[เลือกหนังสือ]      ปก | คำนำ | สารบัญ | ภาคผนวก | คัชนี
page: 4/20

สารบัญ
บทที่ 1
ฉลาดชัดตัดกิเลส

[1]
[2]

บทที่ 2
อวิชชาของคนฉลาด
[3]
[4]

บทที่ 3
พัฒนาอารมณ์
[5]
[6]

[7]

[8]

บทที่ 4
ความแตกต่าง
ระหว่าง
พุทธกับฤาษี
[9]
[10]

[11]
[12]

บทที่ 5
คุณวิเศษของพุทธ
[13]
[14]

[15]

บทที่ 6
อีคิวโลกุตระ
[16]
[17]

[18]

บทที่ 7
หลักปฏิบัติสำคัญ ของศาสนาพุทธ

[19]
[20]

 

อีคิวโลกุตระ... สมณะโพธิรักษ์ / บทที่ 2


 ฉีกชี้ ฉลาดดี ฉลาดชั่ว 

ที่ยกตัวอย่างเช่นนี้ บางคนอาจจะเห็นว่า อาตมาก่นแต่ความเลว ความชั่วมาถล่มทลาย เพ่งโทษคนไปทั่ว มองแต่แง่ต่ำ ก็คงจะมีแน่ ก็ขออภัย ถ้าท่านผู้ใดรู้สึกอย่างที่ว่า แต่ขอบอกเจตนาของอาตมาก็แล้วกัน ที่อาตมาพูดมาเขียนมานี้ อาตมาเจตนาวิจัยวิจารณ์ เพื่อให้รู้ให้เห็นจุดบกพร่องที่จะต้องแก้ไขมาตลอดทั้งหมด และบอกวิธีแก้ให้ด้วย ตามภูมิปัญญาของอาตมาเท่าที่ทำได้ เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้มีอย่างนั้น บอกได้เลยว่า ชี้จุดบกพร่องเพื่อให้ปฏิบัติพัฒนาทั้งสิ้น เว้นแต่บางตอนเท่านั้นที่เป็นแง่ดี แง่ยก ซึ่งก็เป็นไปตามเนื้อเรื่องที่ต้องพูดถึงบางจุดบางครั้งเท่านั้น ดังนั้น จึงไม่มีข้อแก้ตัว และไม่ขอแก้ตัวเลยที่เขียนอย่างนี้ พูดอย่างนี้ แต่เป็นการขอรับตรงๆโดยดุษณีทีเดียว ว่าเจตนาทำอย่างนี้ พูดอย่างนี้

โดยความแท้จริงนั้น คนที่พยายามกดข่ม “ไม่กระทำความไม่ดี” และพยายามทำ “ความดีงาม” ตามที่ตนเห็นว่าถูกต้องด้วยความตั้งใจอยู่มาก ย่อมมีอยู่แน่ ไม่น้อยเลยในสังคมทุกสังคม แต่ในความลึกซึ้งของสัจจะนั้น ผู้ยังมี “อนุสัย” ของโลกธรรม ลาภ, ยศ, สรรเสริญ, สุขโลกีย์ มันมีความซับซ้อนของ “ความลวงตนเอง” ดังได้ชี้แจงมาคร่าวๆจนถึงบรรทัดนี้ มันมีจริงๆนะ และบอกแล้วว่า เจตนาอาตมาต้องการ “ฉีกหน้าความไม่ดีออกมาให้ศึกษา” โดยเฉพาะชื่อเรื่องที่เราพูด คือเรื่องของ “ความฉลาด” ทั้ง “ไอคิว” (Intelligence Quotient) และแน่นอน “อีคิว” (Emotional Quotient) ที่ยังไม่พ้น “อวิชชา” ก็ต้องด้วย จึงต้องถล่มเรื่อง “ความฉลาด” เป็นธรรมดา

ส่วนผลดีที่เกิดในโลกมากมาย ด้วยน้ำมือของ “ความฉลาด” แม้จะแกมโกง ย่อมมีอยู่จริง ในด้านของสังคมศาสตร์ ก็ขอยกไว้อยู่แล้ว และขอทูนเทิดเชิดชูไว้ในฐานะแห่งความมีประโยชน์คุณค่าให้แก่สังคมจริงๆ

