[เลือกหนังสือ]      ปก | คำนำ | สารบัญ | ภาคผนวก | คัชนี
page: 5/20

สารบัญ
บทที่ 1
ฉลาดชัดตัดกิเลส

[1]
[2]

บทที่ 2
อวิชชาของคนฉลาด
[3]
[4]

บทที่ 3
พัฒนาอารมณ์
[5]
[6]

[7]

[8]

บทที่ 4
ความแตกต่าง
ระหว่าง
พุทธกับฤาษี
[9]
[10]

[11]
[12]

บทที่ 5
คุณวิเศษของพุทธ
[13]
[14]

[15]

บทที่ 6
อีคิวโลกุตระ
[16]
[17]

[18]

บทที่ 7
หลักปฏิบัติสำคัญ ของศาสนาพุทธ

[19]
[20]

 

อีคิวโลกุตระ... สมณะโพธิรักษ์ / บทที่ 3


บทที่ ๓
พัฒนาอารมณ์

อีคิว มาจากคำเต็มว่า Emotional Quotient

“อีคิว” คืออะไร ต่างจาก “ไอคิว” อย่างไร

ไอคิว ก็คือ ความเจริญทาง “เชาวน์ไวไหวพริบ” (Intelligence = ชวน) หรือเน้นกันรู้จักกันเด่นๆอยู่ที่ “ความฉลาด” เป็นหลัก

ส่วน อีคิว หมายถึง ความเจริญทาง “อารมณ์หรือความรู้สึก” (emotion = เวทนา) รู้จัก “อารมณ์” ของตน สามารถปรับปรุงอารมณ์ของตน ให้พัฒนาเจริญขึ้นเป็นอารมณ์ที่ดีได้ และรู้จักอารมณ์ของคนอื่น ปรับตนเองให้ดูดีกับคนอื่นได้ มีความเห็นใจ และ มุ่งหมายปรารถนาดี กับอารมณ์คนอื่น

ซึ่งก็น่าดีใจที่ความรู้ด้านจิตวิญญาณ มีการพัฒนาเพิ่มขึ้นมาจากเดิมอีก แต่ก็น่าเสียดายที่นักรู้ หรือผู้พยายามแสวงหาความรู้ทั้งหลายไม่ได้มาเรียนรู้เรื่องจิตวิญญาณจากพุทธศาสนา และปฏิบัติพิสูจน์ให้รู้แจ้งแทงทะลุในเรื่องของ “จิตวิญญาณ” อย่างทะลุปรุโปร่ง

แต่นั่นแหละ หากศึกษาอย่างไม่มีครูบาอาจารย์ที่ “สัมมาทิฏฐิ” จริงๆ ไม่ได้เรียนรู้จากผู้ได้บรรลุถึงความจริงของ “จิตวิญญาณ” อย่างดีจริงเพียงพอ ก็ยากยิ่งอยู่เหมือนกัน ที่จะสามารถรู้แจ้งเห็นจริง แทงทะลุด้วยการบรรลุถึง ความจริงของจิตวิญญาณ และ “พ้นทุกข์” หรือได้ “สุขชนิดวิเศษ” (วูปสมสุข) อย่าง “พิเศษ” ชนิดที่เรียกว่า “โลกุตระ” ซึ่งเป็น “ความสุขของโลกอาริยะ”

