการหนักมีราคะมาก ส่วน “ใจที่ไม่มีราคะ” นั้น เป็น “พรหมสัตว์” หรือเป็น “บุคคลชนิดอาริยะ” อยู่ในโลกที่เรียกว่า “โลกุตระ”

ใจของเราที่มีลักษณะต่างๆ ดังกล่าวนั้น ก็คือ ใจที่มีชนิด “อื่น” (ปร) อันต่างกัน เป็นต้นว่า “ใจที่มีราคะ” คือ ใจของสัตว์ชนิดหนึ่งหรือใจของบุคคลชนิดหนึ่ง ซึ่ง ต่างจาก “ใจที่ไม่มีราคะ” อันเป็นใจของสัตว์อื่นอีกชนิดหนึ่ง (ปรสัตตานัง) หรือใจของบุคคลอื่นอีกชนิดหนึ่ง (ปรปุคคานัง) ดังนี้

จะเห็นได้ว่า เป็น “สัตว์” เป็น “บุคคล” ที่เรียกว่า “สัตว์อื่น” หรือ “บุคคลอื่น” โดยชี้ชัดลงไป “ที่ใจ” (มนสิ) สัตว์ชนิด “ใจมีราคะ” ก็เป็นใจของสัตว์ชนิดหนึ่ง ส่วนสัตว์ชนิด “ใจไม่มีราคะ” ก็เป็นใจของสัตว์อื่นอีก (ปร) ชนิดหนึ่ง หรือใจของบุคคลอื่นอีก (ปร) ชนิดหนึ่ง

ซึ่งมีลักษณะต่างๆ ของสัตว์อื่น (ปรสัตตานัง) ของ บุคคลอื่น (ปรปุคคลานัง) ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ใน “เจโตปริยญาณ” เป็นหลักๆ สำหรับเป็นเครื่องตรวจวัด “ใจของตน” ถึง ๑๖ ลักษณะ (พระไตรปิฎก เล่ม ๙ ข้อ ๑๓๕) ได้แก่

ใจมีราคะ ก็รู้ว่าใจมีราคะ (สราคะ)

ใจมีโทสะ ก็รู้ว่าใจมีโทสะ (สโทสะ)

ใจมีโมหะ ก็รู้ว่าใจมีโมหะ (สโมหะ)

ใจไม่มีราคะ ก็รู้ว่าใจไม่มีราคะ (วีตราคะ)

ใจไม่มีโทสะ ก็รู้ว่าใจไม่มีโทสะ (วีตโทสะ)

ใจไม่มีโมหะ ก็รู้ว่าใจไม่มีโมหะ (วีตโมหะ)

ใจหดหู่ ก็รู้ว่าใจหดหู่ (สังขิตตะ)

ใจฟุ้งซ่าน ก็รู้ว่าใจฟุ้งซ่าน (วิกขิตตะ)

ใจเป็นมหัคคตะ ก็รู้ว่าใจเป็นมหัคคตะ (มหัคคตะ)

ใจไม่เป็นมหัคคตะ ก็รู้ว่าใจไม่เป็นมหัคคตะ (อมหัคคตะ)

ใจทีมีใจอื่นอีกอันยิ่งกว่า ก็รู้ว่าใจที่มีใจอื่นอีกอันยิ่งกว่า (สอุตตระ)

ใจที่ไม่มีใจอื่นยิ่งกว่าแล้ว ก็รู้ว่าใจที่ไม่มีใจอื่นยิ่งกว่าแล้ว (อนุตตระ)

ใจเป็นสมาธิ ก็รู้ว่าใจเป็นสมาธิ (สมาหิตะ)

ใจไม่เป็นสมาธิ ก็รู้ว่าใจไม่เป็นสมาธิ (อสมาหิตะ)

ใจหลุดพ้น ก็รู้ว่าใจหลุดพ้น (วิมุตติ)

ใจไม่หลุดพ้น ก็รู้ว่าใจไม่หลุดพ้น (อวิมุตติ)

ต้องมี “วิชชา” ที่สามารถรู้ความเป็น “สัตว์หรือบุคคล” ของใจตนเอง ดังนี้ต่างหาก จึงจะล้างละ “อวิชชา” ของตนสำเร็จถึงขั้นสุด “วิมุติ” จบได้