แต่ในด้านจิตวิญญาณหรือสารสัจจะ มันเป็นโทษ มันเลวลงจริงๆ

พูดกันมาถึงขนาดนี้แล้ว ก็คงพอจะเข้าใจแล้วล่ะนะว่า อาตมาตั้งใจกล่าวโทษ “ความฉลาด” ที่ชื่อว่า “ไอคิว” แม้แต่ “อีคิว” ว่ามีจริง หากยัง “อวิชชา” เจตนาของหนังสือเล่มนี้ ก็อันนี้แหละที่อาตมาต้องการจะบอก

ความซับซ้อนซ่อนสลับที่ “ลวงทั้งตนเองและทั้งสังคมมนุษย์” นั้น ยิ่งผู้ที่มีความเก่งแบบโลกีย์ ชนิดที่เป็น “อีคิว” นี่ก็เถอะ ยิ่งมีความซับซ้อนซ่อนสลับอย่างประณีตคัมภีรสุภาพเชิงซ้อนยิ่งกว่า “ไอคิว” อีกนัก กว่านัก หากผู้มี “อีคิว” นั้นยังมี “อวิชชา” “ความฉลาด” ของคนฉลาดที่มีทั้ง “ไอคิว” และมีทั้ง “อีคิว” เสริมเข้าไปอีก ทว่ายัง “อวิชชา” นี่แหละคือ คนที่ต้องกลัวยิ่งกว่า เพราะน่ากลัวกว่าหลายเท่า

“คนฉลาด” ที่ยังหยาบหรือยังไม่ประณีตคัมภีรสุภาพนั้น ถ้าจะอุปมาอุปไมยดู ก็เช่น โจรหยาบกักขฬะ เราก็ต้องกลัว เพราะเห็นง่าย มันไม่ลึกซึ้งลึกซ้อนอะไร มันน่ากลัวก็เพียงขั้นเดียว หรือไม่กี่ชั้น แต่ถ้าเป็นโจรเสื้อนอก ก็ลึกประณีตคัมภีรสุภาพขึ้นไปอีกหลายชั้นต่อหลายชั้น มันดูไม่น่ากลัว เพราะเห็นยาก แต่นั่นยิ่งน่ากลัวยิ่งกว่าโจรกักขฬะ มันทับถมซ่อนซ้อนเป็น “อวิชชา” ลึกเข้าไปแฝงอยู่ในวงสังคม ยิ่งเป็นโจรผู้ดีที่อยู่ในคราบของอัจฉริยะด้วย และสูงส่งประหนึ่งพร้อมพรักทั้งคุณธรรม ยอดยิ่งอีกด้วย ประชาชนคนทั่วทั้งสังคมเคารพซ้ำเสียอีก เพราะไม่รู้เท่ารู้ทัน จะหาคนกลัวจึงแทบจะไม่มีเลย มีแต่จะหลงรักเคารพซาบซึ้งเทิดทูน ฉะนี้แหละร้ายยิ่งลึก เพราะซับซ้อนซ่อนสลับด้วย “ความมีลักษณะดี” อีกหลากชั้นหลายเชิง

แต่ระวังอย่าทำเป็นรู้มาก เที่ยวได้เพ่งโทษท่านผู้มี “วิชชา” ที่แท้จริงเข้าไปล่ะ บาปหนักหนานะจะบอกให้ มันรู้ไม่ได้ง่ายๆหรอกเพราะมันซับซ้อนยากที่จะหยั่งรู้ด้วยตาเนื้อ แม้จะมีเหตุอื่นๆอีกมาก เป็นองค์ประกอบก็ตาม แม้แต่พระอาริยะด้วยกันเอง ท่านยังรู้กันไม่ได้ง่ายๆ ขนาดพระสารีบุตรสอนลูกศิษย์อยู่เองแท้ๆ ยังตู่ลูกศิษย์ว่า ยังไม่บรรลุ ทั้งๆที่ลูกศิษย์ของท่านบรรลุอรหันต์แล้ว

ที่พูดขึ้นมานี้ คือ หลักวิชา ไม่ใช่เป็นเรื่องของการกล่าวโทษบุคคลใดๆ และไม่ใช่ให้ใครไปจับผิดใคร แม้มันจะมีจริงอยู่บ้าง ไม่มากก็น้อย ส่วนจะเป็นใคร ถ้าเจ้าตัวรู้ตัว นั่นแหละจะดีมาก กว่าผู้อื่นรู้ เพราะผู้อื่นรู้ก็เพียงแต่ป้องกันไว้ไม่ให้ผู้ร้ายชนิดดังกล่าวทำการได้มากนัก ก็เท่านั้น แต่แก้ต้นเหตุไม่ได้ หากเจ้าตัวรู้ตัวได้ และสำนึกแก้ไขตนเอง นี่คือ ดีสุด

