ความรัก ๑๐ มิติ
โดย พระโพธิรักษ์
ตอบปัญหาที่นักศึกษาถาม หลังการบรรยายที่หอประชุมวิทยาลัยครูเชียงใหม่
วันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๑๘
ถาม พระสงฆ์ควรใช้แรงงานทำงานร่วมกับชาวนาหรือไม่
ตอบ ไม่ควร ถ้าเป็นพระสงฆ์จริง มีศีลสิกขา
จิตสิกขา ปัญญาสิกขาแท้ๆ บรรลุมรรค บรรลุผล แต่ถ้าเป็นพระสงฆ์เก๊ๆ
เผยแพร่ศาสนาไม่ได้จริง ไม่มีมรรคไม่มีผล ก็จงไปทำนากับ ชาวนาเถิด
หรือจงไปเดินขบวนนำชาวนา ช่วยชาวนาเถิด เพราะพระสงฆ์พวกนั้นไม่มีวิชชาที่จะสอนเรื่องธรรมะปรมัตถ์
ธรรมะ ให้ตัดกิเลสยังไง ก็ยังไม่เป็นนี่ อย่างนั้นก็ควรไปทำไร่ไถนา
ทำงานทางด้านแรงกาย ไม่งั้นมากินข้าวชาวบ้านเปล่าๆ ไปไถนา ไป
ทำนาก็ดีแล้ว ดีกว่านั่งกินนอนกินอยู่กับวัดในระบบเช้าเอน
เพลนอน บ่ายพักผ่อน กลางคืนจำวัด ให้เปลืองข้าวสุกชาวบ้านเขาเปล่าๆ
ไปไถนา ไปทำนาก็ดีแล้ว อาตมาเห็นด้วย
ถาม ศาสนาพุทธในราชอาณาจักรไทยเป็นลัทธิแก้ใช่หรือไม่
ตอบ พูดให้กระจ่างไปตามลำดับก่อน ศาสนาพุทธกำหนดพุทธขึ้นเอง
แล้วก็ใช้พุทธให้ตรงขึ้นมาเอง ไม่ได้ไปแก้ของใคร เป็นลัทธิรากเหง้า
ค้นพบสัจธรรมสุดยอดในระบบของตนเองแท้ๆ
แต่ถ้าจะหมายถึงศาสนาพุทธในราชอาณาจักรไทย
ทุกวันนี้ อย่างนั้นละก็ใช่ เป็นลัทธิแก้ เพราะสถานการณ์ของพุทธศาสนา
ในปัจจุบันนี้ ได้ถูกแก้ไขดัดแปลง ให้เพี้ยนจากเป้าหมายที่แท้จริง
ออกไปมาก แก้ความหมาย แก้ระบบ แก้ระเบียบ แก้วินัยของพระพุทธเจ้า
แม้แต่ความประพฤติและความเป็นอยู่ของผู้เข้ามา
บวชในพุทธศาสนาส่วนใหญ่ ก็ถูกแก้ไขให้กลายเป็นผู้อยู่อย่าง เอารัดเอาเปรียบสังคม
ไม่มีผลผลิตที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อน ร่วมโลกอันเป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์ของพระพุทธเจ้า
ซึ่งมีอุดมการณ์ในการที่จะช่วยปลดเปลื้องทุกข์ให้กับปวงชน สัตว์โลก
โดยตนต้องเรียนและฝึกตนให้ได้ก่อน แล้วก็ช่วยปวงชนเป็น ตัวอย่างอันดีงามแก่ปวงชน
แต่ทุกวันนี้ส่วนใหญ่กลับอยู่อย่าง เอาเปรียบปวงชน มอมเมาปวงชน
จะเรียกว่าเป็นการกบฏหรือทรยศต่ออุดมการณ์ของพระพุทธเจ้าก็ว่าได้
ความเป็นไปของพุทธศาสนาส่วนใหญ่ในทุกวันนี้
เหลืออยู่แต่เพียงรูปแบบอันไม่ส่งผล และพิธีกรรมอันงมงายต่างๆ
ที่ถูกผู้เข้ามาแอบแฝง ใช้เป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์ บนความงมงายของผู้คนเท่านั้น
ส่วนเนื้อหาสาระอันเป็นแก่นแท้ที่จะเป็นไปเพื่อละกิเลสตัณหา
ทำลายความเห็นแก่ตัว และบำเพ็ญประโยชน์เกื้อกูล แก่ปวงชนตามเจตนารมณ์ของพระพุทธเจ้านั้น
กำลังจะถูกกลืนหายไปทุกที จนเกือบจะหมดเชื้อ หมดเนื้อแท้กันอยู่แล้ว
ถ้าไม่เพ่งโทษคำกล่าวนี้ว่า พูดผ่าเกินไป มีใครบ้าง ที่เห็นว่าไม่จริง
! จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายจะพึงร่วมมือกันขจัดความเลวร้าย
ที่แอบแฝงเข้ามาอยู่ในบวรพุทธศาสนา เพื่อความธำรงอยู่ของสัจธรรมแห่งพุทธศาสนาสืบไป
ถาม ศาสนาพุทธเป็นจิตนิยม ใช่หรือไม่
?