ความฉลาดทางอารมณ์

ในความเป็นคนนั้น หากใครอ่านจิตใจหรืออ่านจิตวิญญาณของตนเองเป็น และสามารถวิจัยอ่านเจาะลงไปถึง “อารมณ์” (เวทนา หรือ emotion) ของตนออก ว่ามันมีอาการลักษณะอย่างไร มันเป็นสภาพที่ “ไม่เที่ยง” (อนิจจัง) บางคราวมันก็สุข (สุขเวทนา) บางทีมันก็ทุกข์ (ทุกขเวทนา) บางครั้งมันก็เฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ (อุเบกขาเวทนา หรือ อทุกขมสุขเวทนา) หรือยิ่งไปกว่านั้น ผู้สามารถมีความรู้ลึกซึ้งไปถึงขั้นว่า มันทุกข์ก็เพราะมี “เหตุ” โดยอ่านอารมณ์ของตนเองออก “อารมณ์” (เวทนา) ที่ภาษาฝรั่ง คือ emotion นี่แหละ และสามารถหยั่งเข้าไปในจิตตนเองจนรู้ “เหตุ” นั้นๆถูกตัวตนของมัน ยิ่งกว่านั้นสามารถ “ลดละหรือดับเหตุในอารมณ์” ของตนได้ ผู้สามารถเข้าใจอารมณ์ ของตนแล้วปรับอารมณ์ของตน ให้เปลี่ยนไปเป็นความสุขที่ดี เป็นความเบิกบานร่าเริง เป็นความมีคุณค่าประโยชน์ ซึ่งเป็นการฉลาดในการปรับอารมณ์ ใช้อารมณ์ได้ดีขึ้นๆ คนที่มีความสามารถเช่นนี้คือ คนมีความฉลาดทางอารมณ์ ภาษาอังกฤษก็ว่า เป็นคนมี EQ (อีคิว) ตัว E คือตัวย่อของ Emotion และตัว Q ก็คือ Quotient รวมความแล้ว เขาก็เรียกว่า Emotional Quotient

คำว่า quotient ตัวนี้หมายถึง ผลลัพธ์ในเชิงหาร หรือหากจะพูดให้ขยายความขึ้นอีกที ก็คือ สัดส่วนที่ได้จากการจัดสรรสิ่งที่ร่วมๆกันมา แล้วก็หารแบ่งจนกระทั่งเป็นผลลัพธ์ ดังนั้น ผู้มีความรู้ทาง “อารมณ์” (เวทนา = emotion) หรือรู้จัก “ความรู้สึก” (เวทนา = emotion) ของตนเอง แล้วก็จัดสรรหารแบ่งคั้น เอาอารมณ์ที่ดีที่เหมาะสม อย่างได้สัดส่วนมาใช้ได้สำเร็จ คนที่มีความสามารถตามที่ว่านี้ คือ คนมี EQ หรือ Emotional Quotient ที่ผู้รู้ทั้งหลาย แปลกันว่า ความฉลาดทางอารมณ์

Emotional Quotient หรือ “อีคิว” นี้ เป็นความรู้ของปราชญ์ทางจิตวิทยาในโลกปัจจุบัน ที่ก้าวหน้าเพิ่มขึ้นอีกระดับหนึ่ง

ก็น่าดีใจที่บรรดานักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ได้รู้มากขึ้น ว่า คนเราหากสามารถฉลาดทางอารมณ์ และพัฒนาอารมณ์ทั้งของตนและทั้งของคนอื่นได้ หรือสามารถฝึกฝนให้มี “อีคิว” สูงขึ้นๆ ก็ทำให้ทั้งตน และ ทั้งสังคมมีความสุขความเจริญ ได้ยิ่งกว่าผู้สามารถฉลาด อยู่แต่เพียงมีเชาวน์ไวไหวพริบ หรือมี “ไอคิว” สูงเท่านั้น

และบรรดานักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ยังเห็นอีกว่า ที่เคยเชื่อกันในอดีตว่า ผู้ที่มีไอคิวสูง จะเป็นคนเจริญในชีวิตหน้าที่การงาน ชีวิตจะสมบูรณ์พูนสุข “ไอคิว” จะเป็นหลักประกันได้ว่าจะประสบความสำเร็จในอนาคต ก็เป็นความเชื่อที่ผิด เพราะสถิติเท่าที่มีให้เห็นให้รู้นั้น มันก็ได้ประจักษ์ชัดแล้วว่า ไม่จริง

ผู้รู้ที่เป็นนักจิตวิทยา นักมานุษยวิทยา และผู้รู้ที่สนใจศึกษาเรื่องนี้ ต่างได้ตรวจสอบพิสูจน์กันแล้ว ก็พบความจริงว่า ระดับของ “ไอคิว” ไม่สามารถบ่งบอกความสำเร็จทางการเรียน หรือความสำเร็จในการทำงาน ไม่ใช่หลักประกัน ไม่ใช่เครื่องชี้ ว่า คนผู้มี “ไอคิว” สูงจะเป็นผู้ประสบความสำเร็จในชีวิต