ยิ่งถ้าได้ฟังคำอธิบายความจาก พระไตรปิฎก เล่ม ๓๖ ข้อ ๑๐๘ ที่ว่า “คนผู้ ปทปรมะ คือ คนผู้ได้ฟังพระพุทธพจน์ก็มาก กล่าวก็มาก ทรงจำไว้ก็มาก บอกสอนก็มาก แต่ไม่มีการบรรลุมรรคผลในชาตินี้” ซึ่งก็หมายถึง คนผู้นี้ชาตินี้ทั้งชาติไม่มีทางบรรลุ “วิชชา” นั่นเอง แม้แค่บรรลุ “ฌาน” ที่พ้น “อวิชชา” คนผู้นี้อาจจะพ้น “มิจฉาทิฏฐิ” ก็ได้ แต่ท่านยืนยันไว้แล้วว่า ไม่บรรลุมรรคผล นั่นคือ ไม่เข้าข่าย “อาริยภูมิ” ดังนั้น ขั้นบรรลุ วิชชา ๒ คือ “วิปัสสนาญาณ” ที่พ้น “อวิชชา” หรือยิ่งบรรลุ “มโนมยิทธิ” ที่พ้น “อวิชชา” เป็น “อนุสาสนีปาฏิหาริย์” ก็ยิ่งไม่ต้องพูดถึงก็ได้ คนลักษณะนี้ จึงเป็นได้แค่รู้ภาษา อย่างเก่งก็ “เฉลียวฉลาดเก่งในตรรกะของความรู้พุทธศาสนา” อยู่แค่นั้น ซึ่งอาจจะเก่งมีความรู้ความฉลาดระดับได้รับการยกย่องว่า “พระไตรปิฏกเคลื่อนที่” หรืออาจจะถึงขั้น “ปราชญ์ทางพุทธ” ปานฉะนั้นก็ได้ แล้วคนขนาดนี้เรียกว่า มี “ความฉลาดปราดเปรื่อง” ไหมล่ะ?

ลักษณะนี้แล คือ คนที่มี “ความฉลาด” แต่ยัง “อวิชชา” คนฉลาดขั้นนี้ อาจจะฉลาด…ทั้งความมี “ไอคิว” สูงและทั้ง “อีคิว” สูงด้วยก็ได้ แต่ยังไม่เข้าขั้นพ้น “อวิชชา” หรือยังไม่บรรลุมรรคผลนั่นแหละ

ใครๆมักจะเข้าใจผิดว่า คนผู้ “ปทปรมะ” เป็น “คนโง่” ความจริงแล้ว “ไม่โง่เลย” เพราะเห็นอยู่ชัดๆว่า เป็นคนคงแก่เรียนทีเดียว …ฟังหรืออ่านพระพุทธพจน์มามาก รู้ได้จำได้มาก สำแดงภูมิรู้ไว้มาก พูดไว้มาก สอนเขามามาก คนระดับมีฐานะขนาดนี้จะเรียกว่า “เป็นคนโง่” ในสมัยนี้ไม่ได้เลย ฉะนี้เองคือ สภาพที่ยืนยันได้ชัดว่า “อัจฉริยะ” แต่ “อวิชชา”

เชื่อไหมว่า “ความฉลาด” ของคนที่ “อวิชชา” นั้น ทำลายตัวผู้ฉลาดเอง อีกทั้งทำลายสังคมด้วย ได้อย่างร้ายกาจ แสบเผ็ด หยาบคาย ยิ่งนัก

แต่เอาเถอะ ใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ย่อมเป็นสิทธิ์ส่วนตัว สำหรับอาตมานั้นเห็นจริงๆ ว่า “ความฉลาด” ทั้ง “ไอคิว” และ “อีคิว” ที่ยัง “อวิชชา” มันเป็นโทษร้ายกาจยิ่ง ถ้ามันไม่มีคู่ทำงานร่วมที่เป็น “คุณธรรม” อันทรงฤทธิ์ทรงอำนาจเพียงพอที่จะควบคุมมัน หรือผู้นั้นไม่สามารถหยั่งลึกเข้าไปรู้แล้วจัดการกับ “อนุสัย” ที่เป็น “เสือร้าย” บงการอยู่ใต้ก้นบึ้งของจิต