ตอบ ไม่ใช่ ! ศาสนาพุทธไม่ใช่จิตนิยม
และไม่ใช่วัตถุนิยม ศาสนาพุทธเป็นสัจนิยม
จิตนิยมคืออะไร อาตมาจะขออธิบายให้ฟัง จิตนิยมคือการไปหลงอยู่ในภพในชาติ
หลงไป เพ้อ สูบฝิ่นแล้วก็ไป... แหม...วิมานอันนี้ของฉันสบายจริงหนอ
! นี่เป็นจิตนิยมหรือ แหม..ฉันอยากได้เสื้อสวยตัวนี้จริงหนอ
นี่ก็จิตนิยม ยังไม่ได้เสื้อนะ เป็นเพียงกิเลสตัณหาและเป็นทุกข์แท้ๆ
ในจิต โดยที่วัตถุอันนั้น มีจิตของตัวเอง ไปประกอบยึดอยู่ และยิ่งได้เสื้อสมใจก็ยิ่งเป็นจิตนิยมแท้ๆ
ครบ มีสุข คนจะพยายามให้ตนมีสุข ดังนี้เสมอๆ จะให้ตนมีความสุขคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง
ไม่บกพร่อง ดั่งนี้เสมอ จึงเรียกว่า จิตนิยม
วัตถุนิยม ในโลกนี้ที่ไม่มี จิตนิยม ร่วมด้วย
ไม่มีในโลก แต่ทางศาสนาพุทธปฏิบัติจนกระทั่งไม่ติดวัตถุนิยม
แต่ที่ยังหลงติดจิตนิยมก็มีอยู่บ้าง ฟังให้ดีนะ ลัทธิใด ที่หลงวัตถุนิยมแล้ว
ไม่เป็นพวกจิตนิยม ไม่มีในโลก เพราะวัตถุมันเกี่ยวกับบุคคล เมื่อเกิดวัตถุนิยมก็คือว่า
บุคคลนั้นเกี่ยวกับวัตถุนั้น (วัตถุ ในที่นี้ หมายเอาว่า คือสิ่งที่เป็นจริงมีจริง
ที่สัมผัสได้จริง มีเหตุมีผล ไม่ใช่ ความคิดเพ้อ ความฝันลอยลมตามที่เขาหมายกันด้วย)
เป็นวัตถุนิยมขึ้นมา เมื่อเป็นวัตถุนิยมแล้ว ใครไปนิยม ก็บุคคลนั่นแหละ
ที่ไปนิยม เมื่อบุคคลไปนิยม เอาอะไรไปนิยม ก็จิตของบุคคล ผู้นั้นแหละไปนิยม
จิตของบุคคลผู้นั้นถูกวัตถุนั้นครอบงำเข้าให้แล้ว โดยยึดมั่น
ขึ้นที่ใจว่าจะต้องเป็น จะต้องมี จะต้องได้ (ยึดมั่นอยู่ก็คือความหลงว่าเที่ยง
นิยม แปลว่า เที่ยง แก้ไขไม่ได้ ไม่ยอมอนุโลม และยึดแน่วแน่เอาแต่อย่างนั้น)
เช่น ต้องการรถเก๋งเพราะจิตของเขาตกเป็นทาสรถเก๋ง ต้องการเสื้อสวย
เขาก็ตกเป็นทาสของเสื้อสวย ต้องการรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส
เขาก็ตกเป็นทาสรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ต้องการระบบนี้ เขาก็ตกเป็นทาสของระบบนี้