ความรู้ที่ท่านผู้รู้ทั้งหลายได้รู้เพิ่มขึ้นก็คือ คนที่มี “อีคิว” สูงแล้ว จะพลอยทำให้ “ไอคิว” สูงขึ้นด้วย ส่วนคนที่มี “ไอคิว” สูง มักจะมี “อีคิว” ต่ำ

และที่รู้กันดี ก็คือ “อีคิว” นั้น แม้จะไม่มีมาแต่กำเนิด ก็สามารถศึกษาฝึกฝนให้เพิ่มขึ้นได้ เชื่อกันว่า ฝึกได้ตั้งแต่เด็กๆมาเลย โดยท่านผู้รู้ทั้งหลายได้กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการฝึกไว้เป็นสูตรทีเดียว ซึ่งก็คือหลักการในการศึกษาฝึกฝนสร้างคุณธรรม ด้วยหลักของจิตวิทยานั่นเอง

การรู้จัก “อีคิว” ทำให้ท่านผู้รู้ทั้งหลาย รู้ยิ่งขึ้นว่า คนที่มี “ไอคิว” สูง นั้น ย่อมเป็นคนเก่งด้วยเชาวน์ไวไหวพริบ มั่นใจในตนเองสูง เอาตัวเองเป็นใหญ่ ชอบอวดเก่ง แม้จะเป็นคนเก่งแต่จะหาคนชอบยาก ถ่อมตนไม่ลง ทะเยอทะยาน วิตกกังวล คิดมาก ชอบคนประจบ ชอบคนตามใจ ส่วนมากจะไม่ค่อยมีความสุข เพราะจะไม่ค่อยรับรู้อารมณ์คนอื่น จึงสัมพันธ์กับคนอื่นไม่ดี และจะพาลไม่ชอบมนุษย์เอาด้วย จึงมักจะเป็นคนโดดเดี่ยว ว้าเหว่ ไม่ค่อยมีเพื่อน

ผู้รู้บางท่านเชื่อว่า “ไอคิว” มีมาแต่กำเนิดเฉพาะบุคคล ฝึกฝนให้เพิ่มไม่ได้ แต่ก็มีผู้รู้บางท่านเห็นแย้งว่า สามารถฝึกฝนให้เพิ่มได้ ทว่าได้ไม่มาก สำหรับอาตมาเห็นจริงว่า “ความฉลาดแบบไอคิวเชิงเชาวน์ไวไหวพริบ” ก็ตาม ฝึกฝนให้เพิ่มได้ และฝึกฝนให้เพิ่มได้มากๆก็ยังได้ ถ้าผู้นั้นรู้แจ้งถึง “ตัวความฉลาด” ซึ่งก็คือเจตสิกในจิต แล้วมีความพากเพียรจริงจัง ดังนั้น จะฉลาดแบบไอคิว หรือฉลาดแบบอีคิว ก็สามารถฝึกฝนให้เพิ่มได้ทั้งนั้น

คนที่มี “อีคิว” สูง ก็คือ ผู้นั้นเป็นผู้มีความฉลาดในการใช้อารมณ์ได้ดี จะเป็นคนมีความสุขง่าย มักจะมีลักษณะชอบสังคม ร่าเริง เปิดเผย ชอบที่จะทำให้คนอื่นมีความสุข รักษาคำมั่นสัญญา มีเสน่ห์ดูดใจ มองโลกในแง่ดี ตรงไปตรงมา รับฟังคนอื่น มนุษยสัมพันธ์ดี มุ่งมั่นในจุดยืน

ท่านผู้รู้ทั้งหลายได้ชี้ถึงสมรรถนะ หรือคุณสมบัติของคนที่มี “อีคิว” ไว้ พอรวบรวมจากแต่ละท่านผู้รู้เหล่านั้น ได้ดังนี้

๑. รู้ในอารมณ์ตนเอง (self awareness)

๒. จัดการกับอารมณ์ตนเองได้ (self regulation)

๓. มีจุดเป้าหมายของชีวิต (goal of life)

๔. รู้จุดเด่นและจุดด้อยของตนเอง

๕. รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา หรือเห็นใจเข้าใจอารมณ์คนอื่น (empathy)

๖. รู้จักการกระตุ้นใจ เร้าใจตนเอง (self motivation)

๗. สามารถในการแก้ไขความขัดแย้ง (conflict solving)