หากดูตามภาษาให้แยบคายถ่องแท้ ที่ว่า “ปรสัตตานัง ปรปุคคลานัง เจตสา เจโต ปริจจ ปชานาติ” และก็แปลกันว่า “กำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น (ปรสัตตานัง) ของบุคคลอื่น (ปรปุคคลานัง) ด้วยใจ” นี้นั้น ตนต้องรู้ “ความเป็นสัตว์อื่นๆ ในตน” หรือ “ความเป็นบุคคลอื่นๆ ของตน” พระพุทธเจ้าทรงอุปมาอุปไมยให้ด้วยว่า “เปรียบเหมือนหญิงสาวชายหนุ่มที่ชอบการแต่งตัว เมื่อส่องดูเงาหน้าของตน ในกระจกอันบริสุทธิ์สะอาด หรือในภาชนะน้ำอันใส หน้ามีไฝ ก็จะพึงรู้ว่าหน้ามีไฝ หรือหน้าไม่มีไฝ ก็จะพึงรู้ว่าหน้าไม่มีไฝ

ต้องจับนัยสำคัญให้แม่นชัดว่า “เจโตปริยญาณ” ก็คือ รู้ใจของตนแท้ๆ ตรงๆ ดังที่ท่านเปรียบให้ดูหน้าของตนอยู่โต้งๆ มิใช่ไปดูหน้าของคนอื่น เป็นอันขาด “วิชชา” จึงไม่ใช่ “อิทธิปาฏิหาริย์” และไม่ใช่ “อาเทสนาปาฏิหาริย์” แน่นอน แต่เป็น “อนุสาสนีปาฏิหาริย์” อยู่ชัดๆ

และต้องแม่นคมจริงๆ ว่า “อิทธิปาฏิหาริย์” ก็ดี “อาเทสนาปาฏิหาริย์” ก็ดี มีฤทธิ์เดชลักษณะอย่างไร ส่วน “อนุสาสนีปาฏิหาริย์” มีฤทธิ์เดชแบบไหน

ฤทธิ์เดชของ “อิทธิปาฏิหาริย์” หรือ “อาเทสนาปาฏิหาริย์” นั้น คนทั่วไปต่างเข้าใจกันดี ว่า เป็นลักษณะเก่งกาจประหลาดเกินมนุษย์สามัญ เช่น เหาะเหิน เดินน้ำ ดำดิน หรือ หยั่งรู้ใจคนอื่น เป็นต้น อันเป็นเรื่องพิเศษอยู่จริงๆ แต่ไม่สามารถทำให้พ้นทุกข์ได้ โดยเฉพาะไม่เน้นการล้างละกิเลสตัณหาอุปาทาน แต่ “อนุสาสนีปาฏิหาริย์” นั้นตรงกันข้าม นัยสำคัญเน้นตรงที่สามารถล้างละกิเลสตัณหาอุปาทานหรือล้าง “อวิชชา” ด้วย “วิชชา” ของพระพุทธเจ้าโดยตรงโดยแท้

ถ้าแม้นผู้ใดบรรลุ “วิชชา” ตามนัยที่ยืนยันว่า ล้างละ “อวิชชา” หรือล้างละกิเลสตัณหาอุปาทาน และเจริญ “กุศล” ทั้งปวง เป็นแบบพุทธนี้จริง มีผลปรากฏพิสูจน์ชัด ก็ตรงตามคำสอนของพระพุทธองค์ และเรียกว่า “ปาฏิหาริย์” เพราะการล้างละ “อวิชชา” ก็ดี ล้างละกิเลสตัณหาอุปาทานก็ดี มันไม่ใช่เรื่องสามัญที่มนุษย์จะทำได้ง่ายๆ มันเป็นเรื่องวิสามัญที่ยิ่งใหญ่ของมนุษย์จริงๆ จึงเรียกผลที่ทำได้สำเร็จนี้ว่า “ปาฏิหาริย์” และที่ล้างละได้ ก็เพราะใช้ทฤษฎีที่เป็น “คำสอนของพระพุทธเจ้า” (อนุสาสนี) อย่าง “สัมมา” ถูกต้องตรงทาง จึงเรียกว่า “อนุสาสนีปาฏิหาริย์”

ย่อมไม่ใช่ “อิทธิปาฏิหาริย์” หรือ “อาเทสนาปาฏิหาริย์” เด็ดขาด

ยังมีนัยสำคัญของคำว่า “อวิชชา” ที่น่ารู้กันให้คมให้แม่นให้ชัดอีก

   [เลือกหนังสือ]
page: 2/20
close
   Asoke Network Thailand