แต่ถ้าว่าเฉพาะ “ความฉลาด” โดยตัวมันเอง มันก็เป็น “คุณ” ได้ เป็น “ประโยชน์” ได้อย่างวิเศษ ถ้าแม้นคนผู้นั้นใช้ “ความฉลาด” ชนิดสามารถประกอบกรรมกิริยาหรือทำการงานโดยไม่ให้ “จิตตัวอื่นๆที่มีลักษณะชั่ว” เช่น กิเลสตัณหาอุปาทาน หรือไม่ให้มี “ตัวอกุศลเจตสิก หรือตัวร้ายอื่นๆในจิต” ที่เป็น “เสือร้าย” ร่วมระคนผสมปนทำงานอยู่ในจิต

“ความฉลาด” จะมี “คุณค่าสูงส่ง” ด้วยซ้ำถ้าหากผู้ใดสามารถปฏิบัติธรรม กระทั่งมีแต่ “ตัวกุศลเจตสิก” หรือมีแต่ “ตัวดีในจิต” ทั้งสิ้นร่วมพลังสร้างสรรก่อกรรมกิริยาออกมาให้แก่โลกแก่สังคม เพราะได้ปฏิบัติละล้างเจ้า “ตัวอกุศลเจตสิกตัวเลวตัวร้าย” หรือกิเลสตัณหอุปาทานให้อ่อนฤทธิ์เบาอำนาจ การงานก็จะเป็นคุณเป็นค่าสูงขึ้นๆ ตามที่กิเลสตัณหาอุปาทานมันลดละจางลงๆไปได้มาก ยิ่งสามารถปราบให้มันตายดับสิ้นไปได้หมดเกลี้ยงสนิท ชนิด “ไม่กลับกำเริบ” (อกุปปะ) หรือแม้แค่ “ไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา” (อวินิปาตธรรม) ก็ดีจริงได้ไปตามความมี “วิชชาโลกุตรธรรมแต่ละขั้น” ยิ่ง “อนุสัย” ก็ไม่สามารถซ่อนลึกแอบร่วมทำงาน ก็ยิ่งยอดเยี่ยม ยิ่งเป็นการงานที่เป็นบุญเป็นคุณแก่โลกอย่างบริสุทธิ์

ดังนั้น ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่ “ความฉลาด” หรือ “ไอคิว” แม้แต่ “อีคิว” มันอยู่ที่ “ความมีธรรมะหรือมีโลกุตรธรรม” แท้จริงหรือไม่ นั่นต่างหากที่สำคัญยิ่งกว่าจะมี “ความฉลาด” มากหรือน้อย

คนส่วนใหญ่นั้น พูดได้ว่าหลงใหลใน “ความฉลาด” เป็นเอก อยากมี “ความฉลาด” มากๆทั้งนั้น ต้องพยายามหาทางสร้างความฉลาดให้แก่ตนอยู่เสมอทุกวิถีทางเท่าที่จะทำได้ ทั้งฝึกฝนทั้งเรียน แม้แต่ในการละเล่น ก็หาทางสร้าง “ความฉลาด” สร้าง “เชาวน์ไวไหวพริบ” ใส่ตน ยิ่งการทุจริตคดโกงยิ่งไม่ต้องกล่าวเลย ผู้กระทำการทุจริตคดโกง ยิ่งต้องการความฉลาดมาใช้มากๆ ดังนั้น คนทั้งหลายจึงจะรู้สึกว่า ตนเอง “ฉลาดไม่พอ” พยายามกันเหลือเกินในการแสวงหา “ความฉลาด” คนทุกวันนี้แทบกล่าวได้ว่าทั้งโลกกระมัง ต่างก็พยายามแสวงหา “ความฉลาด” กันยิ่งกว่าพยายามแสวงหา “ธรรมะหรือคุณธรรม” ชนิดเทียบกันไม่ได้เลย

ถ้าผู้ใดทำความเข้าใจดีๆตามที่อาตมาได้อธิบายมาตลอด ก็คงพอจะเห็นได้ว่า มันไม่ใช่ “ความฉลาด” นั้น “ฉลาดไม่เพียงพอ” ต่อให้ “ฉลาดมากๆ” ยิ่งมากมันก็ยิ่งทำร้ายทำลายได้แหลกราญบรรลัยสาหัสตามความมากแห่งความฉลาดเอาด้วยซ้ำ หากเป็น “ความฉลาด” ที่ระคนกับ “ความชั่ว” หรือผสมโรงกับกิเลส มันก็เป็น “ความฉลาด” ที่ศาสนาพุทธมีศัพท์เรียกตรงๆว่า “เฉกตา” หรือ “เฉกะ” หรือ “เฉโก” ซึ่งแปลความกันว่า “ความฉลาดชนิดแกมโกงแกมเลวแกมร้าย” กล่าวคือ “ความฉลาด” นั้นมี “อกุศลเจตสิก” ปนๆอยู่