๘. มีศิลปะในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (quality communication)

๙. มีความซาบซึ้งในความเป็นมนุษย์และการมีชีวิต (life appreciation)

๑๐. สามารถผัดผ่อน ความต้องการของตน ให้เลื่อนออกไปอีกได้ หรือมีความอดทนรอคอย (delay gratification)

ปรากฏการณ์ของ “อีคิว” ประกาศตัวออกมาอย่างนี้ แสดงถึงความก้าวหน้าในการศึกษาด้านจิตวิทยาของสังคมปัจจุบันขึ้นมาอีกขั้นแล้ว แม้จะยังเข้าใจได้แค่ว่า “อารมณ์” หรือ emotion ก็คือ “จิต” หรือ “ใจ” หรือ “จิตวิญญาณ” อย่างรวมๆคลุมๆอยู่ ยังไม่สามารถแยกละเอียดลงไปได้ ว่า “อารมณ์” หรือ emotion นี้ ที่แท้เป็นเพียงอาการหรือลักษณะอย่างหนึ่งของ “จิตวิญญาณ” ที่พุทธศาสนาแบ่งเรียกว่า “เวทนา” เท่านั้น ก็ตาม

ก็ยังเห็นได้ชัดว่า เท่าที่ผู้รู้ด้านจิตวิญญาณทั้งหลาย ท่านพยายามแจกแจง ความหมายของ “อารมณ์” ออกมาให้เห็นได้ ว่า “อาการของจิตวิญญาณ” หรือ “สมรรถนะของจิตวิญญาณ” นั้น มันมีหลากหลายยมากมาย กว้างลึกได้ขนาดนั้น แม้จะเข้าใจเอาอาการลักษณะต่างๆใน “จิตวิญญาณ” ดัง ๑๐ ข้อที่ยกตัวอย่างมานั้น รวมอยู่ในคำว่า “อารมณ์” หรือ emotion ก็เถอะ ก็นับว่าเป็นการก้าวหน้าในด้านจิตวิทยาขึ้นมาจริงๆ อย่างน้อยก็เห็นได้ว่า การรู้กว้างไกลและลึกละเอียดมากยิ่งขึ้น จากแค่มุ่นมัว อยู่แต่กับการพัฒนาเฉพาะ “ความฉลาดที่เจริญทางเชาว์ไวไหวพริบ” หรือ “ไอคิว” เท่านั้น บัดนี้ก็หันมาพัฒนา “ความฉลาดที่เจริญทางอารมณ์อันกว้างขึ้นพิสดารขึ้น” หรือ “อีคิว” อย่างเห็นร่วมกันทั้งนั้นว่า ดีกว่า ที่จะไปหลงมุ่นมัวเห็นสำคัญอยู่แต่กับ “ไอคิว” อย่างแต่ก่อน แค่นี้ก็ยืนยันถึงความก้าวหน้าได้ชัดเจนแล้ว

สำหรับคำว่า “อารมณ์” หรือ “ความรู้สึก” คำนี้ ในทางพุทธศาสนานั้น ใช้ภาษาเรียกว่า “เวทนา” ซึ่งระบุเจาะลึกชี้เฉพาะลงไปถึงอาการลักษณะหมวดหมู่หนึ่งของ “จิตวิญญาณ” อยู่ในหมวด “เจตสิก” และแม้แต่สภาวะของ “เวทนา” เอง พุทธศาสนาก็ยังมีการแจกลักษณะให้เรียนรู้ออกไปอีกมาก

ส่วนคำว่า “อีคิว” ซึ่งเป็นความรู้ทางจิตวิทยา ของนักปราชญ์ปัจจุบัน ที่เรากำลังพูดถึงกันนี้ ความหมายของ “อีคิว” ยังเป็นเพียงความรู้ที่รู้จัก “จิตวิญญาณ” อย่างรวมๆคลุมๆไปทั้งหมด ยังไม่มีแม้แต่การแบ่งลักษณะใหญ่ๆ เป็นภาค “จิต” ภาค “เจตสิก” หรือแบ่งเป็นประเภท “ชาติ” ประเภท “ภูมิ” เป็นต้นด้วยซ้ำ

