พระบรมราโชวาท แถลง ชนะใจ - ชนะภัย (ไฟ)
น้ำท่วมบ้านราช สิบห้านาทีกับพ่อท่าน
พระพุทธเจ้ากับการอนุรักษ์ธรรมชาติ
จดหมายจากญาติธรรม รายงานจากพุทธสถาน
สรุปรายงานการประชุมองค์กรต่างๆ ของชาวอโศก ใต้ร่มอโศก
เก็บเล็กผสมน้อย น้ำฉี่ดีจริงหรือ? ไร้บุญนิยมสังคมอันตราย
กรรมตามสนอง ดวงตามที่สาม หอมดอกพุทธา

 

 พระพุทธเจ้า กับ การอนุรักษ์ธรรมชาติ 

เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง ทั่วโลกเพิ่งตื่นตัวต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ ให้การช่วยเหลือดูแลสภาพแวดล้อมต่างๆ เช่น ดิน น้ำ อากาศ ต้นไม้ สัตว์ ฯลฯ แต่ใครจะคาดคิดบ้างว่า พระพุทธเจ้าผู้เป็นศาสดาของชาวพุทธนั้น ก็ได้ทรงอนุรักษ์ธรรมชาติมาเนิ่นนานแล้วเช่นกัน

จากหลักฐานในพระไตรปิฎก สามารถค้นคว้าได้หลายจุดหลายตอน ถึงความเป็นนักอนุรักษ์ธรรมชาติ ของพระบรมศาสดา โดยมีมาในข้อศีลบ้าง ในข้อวินัยบ้าง หรือในพระสูตรต่างๆที่ทรงแสดงไว้บ้าง ซึ่งอาจมีมาจากสาเหตุโดยตรง หรือโดยอ้อมก็ตาม จะขอนำมาเสนอเท่าที่พอค้นคว้าได้ ดังต่อไปนี้

อนุรักษ์สัตว์

ศีลข้อที่หนึ่ง ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางโทษภัย วางของมีคม แล้วมีความละอายต่อการทำบาป มีความเอ็นดู มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่
(พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ "อุโปสถสูตร")

นับตั้งแต่ในสมัยพุทธกาลนานมา พระพุทธองค์ทรงวางนโยบายอนุรักษ์ชีวิตสัตว์โลกเอาไว้แล้ว โดยการกำหนดปฏิบัติที่เรียกว่า "ศีล" ให้แก่ชาวโลก

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า หากผู้คนพยายามรักษาศีลข้อที่หนึ่งนี้เพิ่มมากขึ้น ปัญหาการสูญพันธุ์ของสัตว์ป่า

ต่างๆจะลดลง ในป่าจะมีสัตว์อาศัยอยู่ และสัตว์ทั้งหลายก็จะมีป่าให้อยู่ สัตว์กับป่าไม้เป็นสื่อสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ไม่ใช่ไปทำสัตว์ป่าให้กลายเป็นสัตว์บ้าน นำมาบังคับใส่กรงขังไว้ แล้วทำลายป่าราบเรียบ สร้างเป็นตึกสูง เป็นห้องแถว

อย่าทำให้สัตว์ป่าไร้ป่าอยู่ ซึ่งผิดธรรมชาติของมัน อย่าทำให้ป่าต้องร้างสัตว์อยู่ ซึ่งผิดธรรมชาติของป่า และอย่าทำให้วงจรชีวิตของธรรมชาติ ที่สัตว์กับป่าต้องพึ่งพาอาศัยกัน นั้น ต้องถูกทำลายสมดุล ในตัว ของมันเองไป อันเนื่องมาจากการฆ่าแกงทำร้ายสัตว์ การข่มเหงบังคับสัตว์อย่างทารุณ ด้วยฝีมือของมนุษย์

โปรดช่วยกันเอ็นดู ให้ความเมตตากรุณา และให้ประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงบ้างเถิด อย่ารังแกกันเกินไปนักเลย


