พระบรมราโชวาท แถลง ชนะใจ - ชนะภัย (ไฟ)
น้ำท่วมบ้านราช สิบห้านาทีกับพ่อท่าน
พระพุทธเจ้ากับการอนุรักษ์ธรรมชาติ
จดหมายจากญาติธรรม รายงานจากพุทธสถาน
สรุปรายงานการประชุมองค์กรต่างๆ ของชาวอโศก ใต้ร่มอโศก
เก็บเล็กผสมน้อย น้ำฉี่ดีจริงหรือ? ไร้บุญนิยมสังคมอันตราย
กรรมตามสนอง ดวงตามที่สาม หอมดอกพุทธา

พระพุทธเจ้าคือ มนุษย์บุญนิยมคนแรก
เมื่อนำหลักธรรมคำสอนมาประพฤติปฏิบัติ
เราพบว่า เราเปลี่ยนเป็นพวกบุญนิยม
ซึ่งสวนทางกับพวกทุนนิยมที่ก่อนเราก็เคยเป็น
และคนในโลกก็ล้วนเป็นกันทั้งโลก

เราชอบ ในเรื่องของการเสียสละ
เราคำนึงถึง จิตใจของผู้อื่น
เราอยากเป็น ผู้ให้มากกว่าผู้รับ
เราเป็นตัวกลางที่ซื่อสัตย์ ไม่เอาเปรียบ ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค
เราทำดี โดยรู้ว่า ไม่ควรหวังสิ่งตอบแทน
เราเชื่อว่า เราจะได้ในสิ่งที่เราให้เท่านั้น

จากบทสัมภาษณ์พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ เราจะได้ทบทวนตัวเองจริงๆว่า
เราได้ในสิ่งที่เราคิดว่าได้แล้วจริงหรือ
เราเข้าใจนัยะลึกซึ้งของการทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วไหม
และเราจะรู้ว่า บาปที่สุดของมนุษย์ คือความเชื่อว่า ตายแล้วสูญ

ศลกที่พ่อท่านตั้งว่า แข็งแรง เข้มข้น ทนทาน ยืนนาน แน่นลึก นึกนบ มีความหมายอย่างไรคะ?

คนที่เมื่อพัฒนาแล้ว ควรต้องมีคุณวิเศษหรือคุณสมบัติที่สมบูรณ์ ๖ ข้อนี้คือ แข็งแรงหมายถึง มีลักษณะไม่กะปลกกะเปลี้ย อ่อนแอ ทำได้หน่อยก็เหนื่อย ทำไปก็พักไป ทำไปก็หยุดไป แต่ต้องทำงานอย่างมีระบบมีระเบียบที่แข็งแรงได้สัดส่วน นอกจากแข็งแรงก็ต้องมีเนื้อหาที่เข้มข้น การมีอินทรีย์พละก็คือการมีความเข้มข้น คุณมีศรัทธาเข้มข้น เป็นเนื้อหาเท่าไร มีวิริยะ มีสติ มีสมาธิ มีปัญญา เป็นเนื้อหาเข้มข้นเท่าไร เป็นต้น หรือมีเนื้อแท้ของสิ่งนั้นเข้มข้นเท่าไร และก็ต้องทนทานด้วย ความทนทานหมายความว่า อะไรจะเข้ามากระทบกระแทกสัมผัส หรือจะมาเป็นตัวทำลาย เป็นตัวสลายเรา เป็นตัวทำให้เราไม่คงทน เราก็จะสร้างความทนทานขึ้นมาให้ได้ มีความแข็งแกร่งอันไม่ง่ายต่อการทำลาย ไม่ง่ายต่อการเปลี่ยนแปลง แม้อะไรจะมามอมเมา ก็มอมไม่ได้ ไม่เมา ไม่มัว ชัดเจนแจ่มแจ้ง คุณสมบัติที่ได้นี้ จึงจะยืนนาน ยิ่งนานเท่าไร ก็ยิ่งดี ยิ่งเป็นของดี ระดับโลกุตระ ซึ่งเป็นสัจจะอยู่แล้ว ยิ่งต้องยืนยาวนานกาลเที่ยงแท้ และก็มีความแน่นลึก ที่เป็นการตอกย้ำถึงความควบแน่น เป็นความแน่นที่เหนียวยิ่งถึงที่ที่ควรยืดควรหยุ่นก็ยืดก็หยุ่นได้ มีทั้งความควบแน่น เป็นทั้งความลึกซึ้ง ถึงที่สุด หยั่งถึงที่เกิด หยั่งถึงต้นเหตุ ถึงรากเหง้าจนถึงสุดปลายจุดสุดท้าย