หากศึกษากันได้ละเอียดลึกซึ้ง และกว้างขวางครบครันลงไปใน “จิตวิญญาณ” ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ และทรงเผยแพร่ไว้ ก็คงจะได้รู้จักความเป็น “จิตวิญญาณ” ละเอียดลออวิจิตรพิสดาร ซึ่งไม่แค่ความเป็น “อารมณ์” (emotion หรือ feeling) ที่ภาษาบาลีเรียกว่า “เวทนา” นี้เท่านั้น เพราะในความละเอียดในพุทธศาสนานั้น ยังมีทั้งความเป็น “สัญญา” ความเป็น “สังขาร” ความเป็น “ผัสสะ” ความเป็น “เจตนา” ฯลฯ อันอยู่ในหมวด “เจตสิก” หรือความเป็น “อกุศลจิต” ความเป็น “กุศลจิต” ความเป็น “วิบากจิต” ความเป็น “กิริยาจิต” ฯลฯ ก็ยังมีอีกมากหลาย

ซึ่งหลายลักษณะอาการของ “อีคิว” ที่ผู้รู้นักจิตวิทยาปัจจุบันทั้งปวงรู้ ดังตัวอย่าง ๑๐ ข้อที่ได้กล่าวถึงมาแล้วนั้น บางลักษณะอาการมิใช่ “ความรู้สึกหรืออารมณ์” (emotion หรือ feeling) แต่เป็น “สมรรถนะหรือประสิทธิภาพ” (efficiency, ability) หากสังเกตดูใน ๑๐ ข้อตามที่นักจิตวิทยาทั้งหลายท่านชี้บ่งลักษณะอาการไว้ เช่น ในข้อ ๑ ที่ว่า “รู้ในอารมณ์ตนเอง (self awareness)” ก็เห็นได้ชัดล่ะว่า คือ “ความรู้สึกหรืออารมณ์” (emotion หรือ feeling)

ใน “อารมณ์ตน” นี่แหละ มีทั้งลักษณะจัดอยู่ในฝ่าย “จิต” หรือ “เจโต” และมีทั้งลักษณะ “อาการของจิต” ที่จัดอยู่ในฝ่าย “เจตสิก” อีกหลากหลาย ในฝ่าย “เจตสิก” ตัวที่เป็นกุศลหรือที่มีลักษณะสำคัญสุดยอด คือ “ปัญญา” ซึ่งมันจะทำงานจัดการกับตัวที่เป็นอกุศล หรือร่วมกับตัวที่เป็นกุศลไปตลอด “เจตสิก” ที่มีประสิทธิภาพขั้นโลกุตระ ก็เรียกว่า “วิชชา” หรือเรียกตามภาษาของ “เจตสิก” เต็มๆ ก็ว่า “ปัญญินทรียเจตสิก” ดังนี้เป็นต้น

ศาสนาพุทธ แบ่งแยก “จิตวิญญาณ” ไว้ละเอียดกันเช่นนี้

ทีนี้มาดู อาการลักษณะของ “อีคิว” ข้อ ๒ ที่ว่า “จัดการกับอารมณ์ตนเองได้” อันนี้เห็นได้ชัดว่า เป็น “สมรรถนะหรือประสิทธิภาพ” (efficiency, ability) ไปแล้ว มันไม่ใช่ลักษณะอาการของ “อารมณ์” หรือ “ความรู้สึก” ที่เรียกว่า emotion หรือ feeling กันแล้ว ซึ่งก็ต้องจัดให้มันอยู่ในหมวดอื่น

หรือข้อ ๓ ที่ว่า “มีจุดเป้าหมายของชีวิต (goal of life)” นี่ก็มีลักษณะอาการเป็น “เจตนา, จุดหมายปลายทาง” (aim, destination) เป็นต้น มันก็ไม่ใช่ “ความรู้สึก” หรือ “อารมณ์” ที่เรียกว่า emotion หรือ feeling อีกแหละ

หรือข้ออื่นๆ เช่น ข้อ ๔ ที่ว่า “รู้จุดเด่นและจุดด้อยของตนเอง” ก็เป็นลักษณะอาการของ “ปัญญา” จะจัด “ปัญญา” เข้าอยู่ในหมวด “อารมณ์, ความรู้สึก” ไหมล่ะ? หรือข้อ ๕ ที่ว่า “รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเราหรือเห็นใจเข้าใจอารมณ์คนอื่น (empathy)” ก็เป็นลักษณะอาการของ “ปัญญา” อีก หรือข้ออื่นๆ ก็ต้องชัดเจนในลักษณะอาการของมัน จึงจะดีแท้ ดังนี้เป็นต้น

