ความรัก มิติที่: 1กามนิยม  2พันธุนิยม  3ญาตินิยม  4ชุมชนนิยม  5ชาตินิยม  6สากลนิยม  7เทวนิยม  8อเทวนิยม  9นิพพานนิยม  10พุทธภูมินิยม
   [เลือกหนังสือ]      ปก | คำนำ | สารบัญ | ภาคผนวก | คัชนี | ผู้เขียน
page: 2/16

สารบัญ
[1] รักมิติที่1
[2] รักมิติที่2
[3]
รักมิติที่3
[4]
รักมิติที่4
[5]
รักมิติที่5
[6]
รักมิติที่6
[7]
รักมิติที่7
[8]
รักมิติที่8
[9]
รักมิติที่9
[10]
รักมิติที่10
[11]
ถาม-ตอบ
[12]
ถาม-ตอบ
[13]
ถาม-ตอบ
[14]
ถาม-ตอบ
[15]
ถาม-ตอบ
[16]
ถาม-ตอบ

ความรัก ๑๐ มิติ โดย พระโพธิรักษ์

มิติที่ ๒

เป็นความรักที่ขยายแวดวงออกมาอีกนิดหนึ่ง หมายความว่า แทนที่จะเห็นแก่ตัวอยู่ในอารมณ์ร่วมระหว่างคนสองคน ก็แผ่ขยายออกมาอีกนิดหนึ่งให้แก่บุรุษที่ ๓ แต่ก็แคบเล็กจิ๋วเหลือเกิน บุรุษที่ ๓ นั้นคือ “ลูก” เป็นความรักระหว่างสายโลหิต พ่อ-แม่-ลูก จึงเป็นความรักที่ดีขึ้นบ้างนิดหนึ่ง “เติบโต” ขึ้นบ้าง คือ ขยายปริมาณความเผื่อแผ่ออกมาอีกหน่อยหนึ่ง แต่ก็ยัง คับแคบเหลือเกินเพราะเป็นแค่ความรักระหว่างพ่อ-แม่-ลูก

ดังนั้น พ่อแม่ใคร ก็จะหาข้าวของอะไรต่ออะไรมา หาเงินหาทอง หาปัญญา หาความสุข หาความเป็นรูปสมบัติ-นามสมบัติใดๆ ก็จะเอามาไว้ให้แก่ลูก ให้แก่พ่อ ให้แก่แม่ หรือให้แก่แวดวง แค่นี้แหละ สั้นๆ เล็กๆ แค่นี้ เป็นความรักที่อยู่แค่นี้เอง แค่ “พันธนิยม” (หรือ “ปิตปุตตานิยม” ) จึงเป็นความรักที่เห็นแก่ตัวอยู่อย่างชัดเจน

แต่ความรักของพ่อและแม่นี้ มีมุมดีเฉพาะตัวอยู่บ้าง เป็นสภาพเชิงซ้อนอยู่ ก็ขออธิบายสภาวะที่ดีของพ่อและแม่ที่จะมีต่อลูก ที่จะให้ความรักต่อลูก

ความรักชนิดที่เรียกว่า “พันธนิยม” นี้ ถ้าเป็น “ความดี” หรือเป็น “เชิงดี” ท่านเรียกว่า ความรักอย่างปิตโร ภาษาบาลีที่เรียกว่า “ปิตโร” นั้นคืออย่างไร ความรักอย่างปิตโร นั้นก็คือ ความรักอย่างพรหม หรือความรักอย่าง “พระเจ้า” พรหมนี้ท่านแบ่งออกเป็น ๔-๕ อย่างปิตมห ชินะ ฯลฯ พรหมอะไรต่างๆ อาตมาจะไม่พูดละในที่นี้ จะยาวความ จนกระทั่งอย่างสุดท้ายท่านเรียกว่าพรหมแบบ“ปิตโร” ความรักแบบปิตโรนั้น คือ ความรักที่พ่อแม่มีการเสียสละหรือมีการให้แก่ลูกอย่างบริสุทธิ์ใจ แต่ถ้า “ให้” โดยหวังสิ่งตอบแทนจากลูกอยู่ พ่อแม่นั้นก็ยังเลวอยู่

ถ้า “ให้” แก่ลูกแล้วหวังสิ่งตอบแทนจากลูก ก็ยังไม่ เรียกว่าเป็นปิตโรหรือเป็นพรหมเป็นพระเจ้า ถ้าจะให้แก่ลูกอย่างเป็นพรหมหรืออย่างเป็นปิตโรแล้ว จะต้องให้อย่างที่ไม่หวังอะไรตอบแทน ให้อย่างพรหมวิหาร ๔ มี เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา นี่เรียกว่า ให้ความรักอย่างที่ไม่ต้องการสิ่งตอบแทน เมตตา
แล้วก็ทำ