ส่วนลักษณะของ "นึกนบ" จะเป็นสภาพที่รวมความถึง พฤติกรรมของมนุษย์ ที่จะต้องระลึกถึงทุกสิ่งทุกอย่าง ต้องนึกทวนอยู่เสมอ ถึงสิ่งที่ดีที่เราจะต้องขอบคุณ "นบ" คือ ที่เราจะต้องยกย่องเชิดชู นอบไหว้ด้วยความเลื่อมใส หรือยินดีกับสิ่งนี้จริงๆ เพราะฉะนั้นเราต้องนึกนบทบทวนตรวจสอบ ว่ายังแข็งแรงอยู่หรือไม่ ยังเข้มข้นอยู่จริงหรือ มีความทวีขึ้นหรือไม่ ยังมีพัฒนาการ หรือมีความเจริญก้าวหน้าขึ้นไปอีก หรือว่าถึงที่สุดแล้ว จนไม่เสื่อม ตลอดจนยังมีความยินดีปรีดา เชิดชูเทิดทูนสิ่งที่ดีนี่หรือไม่ และในลักษณะของ ความยินดีปรีดาเทิดทูนบูชานั้น เกี่ยวข้องกับใคร หรือไม่ เกี่ยวข้องกับ ผู้นั้นผู้นี้ ที่เราจะต้องพึ่งเขา ให้เขาช่วยเราบ้าง เราได้จากเขาบ้าง มีการกตัญญูกตเวที นึกนบ ซึ่งกินความไปถึงเราต้องตอบแทนพระคุณ ทดแทนบุญคุณกตัญญูกตเวทีต่อสิ่งที่ได้มานี้ หรือผู้ที่เป็นบุญคุณต่อเรามากหรือน้อยก็ตามแต่ คำว่า "นึกนบ" กินความรวมถึง ลักษณะที่ดีงามของสิ่งดีทั้งหลาย ที่พึงเป็น พึงมี ที่เราจะต้องสัมพันธ์กันไปสัมพันธ์กันมา มีปฏินิสสัคคะ มีการย้อนไปย้อนมา ตอบแทนกันไปมา เป็นทายกปฏิคาหก เป็นการรับการให้ มีสภาพที่หมุนเวียน เป็นคุณเป็นประโยชน์ที่ดีต่อกันและกัน เกิดเป็นสัมพันธ์อันดี เป็นวงจรที่สมบูรณ์

พ่อท่านเน้นโศลกนี้ เพราะเห็นความหละหลวม ของพวกเราหรือไม่คะ?

จะบอกว่าหละหลวมก็มีบ้างในบางคน หรือจะบอกว่ายังไม่สมบูรณ์ ก็มีอยู่ในมากคนแน่แท้ เป็นการสำทับให้พวกเรารู้ว่า ยังมีอะไรที่จะต้องทำให้แข็งแรง ทำให้เข้มข้น ทนทาน ยืนนาน แน่นลึก นึกนบ ซึ่งเราสร้างสรรขึ้นมา

เพราะฉะนั้นที่พูดนี้ก็เพื่อให้พวกเรารู้ว่ายังมีอะไรที่บกพร่อง มีอะไรที่ยังไม่สมบูรณ์อยู่ในจุดใด เรื่องใด เราก็สมควรจะทบทวน เพื่อให้มีพัฒนาการ มีบูรณาการ จนถึงบูรณภาพ เป็นสภาวะที่เต็มบริบูรณ์

การเกิดไฟไหม้ที่ร้านค้าชุมชนศีรษะอโศก มีผู้สงสัยว่า จะเป็นบทพิสูจน์ถึงการทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วอยู่หรือไม่คะ และทำไมเราทำดีแล้วกลับไม่ได้ดี

 