ส่วน “ความฉลาด” อีกชนิดหนึ่ง พุทธศาสนาเรียกว่า “ปัญญา” หรือ “ญาณ” ซึ่งเป็น “ความฉลาดชนิดดีมีคุณมีค่า” เพราะเป็น “ความฉลาด” ที่ประกอบไปด้วยกุศลเจตสิก เป็น “ความฉลาด” ที่ผสมผเสกับ “ความดี” หรือ “ความฉลาด” ที่ระคนกับ “จิตลักษณะดี” อื่นๆ

ทั้งคำว่า “เฉโก” และคำว่า “ปัญญา” ต่างก็แปลว่า “ความฉลาด” ทั้งคู่ แต่เป็น “ความฉลาด” คนละแบบคนละชนิดดังกล่าว คนไทยแต่ตั้งแต่เดิมรู้ดี เพราะเป็นภาษาบาลีทั้งคู่ที่มากับศาสนาพุทธนานกว่าสองพันปีแล้ว

ปัจจุบันนี้ ไม่มีใครยอมรับกันแล้ว ถ้าใครจะมอบ “ความฉลาด” นั้นๆให้แก่เราด้วยคำกล่าวชมเราว่า เป็นคนมี “เฉโก” หรือ “เฉกะ” เพราะลึกๆก็ยังเข้าใจความหมายของ “ความฉลาดอย่างเฉโก” นั่นเอง ดังนั้น คำว่า “เฉโก” ที่จะใช้ในความหมายว่า “ความฉลาด” กับคนทั่วไปทั้งๆที่คนผู้นั้นมี “ความฉลาด” แต่ฉลาดชนิดไม่ดีหรือชนิดแกมโกงแกมเลวอยู่แท้ๆ เขาก็ไม่ใช้คำนี้กันแล้ว หรือไม่กล้าใช้ หากจะมีใช้กันบ้างก็น้อยมากในสังคมไทย

ด้วยเหตุนี้เอง คนไทยทุกวันนี้ จึงใช้กันแต่คำว่า “ปัญญา” เท่านั้น สื่อความหมายถึง “ความฉลาด” ไม่ว่าจะเป็น “ความฉลาดที่เลวร้าย” หรือ “ความฉลาดที่ดี” ก็เหมาใช้คำว่า “ปัญญา” คำเดียวนี่แหละเรียกกันปนเปไปหมด คนไทยก็ขาดภาษาที่ให้ความหมายของ “ความฉลาด” ซึ่งแบ่งลักษณะเป็น “ฉลาดดี – ฉลาดชั่ว” ไว้ให้รู้กันอย่างชัดเจนไปหนึ่งคำ

ดังนั้น ความรู้เกี่ยวกับ “ความฉลาด” ในสังคมคนไทยก็แคบเข้า การสื่อความหมายที่หมายถึง “ความฉลาด” ก็สับสน ไม่แจ้งชัดทั้งในความหมายของ “ความฉลาด” เอง ไม่แจ้งชัดทั้งในการระบุลงไปที่ “คนผู้มีความฉลาด” นั้นๆว่า ใครฉลาดชนิดใด สังคมที่ใช้คำว่า “ปัญญา” หมายถึง “ความฉลาด” เพียงคำเดียวมั่วๆปนๆไปหมด ไม่ว่า “ฉลาดชนิดชั่วหรือฉลาดชนิดดี” นี่เอง ที่ทำให้คนผู้มีไอคิวสูง ได้ช่องใช้ความฉลาด (เฉโก) หลอกผู้คนในสังคมซ้ำซ้อนเข้าไปอีกหนักหนาสาหัสยิ่งๆขึ้น

 ฉลาดถูกทาง สร้างคุณธรรม 

สังคมมนุษย์ทั่วโลกได้หลงใหล “ความฉลาด” อย่างเด่นโด่งดิ่งลึก และเอาแต่ส่งเสริมสร้างสรรค์จิตวิญญาณคนให้ “ฉลาด” จนล้ำหน้า “ความมีธรรมะหรือมีคุณธรรม” กระทั่งล้ำหน้าการส่งเสริมอาการลักษณะอื่นๆ อันจะทำให้ทั้งชีวิตมนุษย์ และทั้งชีวิตสังคมเจริญตามสัจจะแท้จริงกว่า