อนึ่ง ภิกษุใดแกล้งพรากสัตว์จากชีวิต
หรือภิกษุใดรู้อยู่ บริโภคน้ำมีตัวสัตว์
หรือภิกษุใดรู้อยู่ว่า น้ำมีตัวสัตว์ ก็รดน้ำนี้เอง หรือให้คนอื่นรดน้ำนี้ ลงบนหญ้าก็ตาม ดินก็ตาม
ล้วนเป็นอาบัติปาจิตตีย์
(โทษระดับเบาที่ทำผิดในการละเมิดพระวินัย)

(พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒ "สัปปาณกวรรค สิกขาบทที่ ๑-๒", "ภูตคามวรรค สิกขาบทที่ ๑๐")

พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนผู้ประพฤติธรรม ให้รู้จักอนุรักษ์ชีวิตของสัตว์อื่นๆ แม้กระทั่ง

ทรงเตือนการใช้เลศเล่ห์ ที่จะไปทำร้ายสัตว์ให้ตาย ไม่ว่าจะเป็นสัตว์บกหรือสัตว์น้ำก็ตาม ไม่ว่าจะเอามากินเป็นอาหาร หรือเอามาทำเป็นเครื่องใช้อะไรก็ตาม พระองค์ทรงตำหนิติเตียนผู้กระทำเช่นนั้น
ดังนั้นจึงควรเลิกใช้ชั้นเชิงหลอกตัวเอง และลวงคนอื่นเสียทีว่า "สัตว์เกิดมาเพื่อให้คนกิน เพื่อให้คนใช้ แล้วก็เพื่อเป็นทาสของคน" เพราะโดยแท้จริงแล้ว สัตว์โลกทุกชนิดล้วนเกิดมาอย่างอิสระเสรี ไม่มีใคร เป็นเจ้าของชีวิตของใคร และไม่มีใครเป็นทาสชีวิตของใครเลย สัตว์ทั้งหลายมีสิทธ์ เป็นเจ้าของชีวิต ของตนผู้เดียวเท่านั้น เพราะต่างก็รักชีวิตของตนด้วยกันทั้งสิ้น จึงไม่ควรเบียดเบียนทำร้ายสัตว์อื่น

อนุรักษ์ดิน

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงติเตียนว่า ดูก่อนโมฆบุรุษ (ผู้สูญเปล่า) ทั้งหลาย ไฉนพวกเธอ (ภิกษุ) จึงได้ขุดดินเองบ้าง ให้คนอื่นขุดดินบ้างเล่า เพราะคนทั้งหลายสำคัญในดินว่า มีสิ่งมีชีวิต จึงย่อมเบียดเบียนอินทรีย์(สิ่งมีชีวิต) การกระทำของพวกเธอนั้น เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใส ของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเป็นไปเพื่อความเป็นอย่างอื่น ของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว
(พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ "มุสาวาทวรรค สิกขาบทที่ ๑๐")


แม้กระทั่งพวกสัตว์ที่มีชีวิตอยู่ในดิน พระบรมศาสดาก็ทรงอนุรักษ์ชีวิตไว้ ซึ่งโดยแท้จริงสัตว์เล็กๆในดินนี่เอง เป็นผู้ช่วยให้"ดินมีชีวิต"ขึ้นมา ดังนั้นการทำให้ชีวิตสัตว์ในดินตายไป ก็คือการทำให้ดินต้องตายไปด้วย กลายเป็น"ดินตาย"ที่ไร้ประโยชน์ ไม่สามารถเพาะปลูกพืชได้

ฉะนั้น นักเพาะปลูกที่เป็น"นักปฏิบัติธรรมของพุทธ" จึงสมควรใช้ "การเพาะปลูกแบบธรรมชาติ" เพราะ มีแต่วิธีนี้วิธีเดียวเท่านั้น ที่จะไม่ต้องเบียดเบียนทำร้ายสัตว์ เนื่องจากวิธีการเพาะปลูก แบบธรรมชาตินั้น ไม่ต้องขุดดิน