อย่าเพี้ยนซิ คิดอย่างนั้นเพี้ยนแล้ว การกระทำคือ กรรม ผู้ใดทำกรรมปุ๊บ จบในตัวปั๊บ ทำกรรมดีก็ดีแล้ว มีคุณค่าของมันในตัวเองแล้วทันที กรรมคือการกระทำ คือกิริยาหรือพฤติของคน ใครทำก็เกิดอยู่ที่คนนั้น เป็นของคนทำนั้นทันที คือกรรมเป็นของผู้ทำ เป็นของคนอื่นที่ไหนกัน ใครเชื่อกรรม เชื่อวิบาก เชื่อว่ากรรมเป็นของตน ก็ได้ดีแล้วโดยกรรม หากทำดี ไม่ใช่ว่า เราทำดี เราต้องได้เงิน เงินมิใช่กรรม กรรมมิใช่เงิน คนทำชั่วแล้วได้เงินมีถมไป นี่คือความเพี้ยน เพราะเข้าใจผิดประเด็น ผิดเป้า ผิดฝา ผิดตัว ผิดสัจจะ ยิ่งคุณทำกรรมดีในระบบทุนนิยม เสร็จแล้วก็เอาค่าการกระทำ ค่าแรงงานที่ทำดีคืนมาหมด และก็ได้มาแพงด้วย ได้มาเกินคุณค่ากรรมดีที่ควรจะได้ เช่น ราคากรรมนั้นมีค่าสักหนึ่งหมื่น คุณก็ตีราคาเอาซะ ๒ หมื่น เมื่อคุณได้ ๒ หมื่นมา คุณอาจเข้าใจว่า คุณทำดี และคุณก็ได้ดีตอบแทนเกินค่าด้วยซ้ำไป แต่โดยสัจจะแล้ว ไม่ใช่เลย คุณขาดทุนต่างหากไม่ใช่คุณได้ แต่คุณเสีย เพราะคุณไปเอาเกินจริง คุณจึงไม่ได้ดีเลย ขาดทุนด้วยซ้ำ เพราะเอาค่ากรรมดีมาหมดแล้ว แถมเอาเกินค่าที่จริงมาอีก ก็เป็นกรรมเอาเกินจริง หรือเอาเปรียบ ก็คือชั่ว ฉะนั้นการที่คุณไปตีค่ากรรมว่าได้ดี คือ ได้สิ่งแลกเปลี่ยนตอบแทนมามาก ว่าเป็นกรรมดี ผลกรรมดีนั้นไม่ใช่ จริงๆแล้ว ถ้าเขาจะให้มาก็ไม่ใช่ค่าตอบแทนของอันนี้ ยกตัวอย่างเช่น เขามาบริจาค มาทำบุญทำทานกับอาตมา ซึ่งอาตมาไม่ได้ทำงานรับจ้าง โดยเขาตีราคาค่าแรงงานของอาตมา แล้วเอามาให้เป็นค่าจ้าง มันไม่ใช่ การที่เขาให้เพราะเขาอยากร่วมมือด้วย อยากจะสนับสนุน เมื่อเขาไม่มีความสามารถทำได้อย่างท่าน ก็ขอเติมน้ำมันให้แก่ท่านหน่อยเถิด ขอร่วมด้วยสิ่งที่มี เอามาเสริมผสม เพราะเชื่อว่า ท่านเป็น "นาบุญ" จะเอาอะไรใส่ลงไป ก็มีแต่จะงอกออกผลงาม แผ่แพร่ออกไปให้แก่โลก ต่อๆไป เขาก็นำปัจจัยมาให้ เพื่อให้เรามีแรงทำงาน หรือจะซื้อเครื่องมือต่างๆให้ก็แล้วแต่อัธยาศัย ท่านขาดแคลนอะไรก็ไปเสริมให้ ผู้ที่เป็นนาบุญแท้ๆ แล้วจะไม่เอาเงินนั้น มาเป็นของตัว เพื่อมาใช้บำเรอเป็นประโยชน์ตน อย่างนี้จึงเป็นความสะอาด เป็นการไม่ผิดประเด็น ไม่ผิดฝาผิดตัว ฉะนั้น ที่คุณบอกว่าทำดีแล้วไม่ได้ดี ดีมันเสร็จในตัวการกระทำ ไม่ใช่ว่าทำดี คือ เราทำดีแล้ว ทำไมมาเผาบ้านเรา เขาเผาบ้านเรา ก็เป็นกรรมชั่วของเขา ส่วนเราทำดี เราสร้างสิ่งนี้ ข้อสำคัญเราทำร้านค้าชุมชน ให้เป็นประโยชน์ดีจริง หรือยัง ถ้าคุณสร้างร้านค้าฯ ซึ่งทำประโยชน์ได้ดี คุณก็ได้ทำดีนั่นไปแล้ว ก็จบแล้วการที่เขามาเผาร้าน ไม่ใช่กรรมของเราที่ไปเผาเมื่อไร คนโน้นเขาทำกรรมชั่วของเขา เราจะบอกว่าการถูกเผานี้ เป็นการได้รับผลตอบแทน จากกรรมดีที่เราทำนั้น เป็นการสรุปผิด ต้องเข้าใจว่ากรรม คือ "การกระทำ" กรรม ไม่ได้หมายถึงวัตถุด้วยซ้ำ กรรมไม่ได้หมายถึงอะไร ที่เป็นตัวเป็นตน แต่กรรม เป็นตัวกิริยา ของคุณ ที่เมื่อทำดีแล้ว ได้ดีแล้วก็จบ