อารมณ์ในทฤษฎีพุทธ

อาการทั้งหลายอันมีลักษณะต่างๆแผกออกไปนานาของ “จิตวิญญาณ” ที่พระพุทธองค์ทรงแบ่งแยกไว้ละเอียดลออ มีทั้งที่เรียกว่า ลักษณะของ “จิต” ต่างๆ ทั้งลักษณะของ “เจตสิก” ต่างๆ แม้แต่คำว่า “อารมณ์, ความรู้สึก” หรือ emotion หรือ feeling ที่ภาษาทางพุทธศาสนาเรียกว่า “เวทนา” นี้ พระพุทธเจ้าก็ทรงวิจัยแจกลักษณะอาการของ “เวทนา” ออกไปอีกพิสดารถึง ๑๐๘ ลักษณะ

พระองค์ทรงแตกลักษณะอาการให้เห็นตั้งแต่ “เวทนา ๒“ อันหมายถึง ความรู้สึกที่เกี่ยวเนื่องกับทางกาย (กายิกเวทนา) นั้นเป็นอย่างหนึ่ง และความรู้สึกที่เกี่ยวเนื่องกับทางจิต (เจตสิกเวทนา) ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ดังนี้เป็นต้น

หรือ “เวทนา ๓“ ก็ชี้อาการที่มีลักษณะแยกกัน แตกต่างกันออกไป ซึ่งก็เป็นอาการต่างๆของ “อารมณ์” นั่นเอง ว่า

๑. ความรู้สึกหรืออารมณ์ที่เป็นสุข (สุขเวทนาหรือโสมนัสเวทนา)

๒. ความรู้สึกหรืออารมณ์ที่เป็นทุกข์ (ทุกขเวทนาหรือโทมนัสเวทนา)

๓. ความรู้สึกหรืออารมณ์ที่ไม่ทุกข์ไม่สุข, อารมณ์กลางๆเฉยๆว่างๆ (อทุกขมสุขหรืออุเบกขา)

เวทนา ๕, เวทนา ๖, เวทนา ๑๘, เวทนา ๑๐๗ ก็จะมีความละเอียดลึกซึ้งซับซ้อนไปอีกมาก ที่พระพุทธองค์ได้ทรงชี้บ่งแยก แบ่งกระจายลักษณะอาการออกไปนานา เอาไว้ถึงโอกาสอันสมควรที่จะต้องอธิบาย “เวทนา” ต่างๆเหล่านี้ ก็ค่อยสาธยายละเอียดกันอีกทีแล้วกัน

แต่อย่างไรก็ตาม เท่าที่ท่านผู้รู้ทั้งหลายต่างได้กระจาย “ภูมิแห่งความฉลาดทางอารมณ์” หรือ “ภูมิของอีคิว” (Emotional Quotient) ออกมาแจกจ่ายสู่ตลาดความรู้ ทำให้เห็นได้ว่า ความรู้ด้านจิตวิทยาหรือความรู้เกี่ยวกับเรื่องของ “จิตวิญญาณ” ได้พัฒนาขึ้นมาอีกอย่างน่ายินดี

ที่จริงนั้น ความรู้เกี่ยวกับจิตใจหรือเกี่ยวกับ “จิตวิญญาณ” ทั้งหลาย ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ และทรงประกาศมาแล้วกว่า ๒๕๐๐ ปีแท้ๆ มีรายละเอียดซับซ้อนลึกซึ้งที่คนปัจจุบันนี้น่าจะได้เรียนรู้กันแพร่หลายแล้ว

แต่ก็แปลก ที่ไม่แพร่หลาย ทั้งๆ ที่คนในโลกมากมายที่พยายามเรียนรู้ค้นคว้า เรื่องเกี่ยวกับจิตวิญญาณ

อาจจะยาก ซึ่งก็แน่นอนสิ เรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งละเอียดวิจิตรพิสดาร ลึกซึ้งสูงส่ง มันก็ต้องยากเป็นธรรมดา ไม่เห็นจะน่างงตรงไหน

