เพลงชีวิต หมายเลข ๙
ถ้าสิ่งใดยิ่งน้อย และ
หายาก
แล้วรู้สึกว่า สิ่งนั้นยิ่งมีค่า
และมีอำนาจสูง
เช่น "เพชร"
เช่น "เงิน"
ของกระยาจก
ณ โลกนั้น ก็คือ โลกียะ หรือ แดนปุถุชน !
ถ้าสิ่งใดยิ่งน้อย
และหายาก
แล้วรู้สึกว่า สิ่งนั้นยิ่งมีค่า
และ มีอำนาจสูง
เช่น "ความโลภ"
เช่น "เงิน"
ของมหาเศรษฐี
ณ โลกนั้นแหละ คือ โลกุตตระ
หรือ แดนอริยชน !
แต่ถ้าสิ่งใดยิ่งมีมากในตน
และ ยิ่งสะสม
แล้วรู้สึกว่า สิ่งนั้นยิ่งมีค่า
และ มีอำนาจสูง
เช่น ความโลภ
เช่น ความโกรธ
เช่น เงิน
เช่น เพชร ฯลฯ
ณ โลกนั้น ยิ่งคือ โลกันต์
หรือ แดนแห่งความทุกข์ชัด
!!
โลกแท้ๆ เป็นอยู่ด้วยความพอดี
แต่ "ค่า" ที่จิตของคน ได้ตีราคาให้กับสิ่งต่าง ๆ
ว่า มาก-น้อย สูง-ต่ำ นั้น
มันคือ อำนาจจิต ที่หลอกหลอน
และจิตที่ช่างคิดเปรียบเทียบ
ด้วยวิญญาณผีๆ เท่านั้นดอก
แท้จริงความมีอยู่สมดุลภายในโลกนั้นๆ
มันเท่ากัน และ เท่าเดิม
"ความอยาก" และ "การตั้งหน้าสะสม"
เป็นต้นเหตุแห่ง การตีราคาทางจิต
ถ้า "ความอยาก"
และ "การสะสม"
นั้น
เพียงพอดี พอเหมาะแก่อัตตภาวะแล้ว
รู้จัก "หยุดอยาก"
และ รู้จัก "แจกจ่ายเผื่อแผ่"
"ราคาแห่งจิต" นั้น
จะสูง
"ค่าแห่งวิญญาณ" นั้น
จะบริสุทธิ์
แต่ถ้าแม้ผู้ใดก่อ "ความอยาก"
และ "การสะสม"
เกินขอบเขตแวดวงแห่งตน
ผู้นั้น คือ ผู้ลดค่าของทุกๆ
สิ่ง
ทั้งวัตถุ ทั้งจิต และวิญญาณ
เงินหนึ่งบาทของขอทาน
มีราคาเดียวกันกับ หนึ่งบาทของมหาเศรษฐี
แต่ "ค่า"
ของมัน ไม่เท่ากันเลย
ใน "จิต"
ของคนทั้งสอง
เงินพันบาท อาจจะแลกกับ เรี่ยวแรง-ศักดิ์ศรี
และ แม้ชีวิตของ "คนจน"
ผู้หลงค่าของเงินได้ อย่างไม่กลัวนรก
แต่
มันจะไม่มีอำนาจเยี่ยงนั้นเลย
ที่จะแลกเอาชีวิต-ศักดิ์ศรี
หรือ แม้เพียงเรี่ยวแรง
ของ "มหาเศรษฐี"
ผู้ตีราคาของเงิน
กับศักดิ์ของตนอยู่เสมอ
ทว่า "ค่า"
ของมัน เท่ากัน
และ เท่าเดิม
จริงๆในโลก !
และเงินล้านบาท
ไม่อาจแลกกับ
ชีวิต-ศักดิ์ศรี
และ แม้เรี่ยวแรง
ของ "คนจน"
ผู้ไม่หลงค่าของเงิน
แต่...เงินบาทเดียว
อาจจะแลกกับ
เรี่ยวแรง-ศักดิ์ศรี และ แม้ถึงชีวิต
ของ "มหาเศรษฐี"
ผู้งกเงิน
จนตาบอด ใจมืด ก็ย่อมได้
เมื่อนั้น "ค่า"
ของ "จิต"
ของคนทั้งสองต่างกันยิ่ง !
ผู้ไม่โลภ ไม่หลง
เท่านั้น
ที่จะเห็นค่าอันแท้ๆ จริงๆ
ที่ เท่ากัน
และ ไม่เท่ากันนี้
ได้
"จิต" ของคนต่างหาก
ที่เห็นเงินร้อยบาท มี "ค่า"
ต่างกัน
ผู้เห็นเงินร้อยบาทมีค่าต่ำ
หรือ เล็กน้อย ก็คือ...
ผู้มีวิญญาณผี หรือคือ
คนโง่ที่หลงตน ว่า เป็นเศรษฐี
และ ผู้เห็นเงินร้อยบาทมีค่าสูง ก็คง ยังคือ...
ผี หรือ คนโง่ที่ยังหลงตน ว่า เป็นกระยาจก
หรือ ผู้กระหาย อยู่อีก นะแหละ !
เงินร้อยบาท ย่อมมีค่าเที่ยงแท้
สมดุลดังเดิมเสมอ
ในโลกที่เขาสมมุติกัน !
ว่าแต่ผู้มี เงินร้อยบาทนั้น
รู้จัก "ความพอดี" หรือ "ความเพียงพอ"
อันสมดุลที่แท้จริง
ใน "ชีวิตแท้ๆ " ของตนเอง แล้วหรือยัง ?
หรือว่า ท่านก็ยังคือ "ผู้ใฝ่หาหลงเสพย์"
และ "เผาผลาญ"
ที่ ไม่รู้จักจบทั้งวัตถุ
ทั้งวิญญาณ
แล้วก็ตั้งหน้าสะสมกับเขาด้วย
ผู้หนึ่งในโลก ! !
๒ เมษายน
๒๕๑๕
|