ที่เราเข้าใจสับสน ก็เพราะทุนนิยม มักจะสอนผิดๆ ในลักษณะแบบนี้ อาตมาจึงอธิบายสัจจะว่า ที่คุณเสียนั่นแหละคุณได้ สำหรับคนที่ไม่มีภูมิปัญญาจริงๆ ก็คงจะนั่งงงอยู่ตรงนี้ คนที่มีปัญญาจริงจะเข้าใจ การที่คุณได้ก็คือ คุณสามารถที่จะไปเป็นคนดี ได้ทำดี ได้สร้างสิ่งที่ดี ที่เป็นประโยชน์แก่เขาอื่นแล้ว ก็เป็นกรรมแล้วดีแล้วทันที โดยคุณเป็นประโยชน์แก่เขาแล้ว ให้วัตถุเขาไป เขาก็ได้รับประโยชน์จากเราแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการให้แรงงาน ให้ความรู้สอนเขา หรือให้คำแนะนำก็แล้วแต่ ข้อสำคัญคือ ที่ทำนั้นดีหรือไม่ดี ถ้าดีมีประโยชน์ ก็คือเรามีประโยชน์ต่อเขา เป็นคุณค่าที่เกิดขึ้นแล้ว เราจึงมีกรรม คือ การกระทำดีแล้ว นี่เป็นสัจจะที่ลึกซึ้ง เราต้องเข้าถึงความหมายที่ไม่ผิดฝาผิดตัว ไม่ผิดประเด็น ไม่ผิดเป้าหรือผิดความเป็นกรรม โดยเพี้ยนไปเป็นเงิน เป็นลาภ เป็นยศ เป็นสรรเสริญ เป็นโลกียสุข

การที่เราคิดว่า ได้ทำดีกับคนนั้น แต่เขาไม่ตอบแทนความดีของเรา ควรคิด ให้ถูกต้อง อย่างไรคะ?

ถ้าใครตอบแทนเราไม่ดี เราก็ต้องโทษตัวเอง เพราะคิดว่าสอนคนนี้ได้ดีแล้ว ได้ให้สิ่งดีแก่เขาแล้ว แต่การที่เขากลับแสดงตอบต่อเราในทางที่เลว เช่น มาทำร้ายเรา ก็ต้องบอกตัวเองว่า เรายังไม่มีประสิทธิภาพพอ ต้องโทษตัวเราเองว่า ยังไม่เก่ง จึงไม่สามารถทำให้เขาเป็นคนดีได้จริง ซึ่งเราก็ต้องตรวจตัวเองว่าบกพร่องอะไร แล้วแก้ไขปรับปรุง