ต้องการทฤษฎีนี้อย่างไม่ยอมลดราวาศอก ยึดสูตร ตายตัว ไม่มีปัญญารู้องค์ประกอบและสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมือนกัน
อันจะต้องแก้ไขปรับปรุงตามที่เป็นจริงดั่งนี้คือ วัตถุนิยมจริง
และเป็นทาสแท้ๆ คือ เป็นทาสลัทธิ ทาสระบบ หรือทาสสูตร ทาสทฤษฎี
ซึ่งเป็นทาสความคิดของผู้อื่นอยู่โดยตรง (ถ้าเป็นทาสความคิดของตนเองจนถือตัวถือตน
ก็เป็น จิตนิยม)
เพราะฉะนั้น วัตถุนิยมที่ปราศจากจิตนิยม
ไม่มีในโลก แต่จิตนิยมที่ไม่มีวัตถุนิยม มี เช่น พวกฤๅษี
หรือพวกที่ปฏิบัติจิต ไม่มีความต้องการวัตถุ แต่ไปนั่งอร่อยจริงๆ
อยู่ในจิตของตัวเอง อยู่ในภพชาติที่สงบ อยู่ในตัวเอง อย่างนี้เป็นต้น
หรือไปหลงฤทธิ์หลงเดช เล่นจิตของตัวเอง เป็นอะไรก็ไม่รู้ สร้างสวรรค์นรกอะไรของตัวเองก็ไม่รู้
เฉยมาก ไม่เกี่ยวกับใครเลย ไม่เดือดร้อนด้วยเลย ไม่ทำลายวัตถุในโลกด้วย
แต่ตัวเองไปเป็นอัตตาหรือปรมาตมัน แม้แต่เป็นความสงบของฤๅษี
ไปนั่งเสพความสงบ จิตนิยมอย่างนี้ก็มีได้ คือไม่ช่วยสังคม แต่ไม่กวนสังคม
กลายไปเป็นผู้เห็นแต่แก่ตัว ปลีกตนเอาตัวรอดไป หลงเสพจิต เสพอารมณ์แต่ผู้เดียว
เท่ากับเขาตายเท่านั้น จิตนิยมโดยไม่มีวัตถุนิยมมีได้ดังนี้
ส่วนวัตถุนิยมที่ไม่มีจิตนิยมสังเคราะห์อยู่ด้วยนั้น ไม่มีในโลกจริงๆ
แต่ศาสนาพุทธไม่ติดทั้งสองอย่าง ถ้าติดจิตนิยม
พระพุทธเจ้าเรียกว่า สุดโต่งฝ่าย อัตตกิลมถานุโยค (หลงตัว
เห็นแก่ตัวจัด) ถ้าติดวัตถุท่านเรียกว่า กามสุขัลลิกานุโยค
(หลงโลก หลงวัตถุจัด) ศาสนาพุทธไม่มีสุดโต่งทั้งสองฝ่ายนี้เลย
อยู่ตรงกลาง รู้จักจิตและรู้วัตถุ ใช้วัตถุกับจิตให้พอดีกัน
ให้เป็นไปโดยการสงเคราะห์กัน และไม่หลงรักทั้งสองอย่าง เป็น
พระอรหันต์แล้วไม่รักทั้งวัตถุและไม่รักทั้งจิต มีแต่ปัญญาหรือญาณ
คือ ธาตุรู้ แล้วก็ทำงานบำเพ็ญประโยชน์ให้แก่โลก แก่สังคม นี่คือศาสนาพุทธ
ถาม พระภิกษุที่ค้าเครื่องรางของขลัง
รับปลุกเสก รับ เจิมป้ายในโรงแรม โรงอาบอบนวด อย่างนี้ เป็นคำสอนของพุทธศาสนาหรือ
?