ก็จะอธิบายบ้างตามประสาของอาตมาก็แล้วกัน โดยขอจับเอาคำว่า “อารมณ์” หรือ Emotion นี่แหละ เป็นเค้าในการสาธยาย ซึ่งก็จะสาธยายตามสไตล์ของอาตมาล่ะนะ

พุทธศาสนาสอนเรื่องการรู้จัก “อารมณ์” (emotion) ถ้าใครสามารถจับอารมณ์ของตนได้ หรืออ่านอารมณ์ที่เกิดในแต่ละขณะได้เต็มสภาพ ตัว “ความรู้” ของผู้รู้ที่เข้าไปรู้ “อารมณ์” อันเป็นองค์รวมของอารมณ์ขณะนั้นของตน ท่านเรียกผู้มี “ความรู้” นั้นว่า ผู้นั้นมี “ญาตปริญญา” (ความหยั่งรู้ในความเป็น “ธาตุรู้” ที่เกิดที่เป็นนั้นๆของตน)

แล้วจากนั้นก็สามารถวิจัยวิเคราะห์ เจาะอารมณ์ของตนเอง เข้าไปหยั่งรู้ละเอียดเข้าไปอีก เรียกว่า ใช้จิต “ธัมมวิจัย” ในขณะจิตของเราทำงาน “วิจัย” อยู่จนสามารถ “รู้” เหตุที่เป็นตัวร้าย คือกิเลสหรือตัณหาหรืออุปาทาน เรียกคนที่มี “ความรู้” ขั้นที่ต่อจาก “ญาตปริญญา” สูงขึ้นมาอีกนี้ว่า “ตีรณปริญญา” (ความหยั่งรู้ถึงขั้นพิจารณาหรือได้วิจัยรู้ลึกละเอียดเข้าไปใน “ธาตุรู้” นั้นๆยิ่งขึ้นเป็นขั้นที่ ๒) แล้วก็สามารถมีวิธีทำลาย “เหตุที่เป็นตัวร้าย” นั้นลงได้ แม้น้อยแม้มาก เรียก “ความรู้” ขั้นที่ ๓ นี้ว่า “ปหานปริญญา”

ทั้งสามารถในการวิจัย ทั้งสามารถทำลาย “เหตุ” (ทุกขสมุทัย) ตัวร้ายได้ ถึงขั้นนี้ก็เรียกว่า มี “ธัมมวิจัย” เข้าข่าย “สัมโพชฌงค์”

“สัมโพชฌงค์” หมายความว่า “จิตนั้นมีประสิทธิภาพ เข้าข่ายเป็นภูมิตรัสรู้” “ตรัสรู้” ก็คือ ความสามารถเข้าขั้นมีวิชชา หรือความสามารถของจิตมีทั้ง “ความฉลาด” และทั้งทำงานถึงขั้นลดละกิเลสได้จริงขั้นบรรลุมรรคผล “ธัมมวิจัย” นี้ จึงจะได้ชื่อว่า “ธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์”

ทวนอีกที…หากผู้ใดได้ศึกษาและสามารถฝึกจนมี “ตีรณปริญญา” หรือมี “ธัมมวิจัย” และมี “ปหานปริญญา” ที่มีคุณภาพถึงขั้นเป็น “สัมโพชฌงค์” ซึ่งหมายความว่า ผู้นั้นมีความสามารถวิจัยเข้าไปหยั่งรู้ หรือพิจารณา “กายในกาย…เวทนาในเวทนา…จิตในจิต…ธรรมในธรรม” โดยเฉพาะสามารถหยั่งรู้ “ตัวเหตุแห่งทุกข์หรือเหตุแห่งความเลวร้ายในจิตในเวทนา” (สมุทัย) ของตน และมีความสามารถถึงขั้น “พ้นสังโยชน์ ๓“ ขึ้นไปในขณะนั้นๆ ดังนี้จึงจะนับความสามารถของ “ธัมมวิจัย” นั้นมีคุณภาพสูงถึงขั้น “ธัมมาวิจัยสัมโพชฌงค์” คือ มี “ความหยั่งรู้ถึงขั้นสามารถเดินทางเข้าไปสู่การตรัสรู้ได้ตามฐานานุฐานะ หรือถึงขั้นมีการบรรลุธรรมได้มรรคได้ผลเป็นลำดับๆ” จึงชื่อว่า มีธัมมวิจัย สูงถึงขั้น “ธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์” (โพชฌงค์ หมายถึง องค์แห่งการตรัสรู้ หรือคือ หน่วยพลังงานจิตนั้นมีคุณภาพถึงขั้นบรรลุมรรคผล)