โดยเฉพาะกรรมกิริยากายกรรม ของเราออกไปอย่างไร วจีกรรมออกไปอย่างไร เราสัมพันธ์กับเขาอย่างไร มีผลกระทบต่อเขาอย่างไร เขาจึงตอบแทนเรา โดยที่เรียกว่า กลับร้าย กลับสูญ เสียหาย เป็นเพราะอะไร เราต้องแก้ตรงจุดนั้น เราอาจจะว่าเราดีแล้ว แต่ดีเกินไปจนเขาทนไม่ไหว เขาเจ็บเขาปวดอะไรก็ได้ หรือว่าดียังไม่พอก็ได้

ถ้าเรามองในแง่ดีดังกล่าวนี้ ก็จะเป็นสิ่งดี ที่ชี้ให้เรารู้ว่ายังปรับอะไรไม่ลงตัว ปรับอะไรไม่ได้สัดส่วนที่พอเพียงเหมาะสม ยังไม่เป็นปโหติ ศัพท์ของพระพุทธเจ้าแปลว่า ยังไม่เกิดผลเพียงพอเหมาะสม ยังไม่ได้สัดส่วน ยังไม่ได้สิ่งที่สมดุล สัมบูรณ์

หมายความว่าเราควรทำดีความดี โดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ
เราไม่ควรหวังผล ที่หมายความว่า อยากได้อะไรจากใคร มาตอบแทนใดๆ แต่ถ้าหมายถึงงาน ก็ต้องหวังให้ผลของงานมันเกิดคือ โหติ เป็น ปโหติ คือ เกิดอย่างพอเพียง เกิดอย่างเหมาะอย่างควร หากหวังอย่างนี้ ก็ไม่เสียหาย เพียงแต่หวังแล้วทำไม่ได้ ทำไม่เป็นผล ก็อย่าท้อ อย่าให้ใจเสียก็แล้วกัน จริงๆ อย่าทำใจเราหวังผลเอาอะไร จากใครมาตอบแทน ไม่ต้องการสิ่งแลกเปลี่ยน ไม่ต้องการแลกอะไรคืนมา ส่วนใครเขา จะกตัญญูกตเวทีเขาจะตอบแทนคืนนั้น เป็นใจที่เกิดจริงของเขา นั่นจึงเป็นการสร้างที่ยิ่งใหญ่ ส่วนตัวเราเองจบของเราแล้ว ไม่ต้องการอะไรตอบแทน แต่ถ้าเราสร้างให้เขาเป็นคนมีใจเสียสละเกื้อกูล ช่วยเหลือเฟือฟายคนอื่นต่อ แต่ถ้าเขาก็จะพยายามจะตอบแทนเราก่อน เพราะเรามีบุญคุณต่อเขา เราก็จะกลายเป็นนาบุญ คือ เมื่อเขาให้มาไว้ที่เรา เราก็เผื่อแผ่ไปให้ผู้อื่นต่อ นี่คือนาบุญ
ทำไมคนทุกวันนี้ มีความคิดแบบอุจเฉททิฏฐิ ที่เชื่อว่าตายแล้วสูญ และความคิดเช่นนี้ จะเป็นผลร้ายต่อสังคมและโลกอย่างไรคะ?

เลวร้ายมากเลย คนที่มีแนวคิดแบบอุจเฉททิฏฐิ โดยมีความเชื่อว่า ตายชาติเดียวขาดสูญ ไม่มีอะไรต่อเนื่องอีกเลย ถ้าใครเห็นว่าในชีวิตของแต่ละอัตภาพแต่ละบุคคล ตายแล้วก็สูญเลย คนที่เชื่ออย่างนี้เป็นคนน่ากลัวมาก เพราะว่าคนคนนี้จะไม่มีอะไรรองรับในภาคข้างหน้า เขาอยู่กับปัจจุบัน จะทำชั่วทำเลวอะไร ตายแล้วก็ไม่มีอะไร ฉะนั้น ถ้าใครทำให้เขาเจ็บแค้น ฆ่ามันเลย ตายก็ตายไป คนพวกนี้จะคิดสั้นมาก จะไม่มีการคิดอะไรยาวๆ เพราะคิดว่าตายแล้วก็จบ ยังกับปรินิพพานแล้วสูญแล้ว