ตอบ เปล่าเลย นี่ไม่ใช่ศาสนาพุทธ พุทธศาสนาไม่มี
คำสอนให้ทำอย่างนี้ ศาสนาเจิมป้ายก็คือ ศาสนาเจิมป้ายซี ศาสนาโรงนวดก็ศาสนาโรงนวด
ไม่ใช่ศาสนาพุทธนะ ยิ่งศาสนาทำเครื่องรางของขลังมาขาย นั่นมันศาสนาพาณิชย์
อาตมาตั้งชื่อ ไว้แล้ว หรือศาสนาเจิมป้ายก็คือ ศาสนาพาณิชย์เหมือนกัน
เขาก็ย่อมมีประโยชน์แก่กันและกัน เพราะศาสนาเจิมป้ายนี่น่ะ พวกร้านค้าใช่ไหม
เจิมป้ายส่วนมากก็ไปเจิมร้านค้าใช่มั้ย ก็เพราะว่าศาสนาพาณิชย์เขาก็มีประโยชน์แก่กันและกัน
พระพุทธเจ้าสอนไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย อย่าทำการ
ลงเลขยันต์คุ้มกันบ้านเรือน นี่เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง ผู้เป็นพระต้องเรียนรู้
ศีล แล้วอย่าละเมิด ลงเลขยันต์ คุ้มกันบ้านเรือนนั้น ก็คือเจิมป้าย
เจิมบ้านนั่นแหละ เป็นเดรัจฉานวิชา หรือทำ พระเครื่องขึ้นมาขายก็เป็นศาสนาพาณิชย์ไป
ไม่ใช่ศาสนาพุทธนะ
เพราะฉะนั้น จะบอกว่าศาสนาพุทธเป็นจิตนิยม
หรือไม่ ก็ย่อมไม่ใช่ ดังที่ได้อธิบายมาแล้วเมื่อกี้นี้ แต่ศาสนาที่เจิมป้าย
ปลุกเสกเครื่องรางของขลังนี่ เป็นทั้งวัตถุนิยม และจิตนิยม
ไม่ใช่จิตนิยมอย่างเดียว เป็นเช่นเดียวกันกับพวกที่ได้รับความคิดใหม่ๆ
ที่ยังเข้าใจความจริงไม่พอ ทำจริงยังไม่ได้ตามคิด บอกว่าตัวเองเป็นวัตถุนิยม
แต่ไม่รู้ตัวว่าตัวเองก็มีจิตนิยม เช่น บางคนก็ยังไปหลงไอ้นั่นและไอ้นี่
หลงวัตถุต่ำๆ อบายมุขเลวๆ ตนก็ยังหลงก็มี หลงทั้งอารมณ์ ทั้งความคิด
ยังไม่ได้พิสูจน์ก็หลงว่า
เป็นจริง องค์ประกอบต่างๆ ที่ตนหวังตนฝันนั้น มันยังมีรายละเอียดที่ยังไม่เหมือนกันกับวัตถุอื่นที่เคยมีเคยเป็น
ก็ยังรู้ไม่ละเอียด ก็ยึดจะเอาเป็นเอาตายให้ได้ นี่ก็คือจิตนิยม
หลงจะต้องทำระบบนั้น จะทำรูปนี้อยู่นั่นแหละ แล้วก็ไปโทษอื่นเขาว่าเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้
แทนที่จะมองย้อนดูตัวเอง แก้ไขตัวเองก่อนก็ไม่เอา แก้ไขตนเองก่อนซี
จะมีแต้มอักโขทีเดียว
ถาม ถ้าความรักนั้นยังหวังสิ่งตอบแทน
เราจะจำกัดความรักแบบนั้นลงไปในแบบใด
ตอบ ถ้าความรักนั้นยังหวังสิ่งตอบแทนอยู่
ก็ยังเป็น ความรักที่จัดเข้าไปในทุกระบบ อยู่ในทุกแบบ เพราะทุกแบบยัง
มีความเห็นแก่ตัวหรือยังมีความหวังอยู่แทบทุกแบบ ยกเว้นมิติที่
๙ ที่ ๑๐ นอกนั้นยังมีอยู่ แม้แต่ในมิติที่ ๘ ก็ยังมีความหวังอยู่
คือระดับที่ยังเป็นพระเสขบุคคล เป็นพระอริยะขั้นยังไม่ถึง พระอรหันต์
ก็ยังมีความหวังอยู่ ส่วนนอกนั้นยิ่งหวังหมดเลย มันเป็นความแบกโลก
ยังเป็นความแบกโลกอยู่ นี่ตอบสั้นๆ ก็เพราะดูมันไม่ยาวอะไร ไม่มีคำตอบอะไรยาว