ไม่ต้องไถพรวนดิน แต่จะปล่อยให้ดินพัฒนาตัวของมันเอง คือปล่อยให้สิ่งมีชีวิตในดินเช่น จุลชีพในดิน

ไส้เดือน ตัวตุ่น ฯลฯ ทำหน้าที่แทนคันไถและวัวเทียม ในการจัดระบบดินและสร้างดิน ให้อุดมสมบูรณ์ขึ้นมา

ดินจะมีชีวิตตามธรรมชาติของมันเอง และธรรมชาติจะสร้างดินให้มีชีวิตเอง วงจรชีวิตของธรรมชาติย่อมสมดุลกันเอง หากมนุษย์ไม่เข้าไปแทรกแซงทำลาย ดังเช่นป่าเขาลำเนาไพร ไม่ต้องการปุ๋ยเคมีใดๆจากมนุษย์เลย แต่ต้นไม้ก็พากันเติบโตสูงใหญ่ อย่างหนาแน่นรกทึบได้เอง

อนุรักษ์น้ำ

ภิกษุพึงทำการศึกษาว่า เราจะไม่ถ่ายอุจจาระ ไม่ถ่ายปัสสาวะ หรือบ้วนน้ำลาย ลงในน้ำ
(พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒ "ปาทุกาวรรค สิกขาบทที่ ๑๕ พระปฐมบัญญัติ")

พระพุทธองค์ทรงแสดงเจตนารมณ์ ให้ช่วยกันรักษาความสะอาดแก่แม่น้ำ-ลำคลอง-บึง-หนอง-บ่อ ฯลฯ ไม่ให้ถ่ายเทของเน่าเสียลงน้ำ น้ำจึงจะไม่กลายเป็นมลพิษ ไม่เป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคสู่ประชาชน ตลอดจนไม่ก่ออันตรายสู่สัตว์น้ำ และสัตว์บกทั้งหลายด้วยแล้วเจ้าพระยาที่กำลังจะเน่า อีกทั้งแม่น้ำสายอื่นๆ จะได้คืนกลับสู่ความสะอาดสวยใสดังเดิม หากชาวบ้านช่วยกันไม่ทิ้งขยะของเสียลงน้ำ

อนุรักษ์พืช

ภิกษุพึงทำการศึกษาว่า เราไม่ป่วยไข้จะไม่ถ่ายอุจจาระ ไม่ถ่ายปัสสาวะ หรือบ้วนน้ำลาย ลงบนของสดเขียว
(พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ "ปาทุกาวรรค สิกขาบทที่ ๑๔")

ทรงบัญญัติห้ามถ่ายสิ่งสกปรก หรือไม่ให้ถ่มสิ่งของปฏิกูล รดบนใบไม้ใบหญ้าที่สดเขียว เพราะตามธรรมชาติของพืชแล้ว พืชต้องการปุ๋ยจากแผ่นดิน ใบต้องการแสงแดดจากดวงอาทิตย์ จึงไม่มีความต้องการใดๆเลย ที่จะรับปุ๋ยสดโดยตรงของมนุษย์รดที่ตัวพืช

ฉะนั้นทางที่ดีควรขับถ่ายลงดินเป็นดีที่สุด แล้วดินนั่นแหละ จะเป็นผู้ป้อนอาหารไปสู่พืชเอง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง"ยากำจัดศัตรูพืช" หรือ "ยาฆ่าแมลง" หรือ "ปุ๋ยสารเคมี" ซึ่งพืชไม่ต้องการ สารเคมีมาเป็นปุ๋ยเสริมเลย มิหนำซ้ำสารเคมีนั่นเองจะทำร้ายสัตว์ในดินให้ตาย แล้วดินก็ต้อง ถึงแก่ความตายไปด้วย "ดินตาย" ย่อมปลูกพืชไม่ได้ผล เพราะพืช อาศัยเพียง "ดินที่มีชีวิต" เท่านั้นเป็นอาหาร ในการสร้างความเจริญเติบโตให้แก่ตัวเอง ถ้าดินตายเสียแล้ว จะให้ชีวิตแก่ พืชได้อย่างไรกัน