คงจะทั้งโลกแล้วกระมัง ที่ไม่เชื่อว่า “ความมีธรรมะหรือมีคุณธรรม” เป็น “ความสำคัญ” ที่สำคัญสุดยอดของความเป็นมนุษย์ อันจะไม่ทำลายทำร้ายคน ไม่ทำลายทำร้ายสังคม แต่กลับจะนำพาให้คนแต่ละคน นำพาสังคมทั้งสังคมเจริญพัฒนาและอยู่เย็นเป็นสุข อุดมสมบูรณ์

ทุกวันนี้ทั้งสังคม ทั้งนักปราชญ์ ทั้งนักวิชาการ ทั้งนักการศึกษา ทั้งนักบริหารผู้รับหน้าที่รับผิดชอบสังคมประเทศชาติ แม้แต่นักการศาสนา ต่างได้ละเลยจนถึงขั้นทิ้งขว้าง “ความมีธรรมะที่เป็นโลกุตรธรรม” กันเกือบพร้อมเพรียงแล้ว แม้จะไม่ละเลยก็ส่งเสริมแบบ “มิจฉาทิฏฐิ” ซึ่งก็มีอยู่มากนับไม่ถ้วน หรือไม่ก็ได้แค่แบบไม่มีฤทธิ์แรงที่ถึงขีดเขตของปรมัตถธรรม เพราะต่างมัวไปเน้นแต่ “ความฉลาด” เน้นแต่กิจแต่เรื่องที่จะอำนวยลาภ, ยศ, สรรเสริญ, สุขโลกีย์ใส่ตนเป็นเอก ไม่เอาใจใส่มุ่งเน้นส่งเสริมสร้างสรรค์อาการลักษณะสำคัญสุดยอดของจิตวิญญาณ อันคือ “ความมีธรรมะที่เป็นโลกุตรธรรม” ให้แก่ตนเองแก่มนุษย์อย่างบรรลุผล หรือมีประสิทธิผลแล้วจริงๆ

ในสังคมทั้งโลกทุกวันนี้ เต็มสังคมโด่งดังมากมายหลากหลายไปด้วย การส่งเสริมสร้างสรรค์ให้คน “ฉลาด” สารพัดวิธี สารพัดเครื่องมือ สารพัดเครื่องอบรม ทั้งที่เป็นอุปกรณ์ที่ชื่อว่า ของเล่น – ของจริง สารพัดทฤษฎี สารพัดหลักการ สารพัดโรงเรียน สารพัดมหาวิทยาลัย สารพัดสถาบัน ล้วนส่งเสริมสร้างสรรค์ให้ “คนฉลาด” เป็นจุดเอกทั้งนั้น แม้แต่การศึกษาในมหาวิทยาลัยสงฆ์แท้ๆ ก็เน้นส่งเสริม “ความฉลาดรอบรู้ทางเชาวน์ไวไหวพริบ” ยิ่งกว่า ส่งเสริมการสร้างสรรค์ “ธรรมะ” หรือสร้างสรรค์ “ความมีโลกุตรธรรม” ให้เกิดให้เป็นจริงถึงขั้นปรมัตถสัจจะ

มหาวิทยาลัยต่างๆเกือบทั้งโลกของปัจจุบันนี้แหละตัวดี ที่ส่งเสริมให้คน “เฉโก” (ฉลาด) ได้จริงเด่นโด่ง มีผลเป็นประจักษ์สิทธิ์ชัดแจ้ง เป็นที่ยอมรับกันถ้วนทั่ว แต่มหาวิทยาลัยส่งเสริมให้คน “มีธรรมะที่เป็นโลกุตรธรรม” ก็เห็นกันชัดแสนชัดเช่นกัน ว่า ไม่เพียงพอ หรือที่มีก็ให้ผลอ่อนด้อยสุดด้อย