ก็เอาพอสมควร
ถาม มันก็ไม่เชิงเป็นปัญหา แต่ผมอยากเรียนปรึกษาว่า
ในฐานะที่เราทั้งหลายเป็นปุถุชนธรรมดา จิตใจของเราเป็นสิ่ง ไม่เที่ยง
และในภาวะเป็นมาอย่างนี้ หากเราจะมาเน้นกันถึงเรื่องจิต บ้านเมืองของเรา
ผมคิดว่าคงไปไม่รอด คือตอนนี้เราพูดว่า ไม่ให้โกรธ ไม่ให้หลง
แต่ว่าความเป็นจริงแล้ว หากว่าสภาพ แวดล้อมไม่เอื้ออำนวย ผมว่ามันแก้ได้ยาก
เรื่องจิตนี้ เราพยายามจะแก้มานานแล้ว ทำไมเราไม่สร้างระบบอะไรขึ้นมาอย่างหนึ่ง
ให้คนเสมอภาคกัน ผมเชื่อว่าความโลภอาจจะลดน้อยลงไป
ตอบ การปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมให้เอื้ออำนวยแก่การ
ละกิเลสตัณหา หรือทำลายความเห็นแก่ตัวคือ ความโลภ โกรธ หลง นั้นก็เป็นสิ่งดี
เป็นรากฐานที่สำคัญและมั่นคง
ถ้าหากว่าสามารถทำได้ แต่การที่จะสร้างระบบอะไรขึ้นมาสักอย่างหนึ่ง
ให้คนเสมอภาคกันทางด้านการดำรงชีวิตและสภาพ ความเป็นอยู่นั้น
ยังไม่เป็นหลักประกัน ที่มั่นคงเพียงพอ ที่จะเชื่อได้ว่า จะทำลายล้างความเห็นแก่ตัวให้หมดไปอย่างสิ้นเชิงได้หรอก
คุณเอ๋ย เพราะพัฒนาการของมนุษยชาตินั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข
ทางเศรษฐกิจและสังคมเท่านั้น หากแต่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข ทางวัฒนธรรมและจารีตประเพณีอีกด้วย
และโดยสัจจะคือ เงื่อนไขทางจิตใจที่ปราศจากกิเลสตัณหา หรือไม่
นี่แน่นอน และมั่นคงที่สุด
ค่านิยมทางวัฒนธรรมและประเพณีนั้น เป็นสิ่งที่
มีอิทธิพลอย่างมากในการพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศทางตะวันออกซึ่งมีพื้นฐานทาง
ประวัติศาสตร์อันยาวนาน ทำให้มีรากฐานทางวัฒนธรรมและประเพณีที่หยั่งลงอย่างลึกซึ้ง
และมีอิทธิพลอย่างสูงต่อประชาชน ถึงแม้ว่า ในช่วงระยะหลังนี้
จะถูกครอบงำ ด้วยวัฒนธรรมทางวัตถุ จากตะวันตกที่หลั่งไหลเข้ามามอมเมาประชาชนให้หลับใหลหลงใหลไปกับการใฝ่หาความสุขสำราญอันฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยจากสถานเริงรมย์
และแหล่งอบายมุขต่างๆ ที่มีอยู่มากมายในขณะนี้ก็ตาม ก็ยิ่งทำให้เพิ่มความจำเป็นมากยิ่งขึ้น
ในการที่จะต้องปลูกฝังค่านิยมที่ถูกต้อง อันเป็นสัจนิยม และเป็นสัจธรรม
เพื่อทำลายล้างวัฒนธรรมที่มอมเมา และประเพณีที่งมงายและบ้าคลั่งเหล่านั้น
เพราะไม่ว่าจะเป็นความหลงมัวเมาในสิ่งเริงรมย์
และอบายมุขต่างๆ ที่มีอยู่อย่างเกลื่อนกล่นไปในทุกวันนี้ หรือความงมงายในจารีตประเพณีต่างๆ
ที่ปราศจากเนื้อหาสาระที่แท้จริง ซึ่งมันเป็นเนื้องอก มันเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องผ่าตัดทิ้ง