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงติเตียนว่า ดูก่อนโมฆบุรุษ (ผู้สูญเปล่า) ทั้งหลาย ไฉนพวกเธอ (ภิกษุ) จึงได้ตัดต้นไม้เองบ้าง ให้คนอื่นตัดต้นไม้บ้าง เพราะคนทั้งหลายสำคัญต้นไม้ว่ามีชีวิต การกระทำของพวกเธอนั่น เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใส ของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเป็นไปเพื่อความเป็นอย่างอื่น ของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว
(พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ "ภูตคามวรรค สิกขาบทที่ ๑")

วินัยข้อนี้ชี้ชัดเรื่องของการอนุรักษ์ต้นไม้ โดยไม่ให้ภิกษุตัดต้นไม้เอง และไม่บอกคนอื่นตัดต้นไม้ให้ เพื่อรักษาชีวิตของป่าไม้เอาไว้ แล้วป่าช่วยให้ฝนตกตามฤดูกาล ช่วยป้องกันภัยจากน้ำท่วมไหลบ่าได้

มาถึงทุกวันนี้ ต้นไม้ขาดแคลนมหาศาล ไม่มีจำนวนเพียงพอฟอกอากาศพิษในเมือง ที่พ่นพิษออกจาก ท่อไอเสียรถ หรือปล่อยพิษออกจากปล่องโรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ "ปอดธรรมชาติของโลก" ได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง เพราะต้นไม้ถูกมนุษย์ตัดโค่นทำลาย เมืองไทยเคยมีป่าเขตร้อน ปกคลุมพื้นที่อยู่ ๘๐% แต่ทุกวันนี้เหลือไม่ถึง ๒๐% ซึ่งส่วนใหญ่ ถูกทำลายลงเพราะ.... การพัฒนา เศรษฐกิจ-สังคม เลียนแบบประเทศอุตสาหกรรมที่เจริญแล้วทางเทคโนโลยีทั้งหลาย

ฉะนั้นหากหวังจะหายใจกันได้อย่างปลอดภัย ไม่หวั่นควันพิษจากรถที่จะทำให้สมองเสื่อม หรือทำให้เยื่อหลอดลมอักเสบ หรือทำให้หายใจไม่ออกแล้ว ต้องเร่งช่วยกันปลูกต้นไม้มากๆทั่วประเทศ-ทั่วโลก แล้วอากาศบริสุทธิ์จึงจะกลับคืนมาสู่มนุษยชาติได้อีกครา

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราพิจารณาเห็นอำนาจประโยชน์ ๒ ประการ จึงเสพเสนาสนะ (ที่พักอาศัย) อันสงัดคือ ป่าและป่าเปลี่ยว
อำนาจประโยชน์ ๒ ประการนั้นคือ
๑. เห็นการอยู่สบายในปัจจุบันของตน
๒. อนุเคราะห์หมู่ชนในภายหลัง

(พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๐ "ปฐมปัณณาสก์")


คำตรัสของพระพุทธองค์นี้ เป็นเครื่องยืนยันถึงสภาพที่อยู่อาศัยอันสงบ ซึ่งในสถานที่นั้น มีต้นไม้ใบหญ้า อยู่ร่วมด้วย เพราะธรรมชาติช่วยให้อากาศบริสุทธิ์สดชื่น ชวนให้น่ารื่นรมย์ใจ ยิ่งบ่งชี้ถึงแมกไม้อันสงบ ร่มเย็นว่า เป็นสถานที่เหมาะต่อการพักผ่อน แม้เป็นอนุชุนรุ่นหลัง ก็ควรได้สัมผัส ความสุข เช่นนั้นด้วย