ที่พูดมาแล้วตั้งนานสองนานนี้ มิใช่หมายความว่า “ความฉลาด” ไม่ดี มีแต่โทษ ไม่ใช่อย่างนั้น หรือ ทุกวันนี้ “ไม่มีผลของความฉลาด…ของความรู้…ของความมีไหวพริบเชาวน์ไว” เกิดขึ้นแก่คนแก่สังคม ก็ไม่ใช่อีก เท่าที่พูดมาทั้งหมด ไม่ได้ปฏิเสธเลยว่า “ความฉลาด” โดยตัวของ “ความฉลาด” เองนั้น ไม่ดี “ความฉลาด” (กุศล) ดีแน่ๆ และ “ผลของความฉลาด…ของความรู้…ของความมีไหวพริบเชาวน์ไว” มีแน่ คนในสังคมก็ฉลาดเพิ่มขึ้น คนมีความรู้เพิ่มขึ้น คนมีเชาวน์ไวสูงขึ้นมากขึ้นแน่ๆ แต่มันมีชนิดที่เน้นแต่ “ฉลาด” นั่นแหละเด่นๆโด่งๆ แล้ว “ความฉลาด” นั้นกลับเป็นพิษเป็นภัยต่อตนต่อสังคมหนักขึ้นไปอีก

เพราะไม่ได้เน้น “คุณธรรม” หรือไม่เน้นเรื่อง “ธรรมะ” ในการพัฒนามนุษย์ให้บรรลุธรรมกันจนมี “โลกุตรธรรม” กระทั่ง “โลกุตรธรรม” มีฤทธิ์เดชอำนาจเข้าไปคุมครอบ “ความฉลาด” ไม่ให้ “ความฉลาด” ไปแสดงบทบาท หรือกรรมกิริยาที่ไม่ซื่อสัตย์ ทุจริต หรือแม้แต่ “ไม่ไปเอาเปรียบ” คนอื่นที่ “ไม่ฉลาดเท่าตน” อย่างเป็นจริงในสังคม ชนิดที่คนได้พัฒนาตนจนมี “ความฉลาด” มาก แล้วเข้าไปช่วยเหลือเผื่อแผ่แบ่งปันเกื้อกูลแก่คนที่ “ฉลาด” น้อยกว่าตนหรือคนด้อยกว่าตน โดยผู้กระทำการช่วยเหลือมี “ความฉลาด” ในตน บอกตนอย่างแจ้งชัดว่า การกระทำเช่นนี้นั้น เป็นประโยชน์ เป็นบุญ เป็นกุศล อันแท้จริงแก่ตนแก่สังคม จึง “เสียสละ” ได้ถึงขั้นเป็นจริง เพราะชนะกิเลสในตน การกระทำนั้นจึงทั้งตั้งใจและเต็มใจ

หากผู้ฉลาดมีโลกุตรธรรมแท้ ย่อมจะเป็นผู้เห็นแก่ตัวน้อยลงๆ ที่สุดถึงขั้นไม่เห็นแก่ตัวเลย หรือเป็นคนที่กิเลสโลภ – โกรธ – หลง ลดลงน้อยลงจนหมด “ความฉลาด” เช่นนี้จึงจะเป็น “ความฉลาดที่ดี” ที่เรียกว่า “ปัญญา” มีใช่ “ความฉลาดที่เลว” ที่เรียกว่า “เฉโก” เพราะเป็น “ความฉลาด” ที่ได้รับการศึกษาอย่างเป็น “สัมมาทิฏฐิ” ในเรื่องของจิตวิญญาณ ตามทฤษฎีของพระพุทธเจ้า จึงได้เรียนรู้อาการลักษณะอื่นๆของจิตวิญญาณ ซึ่งมีทั้งดีทั้งเลวพิสดารหลากหลาย แล้วสามารถทำลายอาการเลวในจิตวิญญาณ เสริมสร้างอาการดีในจิตวิญญาณอย่างมีผลจริง

โดยไม่หลงเน้นเด่นโด่งกันแต่ในเรื่องของ “ความฉลาด” อยู่เท่านั้น

ภูมิรู้ที่เป็น “ความฉลาด” หรือภูมิรู้ที่เป็น “ไอคิว” แค่แคบๆหรือเอียงโด่งเด่นไปมาก ไม่พาให้คนเจริญได้จริงสมบูรณ์หรอก ซ้ำมิหนำพาให้เลวร้ายทั้งตนเอง ทั้งผู้อื่น ทั้งสังคม ทั้งโลกเอาด้วย

โลกทุกวันนี้ ไม่ได้ขาด “ความฉลาด” แต่ขาด “ธรรมะหรือคุณธรรม”

ดีมานด์หรืออุปสงค์ของสังคมมนุษย์ในโลกทุกวันนี้ ไม่ใช่ “ความฉลาด” แต่เป็น “ธรรมะหรือคุณธรรม” ต่างหากที่เป็นอุปสงค์อย่างยิ่ง