เมตตาแล้ว หมายความว่า เกิดการอยากเกื้อกูลช่วยเหลือจิตใจ อยากจะช่วยเหลือแล้วก็ช่วยจริงๆ เรียกว่า กรุณา กระทำทันที กรุณาลงมือกระทำส่วนตัว เมตตานั้นคือของจิต มันอยากจะช่วยเหลือ เรียกว่าเมตตา เมื่อลงมือกระทำจริงๆ เรียกว่า กรุณา เมื่อกระทำแล้วช่วยเหลือสำเร็จก็ยินดีด้วย เรียกว่า มุทิตา เมื่อเขาได้รับการช่วยเหลือแล้ว พ้นในสิ่งที่มันเป็นทุกข์หรือเป็นภัยอะไรก็ตาม และพอสุดท้ายก็วางใจเป็นเฉย ไม่มีความคิดหวัง สิ่งตอบแทนใดๆ ต่อ และปล่อยความยินดี ลดความยินดี ลดความยินร้ายลงหมด เรียกว่า อุเบกขา นี่เรียกว่า พรหมวิหาร ๔

ถ้าพ่อแม่ผู้ใดมีพรหมวิหาร ๔ อย่างนี้ จ่ายความรักให้แก่ลูกอย่างพรหมวิหาร ๔ ก็ยังมีคุณค่าอยู่บ้าง เพราะเป็นตัวอย่างอันดีเหมือนกัน แต่ก็แคบเหลือเกิน เพราะความรักนี้ไม่เผื่อแผ่ออกไปสู่คนอื่นเลย ยังเห็นแก่แวดวงที่เล็กจิ๋วเหลือเกินแค่ลูกของตัว พ่อแม่ของตัวเท่านั้นเอง

ทีนี้ผู้อยู่ในฐานะลูก เมื่อพ่อแม่เขารักอย่างนั้น ก็จะต้องตอบแทนด้วย ลูกที่ดีหรือลูกที่มีอภิปัญญานั้น พ่อแม่ยิ่งไม่ต้องการสิ่งตอบแทน ลูกยิ่งตอบแทน จึงจะถูกต้องเป็นปฏิภาค อันนี้เป็นสภาพตีกลับ ยิ่งพ่อแม่ไม่ต้องการสิ่งตอบแทน ลูกยิ่งต้อง ตอบแทน นั่นแหละยิ่งคือคุณงามความดี ต้องตอบแทนท่าน
อย่างยิ่ง ถ้าลูกไม่ตอบแทน ก็ต้องเลวแน่ เพราะว่าการได้เกิดมานั้น เนื่องจากพ่อแม่มีอวิชชา เผลอไป ! (ปมาท) ไม่รู้ ! (อวิชชา) จึงทำให้เราเกิดมาได้

การได้เกิดมาจึงยาก ถ้าคนเราเกิดมี “วิชชา” เสีย ทั้งหมด ก็ไม่มีใครจะทำให้เราเกิดได้ แต่พ่อแม่นี้เผลอไปหรือไม่รู้ความจริง จริงๆ และท่านก็จะมีทุกข์ด้วย ท่านอุตส่าห์เสียสละ มีทุกข์นะ ! จึงทำให้เราเกิดมาได้ และเราก็ได้เกิดมาแล้ว การได้เกิดมาเป็นมนุษย์นั้น ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากที่สุดประการหนึ่ง ในสิ่งที่เป็นไปได้ยากหลายๆ อย่าง เพราะการได้เป็นมนุษย์นั้น จะมีโอกาสทำตนให้เจริญ ให้สูงสุด ขนาดขั้นจะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ยังต้องเกิดมาเป็นมนุษย์ ถ้าเป็นอื่น เป็นพระพุทธเจ้าไม่ได้ ดังนี้ จึงถือว่าเป็นบุญคุณอันมหาศาล ต้องตอบแทนพ่อแม่ให้ได้ ต้องคิดว่าเคราะห์ของเรายังดีนะ ที่ยังมีพ่อแม่ที่ยังเป็นอวิชชาอยู่ ถ้าพ่อแม่เป็นวิชชาด้วยกันทั้งหมดแล้ว ไม่มีใครทำให้เกิด ไม่มีทางทำให้เกิดแล้วละก็ จะไม่ได้เกิดจริงๆ ด้วย จึงจะต้องเห็นใน “ความยากมาก” เหลี่ยมนี้ให้ได้ ฉะนั้น จึงต้องตอบแทน ใครไม่ตอบแทนพระคุณพ่อแม่ก็เลว ดังนี้

นี่คือความรักมิติที่ ๒ ซึ่งแผ่ขยายจากความรักที่เห็นแก่ตัว ที่มีเพียงอารมณ์ร่วมนิดเดียวออกมาบ้างแล้ว แต่ก็ยังอยู่ในวงแคบมาก

.. ความรัก ๑๐ มิติ
   [เลือกหนังสือ]
page: 2/16
   Asoke Network Thailand