คุณๆ ก็ เห็นกัน ก็รู้กันได้นี่นา ก็ล้วนแล้วแต่เป็นค่านิยมอันเลวทราม
ที่ขัดขวางความเจริญก้าวหน้าของมวลมนุษยชาติซึ่งจำเป็น อย่างยิ่งที่จะต้องขจัดออกไป
โดยการชี้ถึงโทษภัยของสิ่งเหล่านี้ ให้เห็น และเข้าใจกัน อย่างกระจ่างแจ้งด้วยปัญญา
จึงจะสามารถทำลายล้างให้หมดไปได้อย่างสิ้นเชิง
การแก้ไขเฉพาะระบบเศรษฐกิจและสังคมโดยปราศจากการชี้แจงและปลูกฝังค่านิยม
หรือสำนึกที่ถูกต้องนั้น เป็นการ แก้แต่เพียงเปลือกนอก อันเป็นการบำบัดเพียงชั่วคราวเท่านั้น
เพราะการแก้ที่ปลายเหตุ โดยการเปิดโอกาสไม่ให้สัญชาตญาณแห่งความเห็นแก่ตัว
และเอารัดเอาเปรียบ แสดงตัวของมันออกมานั้น
เปรียบเสมือนการสร้างทำนบปิดกั้นกระแสน้ำอัน เชี่ยวกรากของตัณหา
หรือความทะยานอยาก ซึ่งพร้อมเสมอที่ จะทำลาย ทำนบที่ขวางกั้น
ให้พังพินาศลงไป และมันก็จะเพิ่ม ความรุนแรง และร่านทุรนยิ่งขึ้นเป็นทวีคูณ
หลักการที่ไม่รัดกุมนี้ ก็จะช่วยบำบัดได้บ้างหรอก ชั่วระยะเวลามื้อหนึ่ง
ช่วงหนึ่ง แต่ไม่มั่นคงยาวนาน
จึงจำเป็นที่จะต้องแก้ไขทางด้านจิตใจควบคู่กันไป
กับทางด้านวัตถุ ถ้าหากว่าปฏิเสธ ความสำคัญทางด้านจิตเสียแล้ว
ก็ยากยิ่งที่พัฒนาการ ของมนุษย์ จะบรรลุถึงเป้าหมายได้ เพราะความเห็นแก่ตัว
และความทะยานอยากของคนเรานั้น จะต้องแก้ด้วยปัญญาที่เข้าใจแจ้งในสัจธรรม
หรือความเป็นจริง แห่งการมีชีวิตอยู่อย่างแท้จริง โดยการปลูกฝังค่านิยมอย่างถูกต้องและสำนึกในการอยู่ร่วมกัน
จึงจะทำให้เกิดความร่วมมือ ในการที่จะทำลายล้าง สิ่งที่ครอบงำ
ทั้งทางด้านวัตถุ และความนึกคิดออกไปได้อย่างหมดสิ้นโดยสมัครใจ
นับเป็นระยะเวลาอันยาวนานที่พัฒนาการของสัตว์โลกได้ถูกกำหนดให้อยู่ภายใต้อิทธิพลของสภาพแวดล้อม
ต่อเมื่อการพัฒนาทางความคิดของมนุษย์เติบใหญ่ขึ้น จนสามารถวิเคราะห์สิ่งต่างๆ
ที่เข้ามามีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิต และสามารถควบคุมสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติได้บ้าง
ด้วยความเจริญ ทางวัตถุ แต่สัญชาตญาณดั้งเดิมแห่งความเป็นสัตว์ป่า
คือ ความเห็นแก่ตัว และการแก่งแย่ง เอารัดเอาเปรียบกัน ก็ยังมีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์อยู่มาก
และเขาก็ควบคุมมันไว้ด้วยเงื่อนไข หรือกฎเกณฑ์ทางสังคมต่างๆ
ที่กำหนดกันขึ้นมา เท่านั้น
ความเจริญทางด้านวัตถุทำให้มนุษย์มีความสามารถควบคุมสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติภายนอกได้มากพอสมควร
แต่แล้วความสะดวกสบายที่ได้รับ กลับทำให้ศัตรูที่แท้จริงของเขาเติบใหญ่ขึ้นทุกที