ดังนั้น หากจะช่วยมนุษย์ ช่วยสังคมกันจริงๆละก็ ต้องมาเร่งรัด ส่งเสริมสร้างสรรพัฒนา “ธรรมะที่เป็นโลกุตรธรรม” ให้เกิดให้เป็นจริงขึ้นมาในคนในสังคม ให้ได้กันก่อนเถิด ส่วนเรื่อง “ความฉลาด” นั้นขอยืนยันว่า ในธรรมะขั้น “โลกุตระ” ของพุทธ มี “ความฉลาด” อยู่ในนั้นพร้อมแล้ว และขอยืนยันย้ำลงไปอีกว่า เป็น “ความฉลาด” อยู่ในนั้นพร้อมแล้ว และขอยืนยันย้ำลงไปอีกว่า เป็น “ความฉลาด” ชนิดที่ชื่อว่า “ปัญญา” แท้ๆ หรือเป็น “ความฉลาดชนิดดี” ด้วยซ้ำ จะมิใช่ “ความฉลาด” ที่ชื่อว่า “เฉโก” ซึ่งเป็น “ความฉลาดแกมโกงแกมร้ายแกมเลว” อีกด้วย

ดังนั้น หากส่งเสริมสร้างสรรพัฒนา “ธรรมะที่เป็นโลกุตรธรรม” ก็ยังได้ส่งเสริมสร้างสรรค์ “ความฉลาด” อยู่ในตัวด้วย และเป็น “ความฉลาดชนิดดี” หรือ “ความฉลาดที่ประกอบไปด้วยกุศล” ที่เรียกว่า “ปัญญาหรือญาณ” ทีเดียว ไม่ใช่ “ความฉลาดที่เป็นแค่เชาวน์ไวที่ระคนด้วยความชั่วหรือความฉลาดที่ประกอบไปได้ด้วยอกุศล”

น่าจะเพลาส่งเสริม “ความมีเชาวน์ไว” หรือมีไอคิวได้แล้ว หันมาเร่งรัดส่งเสริมพัฒนา “ธรรมะที่เป็นโลกุตรธรรม” ให้เป็นเอกเป็นจริงเป็นจังเป็นเรื่องเป็นเรื่องราว จนเป็นที่ปรากฏกันดูหน่อยประไร แล้วจะได้เห็นกันว่าเน้นส่งเสริม “ความฉลาด” เด่นนำหน้า กับเน้นส่งเสริม “คุณธรรม” ให้เด่นนำหน้านั้น อันไหนจะเป็นความจริงที่พิสูจน์ว่า สังคมเป็นสุขสันติอบอุ่นเบิกบานร่าเริง หรือเป็นทุกข์วุ่นวายเดือดร้อนเศร้าโทรม กว่ากัน

อย่างไรก็ตาม หลังจากได้หลงใหลใช้สอย “ความฉลาด” โดยยกย่อง “ความฉลาด” ล้ำหน้าความสามารถอื่นๆของจิตวิญญาณกันมานาน ภูมิรู้ของนักรู้นักวิชาการสมัยนี้ ก็เริ่มรู้สภาพของจิตหรืออาการบางลักษณะของจิตวิญญาณเพิ่มขึ้นจากแค่ความเป็น “ไอคิว” ขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง ดังที่ท่านผู้รู้ทั้งหลายได้เผยแพร่ ตีแผ่กันออกมาให้ตื่นเต้นฮือฮาอยู่ในตลาดสังคมขณะนี้ ก็เป็นการก้าวหน้าในเรื่องของจิตวิญญาณจริง

การก้าวหน้านั้น ก็คือ ก้าวหน้าขึ้นไปรู้เรื่อง อีคิว (EQ) ซึ่งมีรายละเอียดลึกซึ้ง เพราะหากได้เรียนรู้ “อารมณ์” (emotion = เวทนา) แล้วฝึกหัดวิเคราะห์วิจัยอาการต่างๆใน “อารมณ์” ได้ด้วย หรือยิ่งได้เรียนลึกเข้าไปรู้ “เวทนาในเวทนา” เรียนรู้เข้าไปว่ามีอะไรใน “อารมณ์” อย่างรู้แจ้งเห็นจริงด้วย “วิชชา” ตามแบบพุทธก็ยิ่งสมบูรณ์


ขออภัย หน้าถัดไป ยังไม่ได้จัดทำ โปรดคอยติดตาม...
   [เลือกหนังสือ]
page: 4/20
   Asoke Network Thailand