ป่าไม้จึงเป็นมรดกแห่งความร่มเย็น ที่บรรพบุรุษสร้างไว้ให้ลูกหลาน ไม้นานาพรรณเป็นปอดธรรมชาติ ช่วยดูดไอพิษในอากาศ ช่วยสร้างทัศนียภาพที่น่าหย่อนใจคลายเครียด และใช้เป็นที่หลบไอร้อนจากเปลวแดด บรรเทาอากาศอันร้อนอบอ้าวจากความแห้งแล้ง ดังที่พระพุทธองค์ทรงเคยกล่าวไว้ว่า

ต้นไม้เกิดในพื้นที่อันสม่ำเสมอ มีใบอ่อนและใบแก่อันหนา มีร่มเงาหนาทึบ บุรุษผู้มีกายอันความร้อนแผดเผาครอบงำ เหน็ดเหนื่อย สะทกสะท้าน หิวกระหาย มุ่งมาสู่ต้นไม้นั้น โดยเส้นทางสายเดียว
เมื่อมาถึงต้นไม้ เขานั่ง นอน ในร่มเงาต้นไม้นั้น ได้รับความรู้สึกสุขเป็นอันมาก

(พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ "มหาสีหนาทสูตร")

อนุรักษ์ทรัพยากร

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวธรรมของภิกษุ ซึ่งเป็นผู้สันโดษ(มักน้อย)ด้วยปัจจัย(ของจำเป็นในการยังชีพ)ที่น้อย หาได้ง่ายและไม่มีโทษ ว่าเป็นองค์แห่งความเป็นสมณะ คือ

๑. สันโดษด้วยจีวร ผ้าบังสุกุล(ผ้าทิ้งแล้ว)ที่น้อย หาได้ง่ายและไม่มีโทษ

๒. สันโดษด้วยโภชนะ คำข้าวที่น้อยหาได้ด้วยปลีแข้ง หาได้ง่ายและไม่มีโทษ

๓. สันโดษด้วยเสนาสนะ โคนไม้ที่น้อย หาได้ง่ายและไม่มีโทษ

๔. สันโดษด้วยเภสัช(ยา) มูตร(ปัสสาวะ)เน่าที่น้อย หาได้ง่ายและไม่มีโทษ

(พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ "จัตตาริสูตร")

พระองค์ทรงสอนให้ทำตนเป็นผู้มักน้อย ใช้สอยของกินของใช้อย่างประหยัด เท่าที่ มีความจำเป็น แก่ชีวิตเท่านั้น ซึ่งที่สำคัญๆก็คือ ปัจจัย ๔ อันได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค

การร่วมมือกันกินน้อยใช้น้อยนี่เอง จะทำให้ทรัพยากรของโลกถูกใช้อย่างประหยัด สัตว์และพืช ตลอดจน แร่ธาตุต่างๆ จะไม่ถูกใช้จ่ายไปอย่างฟุ่มเฟือย ทรัพยากรธรรมชาติจึงจะเหลืออยู่มาก เพียงพอหาใช้ได้ง่าย ไม่เกิดความขาดแคลน อันจะเป็นที่มาของการแก่งแย่งกัน เป็นที่มาของการล่าทรัพยากรในต่างแดนเกิดขึ้น ดังที่นานาประเทศกำลังทำกันอยู่ ซึ่งผลสุดท้ายก็คือ ความล่มจมของธรรมชาติทั่วโลก แล้วธรรมชาติก็ต้องเสียสมดุลอย่างย่อยยับ ดินแล้ง-น้ำเสีย-ป่าสูญ-อากาศเป็นพิษ มลภาวะย่อมแผ่กระจายออกไปทุกหนทุกแห่ง เพราะธรรมชาติทั้งหมดล้วนสอดประสานกันเป็นวงจรเดียว

เว้นขาดจากการทัดทรง ประดับและตกแต่งกายด้วยดอกไม้ ของหอม และเครื่องประเทืองผิว อันเป็นฐานะแห่งการแต่งตัว
(พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๐ "อุโปสถสูตร")