ผู้รู้หรือนักปราชญ์ที่ศึกษาจิตวิทยาปัจจุบันนี้ เมื่อสามารถรู้ “อารมณ์” หรือรู้ก้าวขึ้นถึงขั้น “อีคิว” กันได้ ดังที่กำลังรู้กันอยู่ ก็เห็นว่าฉลาดพัฒนาขึ้น ดังนั้น ผู้รู้ทางด้านสายปัญญา สายทางการศึกษา เมื่อก่อนเขาก็เห่อกัน หรือว่าเรียนรู้กัน หรือว่าพยายามรู้จักจิตรู้จักใจ แค่ “ไอคิว” (Intelligence Quotient) รู้กันแค่ IQ คือ รู้ว่าอาการหรือสภาวะแห่งความฉลาดมันเป็นอย่างไร แล้วต่อมาก็ก้าวหน้าขึ้น เข้าใจอาการของจิตที่มันมีพฤติกรรม มันมีกรรมกิริยา สามารถรู้อารมณ์ของพฤติกรรม รู้ความรู้สึกของกรรมกิริยานั้นๆ

นี่คือ ความเฉลียวฉลาดที่เรียกว่า “อีคิว” (Emotional Quotient) เป็น “ความฉลาดที่สามารถรู้จักอารมณ์ รู้จักความรู้สึกของจิตใจ”

แต่ก่อนเขารู้จักแค่ “ความฉลาดหรือเชาวน์ไวไหวพริบ” (intelligence) ก็ดีใจกับความเฉลียวฉลาดนั้น ก็เก่งเหมือนกัน สามารถตรวจความเฉลียวฉลาดของคนได้ เรียกว่า ไอคิว (IQ) แต่ก่อนนั้นมีแต่วัดไอคิว วัดความเฉลียวฉลาดของคน มีหน่วยเป็นตัวเลขเท่านั้นเท่านี้ เขาก็ว่าเก่งแล้ว ต่อมานี่ นอกจาก “ความเฉลียวฉลาด” แล้ว ยังมีความสามารถเพิ่มขึ้น รู้จัก ”อารมณ์” รู้จัก “ความรู้สึก” รู้จักอารมณ์ซึ่งเป็นอาการของจิตเพิ่มขึ้น เป็นอีคิว (EQ)

“อารมณ์” ในทางศาสนาพุทธใช้คำเรียกว่า “เวทนา” เวทนานี่คืออารมณ์ คือ ความรู้สึก อ่านความรู้สึก อ่านอารมณ์ได้ รู้จักจิตมากขึ้น พุทธนอกจากจะรู้จักเวทนา ยังวิเคราะห์วิจัยเข้าไปลึกเจาะ “เวทนาในเวทนา” พิจารณาเวทนาในเวทนาให้แตก ตีอารมณ์ไห้รู้ ว่า อะไรต่ออะไรมันปรนปรุงกันอยู่ วิจัยอาการที่ผสมอยู่ในอารมณ์นั้นๆให้ออก ว่า มันมีอะไรประกอบอยู่ในเวทนา หรือใน “อารมณ์” นั้นๆ สิ่งที่มันประกอบกันอยู่ในเวทนานั้น มีทั้ง “ความเป็น” (ภาวะ) มีทั้ง “ความรู้” (ปัญญา) มีทั้ง “ความรู้สึก” (เวทนา) มีทั้ง “กิเลส” (อกุศลมูล) ที่เป็น “เหตุตัวร้าย” (ทุกขสมุทัย) เป็นต้น

นี่อาตมาวิเคราะห์ให้ฟังละเอียดเพิ่มขึ้นมาอีกหน่อย

 


   [เลือกหนังสือ]
page: 5/20
   Asoke Network Thailand