เพราะฉะนั้นคนพวกนี้ จึงทำเลวร้ายได้อย่างไม่ต้องเกรงใจใคร ไม่ต้องเกรงใจพระเจ้า ไม่ต้องเกรงใจนรกสวรรค์ คนที่มีความคิดขาดสูญ ตายสูญ ทำให้สังคมเลวร้ายที่สุด สมมตินะสมมติว่า อนาคตไม่มี ชาติหน้าไม่มี ส่วนที่ต่อไม่มีจริง แต่เขาถูกลวงว่า มีชาติหน้า มีบุญมีบาป มีนรกสวรรค์ และคนคนนี้ก็กลัวบาป กลัวนรก กลัวว่าชาติหน้าจะไปสู่สภาพไม่ดี คนพวกนี้ยังมีหิริโอตตัปปะ จะทำอะไร ก็ยังต้องระมัดระวัง เพราะกลัวว่าจะมีผลลัพธ์สืบต่อไปอีก อย่างนี้ก็ยังเข้าท่ากว่า เหมือนกับหลายศาสนาที่เชื่อพระเจ้า หรือเชื่อว่าชาติหน้ามี ก็ยังดี เพราะทำให้มีความเกรงกลัวบาป กลัวกรรม กลัวนรกอะไรบ้าง แค่เชื่อตามปราชญ์ศาสดาส่วนใหญ่ ก็ยังดีแล้ว อย่าไปคิดผิด เชื่อเลวร้ายให้ร้ายแก่ตนแก่สังคมเลย แต่แท้ๆจริงๆชาติหน้ามีแน่ๆ สำหรับคนที่ยังไม่สามารถทำปรินิพพาน ทุกคนต้องเวียนว่ายตายเกิดมารับบาปรับกรรมทั้งนั้น

ทุกวันนี้ ใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อว่า มีนรกสวรรค์ มีชาติหน้าไม่มีชาติหน้า ก็ตามใจเถอะ แต่เราเชื่อ และเราก็ทำเพื่อความดีที่ยิ่งใหญ่ ยิ่งยวดไปข้างหน้า เพราะเราเชื่อว่ามีวัฏฏสงสารอีกยาวนานไกลมาก นับชาติไม่ถ้วน

ภาวะที่กำลังเกิดน้ำท่วมทั่วประเทศขณะนี้ พ่อท่านคิดอย่างไรคะ?

 

 

ธรรมชาติมันแปรปรวน ทุกอย่างก็กลับไป เหมือนที่เคยเป็น ทะเลทรายกลายเป็นภูเขา ภูเขาก็กลายเป็นท้องทะเล อยู่ใต้มหาสมุทร เหมือนที่มันเคยเป็นมาแล้ว อาจจะด้วยวิธีค่อยเป็นค่อยไป หรือด้วยวิธีพลิกผัน ปรับตัวอย่างแรงก็แล้วแต่ และก็มีอัตรา การปรับตัวมากขึ้น หรือว่าเป็นการปรับ อย่างทันทีทันใด จากหัวเป็นหางก็เป็นไปได้ ซึ่งเป็นไปได้ ของธรรมชาติ ที่ถึงรอบของมัน สิ่งเหล่านี้อาตมาไม่ได้ ไปดูรายละเอียด หรือข้อมูลทั้งหมด จึงตอบตายตัวไม่ได้ว่า มันจะพลิกผัน หรือว่า จะเปลี่ยนแปลงไป โดยวิธีทันทีทันใด หรือค่อยๆปรับตัว

เราก็ดูตามสภาวะ อะไรจะเกิดขึ้น เราก็ต้อนรับเสมอ ในทุกวิกฤต ก็มีโอกาสที่ดีแฝงอยู่ทั้งนั้น

เราเปรียบเสมือนกล้าไม้ที่เติบโตภายใต้การดูแลทะนุบำรุงของศีล สมาธิ และเข้าสู่ ทศวรรษ
แห่งปัญญา ด้วยการเป็นต้นไม้แผ่กิ่งก้านสาขา ถ้าการเกิดขึ้นของศีล สมาธิ ปัญญา วิมุติ
ขานรับ กันอย่างเป็นสมังคีธรรม ต้นไม้ใหญ่จะแข็งแรง หยั่งรากลึก ยากที่จะ
หักโค่น หรือถูกทำลาย แม้ท่ามกลางกระแสแปรปรวน
ของธรรมชาติ!

   Asoke Network Thailand