อันคือสัญชาตญาณแห่งความเห็นแก่ตัว จึงเอารัดเอาเปรียบ และมากขึ้นๆ
ๆ ๆ จนกลายเป็นกดขี่ ข่มขู่
ขูดชัดๆ รีดแท้ๆ ทารุณกันอยู่โต้งๆ เอาเปรียบกันอยู่เห็นๆ เขาก็จะไม่รู้สึกตัว
เข้าใจไม่ได้ (คือโง่จริงๆ) หรือแม้จะเข้าใจได้ก็จะไม่กล้าที่จะยินยอมลดการเอาเปรียบนั้น
เพราะสัญชาตญาณแห่งความเห็นแก่ตัวของเขายังไม่ตายสิ้นซากจากก้นบึ้งของจิตจริงๆ
ซึ่งเป็นธรรมชาติภายในของปวงสรรพสัตว์ที่ยังไม่ใช่อริยะหรืออารยะแท้
อันเงื่อนไขต่างๆ หรือกฎเกณฑ์ทางสังคมไม่อาจจะ ยับยั้งหรือควบคุมมันไว้ได้
จึงทำให้มนุษย์ แก่งแย่งและรบราฆ่าฟันประหัตประหารกัน อย่างอำมหิต
โหดเหี้ยม ยิ่งกว่าสัตว์ป่า เพราะความเจริญทางวัตถุทำให้มนุษย์มีมันสมองที่สามารถค้นคิดประดิษฐ์อุปกรณ์ในการทำลายล้างชีวิตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทุกทีๆ ทั้งที่ทุกฝ่ายต่างก็ร่ำร้องใฝ่หาสันติภาพ นี่คืออะไรกัน
ประเด็นของ ปัญหา อยู่ที่ไหนเอ่ย เห็นกันได้ไหม
มนุษย์จะไม่สามารถพบกับสันติสุขที่แท้จริงได้เลย
จนกว่าเขาจะหาทางจัดการกับศัตรูที่แท้จริง คือ ธรรมชาติภายใน
ของเขา ด้วยการหันกลับมามองย้อนสำรวจดูมัน และพยายาม ปลดปล่อยตนเองออกจากอิทธิพลของมัน
ที่ครอบงำและบงการ ให้เขากระทำการต่างๆ ที่เห็นแก่ตัว โดยอาศัยความเข้าใจ
ที่กระจ่างแจ้ง จากการวิเคราะห์มัน อย่างละเอียดลึกซึ้ง จนสามารถ
ปลดเปลื้องมันออกได้ เมื่อนั้นแหละมนุษย์จึงจะก้าวถึงขั้นตอนแห่งการเป็น
อริยชน เต็มความหมายของคำว่า มนุษย์ อย่างแท้จริง
การพัฒนาชีวิตให้สู่ความเป็นอริยชนนั้น
ก็มาจาก พื้นฐานของปุถุชนธรรมดาๆ นี้แหละ แต่จากการวิเคราะห์สิ่งต่างๆ
ที่เกี่ยวข้องกับชีวิต และอภิวัฒน์ตนเองด้วยการต่อสู้กับธรรมชาติภายในตน
จนเกิดปัญญาที่รู้แจ้งในสัจธรรมของชีวิต จนสามารถ สลัดสิ่งที่ครอบงำ
ทั้งทางด้านวัตถุ และความนึกคิดออกไปได้ ทำให้มีจิตใจที่ไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสภาพแวดล้อม
ทั้งทางธรรมชาติ และสังคมอัน เป็นการปลดปล่อย ตนเอง จากพันธนาการต่างๆ
ของชีวิต บรรลุถึงอิสรภาพ อันไพบูลย์ ที่จะรับภารกิจในการสร้างสรรสันติภาพ
และภราดรภาพให้แผ่ขยายออกสู่มวลชน อันไพศาลต่อไปนี่คือ อุดมการณ์ของพุทธศาสนาที่แท้จริง
เอาละ ก็พอสมควร จุดสำคัญๆ ก็ตอบให้ยาวหน่อย
สำหรับการฟังธรรมในวันนี้ ก็ขอให้จับเคล็ดต่างๆ ที่ได้ฟังมาแล้ว
เป็นปัญญา เอาไปถามตัวเองว่า เราควรจะทำได้ในระดับใด เราจะทำได้ในส่วนใด
แล้วก็ให้ลงมือทำ อย่าชักช้า ฟังธรรมแล้วจงเอาไปทำ อย่าฟังธรรมแล้วเอาไปทิ้ง
เอาละ
|