ทรงห้ามชาวพุทธผู้ถือศีล ๘ อย่างเด็ดขาด ว่าไม่ควรใช้ทรัพยากรอย่างเกินเลยความจำเป็น โดยเอามาใช้กันอย่างไม่คุ้มค่า ต่อสิ่งที่ต้องสูญเสียไป เช่น ฆ่าสัตว์เพียงเพื่อ นำมาใช้ เป็นเครื่องประดับบ้าน ใช้ตกแต่งกายเท่านั้น หรือเด็ดดอกไม้-ตัดต้นไม้ นำไปใช้เสริมสวย ใช้เป็นของกำนัล แค่นั้น หรือเอาทรัพยากรธรรมชาติมาผลิตเป็นของหอม เป็นเครื่องสำอาง เพียงเพื่อบำเรอ ความหรูหราฟุ้งเฟ้อเท่านั้นเอง ออกจะเป็นความเห็นแก่ตัวมาก แต่นึกถึงประโยชน์ส่วนรวม น้อยซะไม่มี

บรรดาตัวอย่างดังกล่าว พอให้เห็นถึงข้อประพฤติปฏิบัติ ที่พระพุทธเจ้าทรงพานำชาวโลก ให้ก้าวเข้าสู่ "ระบบนิเวศวิทยา" อันจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดมลภาวะ ทั้งทางด้านวัตถุและจิตใจ ซึ่งถือได้ว่า เป็นทั้ง "การอนุรักษ์สภาพแวดล้อมของโลก" ไว้ และเป็นทั้ง"การอนุรักษ์คุณงามความดีของมนุษย์"ไว้ อันจะช่วยให้ชาวโลกได้ลดละกิเลสความเห็นแก่ตัวลง ไม่ผลาญทำลาย"ทรัพยากรธรรมชาติ" และไม่ผลาญทำลาย "ธรรมชาติความดีของมนุษย์" ทิ้งไป

สรุปแล้วความรู้กับข้อปฏิบัติ ที่จะช่วยคุ้มครองโลกให้งดงาม คุ้มครองตนให้ไปสู่ดีนั้น ได้มีมาแต่โบราณกาล อีกทั้งยังมีอยู่แล้วมากมาย แต่จนถึงทุกวันนี้ โลกยิ่งเสียหายยับเยินลงไปทุกที เพราะความวิปริต แปรปรวน ของสภาพแวดล้อมทั้งหลายนั้น ล้วนเกิดจากผลงานของมนุษย์แทบทั้งสิ้น นี่ย่อมแสดงถึง.... ความตกต่ำทางใจ ของมนุษย์ทวีมากขึ้นเป็นลำดับ

ดังนั้นตราบใดที่ยังแก้ไข "ความเลวในหัวใจมนุษย์" ให้เลิกขี้โลภเห็นแก่ตัวไม่ได้ ตราบนั้นอย่าหวังเลยว่า สภาวะสมดุลของธรรมชาติจะเกิดขึ้นได้

และตราบใดที่ "หัวใจของคนดี" ท้อถอยต่อการเสียสละ เลิกล้มการสร้างสรรโลก หยุดผงาดขึ้นยืนหยัดต้านภัยพาล ตราบนั้นก็อย่าหวังเลยว่า สังคมโลกนี้จะสวยงามสุขเย็นได้ เพราะโลกนี้ไร้แล้วซึ่งที่พึ่งพิงรอเวลาแหลกสลายจะมาถึงเท่านั้นเอง

โลกนี้จึงกำลังต้องการคนดีที่ใจเด็ด กล้าทน สร้างกรรมดีสืบไปได้ตลอดตาย เพื่อกอบกู้โลกให้น่าอยู่ยั่งยืนยาวนานถึงที่สุด


- จิตเกษม สิริเดช -
จันทร์ ๑๙ พ.ย.๒๕๓๓

กลับหน้าแรก