ความรัก มิติที่: 1กามนิยม  2พันธุนิยม  3ญาตินิยม  4ชุมชนนิยม  5ชาตินิยม  6สากลนิยม  7เทวนิยม  8อเทวนิยม  9นิพพานนิยม  10พุทธภูมินิยม
   [เลือกหนังสือ]      ปก | คำนำ | สารบัญ | ภาคผนวก | คัชนี
page: 11/16
colse

สารบัญ
[1] รักมิติที่1
[2] รักมิติที่2
[3]
รักมิติที่3
[4]
รักมิติที่4
[5]
รักมิติที่5
[6]
รักมิติที่6
[7]
รักมิติที่7
[8]
รักมิติที่8
[9]
รักมิติที่9
[10]
รักมิติที่10
[11]
ถาม-ตอบ
[12]
ถาม-ตอบ
[13]
ถาม-ตอบ
[14]
ถาม-ตอบ
[15]
ถาม-ตอบ
[16]
ถาม-ตอบ

ความรัก ๑๐ มิติ โดย พระโพธิรักษ์

ตอบปัญหาที่นักศึกษาถาม หลังการบรรยายที่หอประชุมคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๑๘

ถาม พระคุณเจ้าช่วยอธิบายความหมายของคำว่า “ทุกข์” ที่เกิดจากความรักด้วย

ตอบ ความหมายของคำว่า “ทุกข์” ที่เกิดจากความรักก็เพราะว่ามันจะต้องแบกไว้น่ะสิ ก็บอกแล้วว่าถ้าเผื่อว่ารักมากๆ ขนาดที่บอกว่า จะพรากจากกันไม่ได้น่ะ คลาดตากันก็ไม่ได้เลย แทบจะอุ้มกันไว้เลย มันทุกข์นะ และยังเห็นแก่ตัว ใครจะแบ่งเอาอะไรไปก็ไม่ได้ แบ่งเอาสัดส่วนไปก็ไม่ได้ แบ่งอารมณ์ไปก็ยัง ไม่ได้เลย ถ้าผู้ที่เรารักไปแบ่งเอาความรักไปให้แก่ผู้อื่นก็ไม่ยอมด้วย อย่างนั้นเป็นต้น เรียกว่าเป็นผู้ที่เห็นแก่ตัวจัดที่สุด จึงเป็นทุกข์มากที่สุด

ถาม ข้าพเจ้าเคยได้ยินคำกล่าวว่า ถ้ารักให้เป็นแล้วจะไม่เป็นทุกข์ ?

ตอบ เอาเถอะ...คุณเก่ง ว่ารักให้เป็นโดยไม่ให้มันเป็นทุกข์ ก็เอา อาตมาก็อยากเรียนรู้เหมือนกันนะ ถ้าทำได้อย่างไรแล้วกรุณาช่วยบอกอาตมาด้วย รักแล้วไม่เป็นทุกข์น่ะ มันเป็นยังไง อาตมาเองน่ะเชื่อพระพุทธเจ้า เชื่อความจริงที่เคยรู้เคยผ่าน และก็เคยมีความรัก รักในวัตถุ รักในอารมณ์หลง รักในอารมณ์สุข แม้รักอย่างเพศก็เคยรักด้วย อกหักก็เคย หักอกเขาก็เคย ไม่ใช่ไม่เคย เห็นทุกข์ รู้ทุกข์จริงๆ แม้แต่อาตมาจะออกมาบวช ก่อนจะออกมาอาตมาก็ยังมีแฟน ปฏิบัติธรรมแล้วก็ยังมีแฟน จนกระทั่ง รู้ทุกข์จริงๆ กระทั่งปลดความรักได้ ถึงรู้ว่าโอ้โฮ...เบ๊าเบา เบาจริงๆ ไม่ใช่ว่าอาตมาไม่เคยมีแฟน ไม่เคยมีวัตถุ ไม่เคยมี
อารมณ์ ฯลฯ ไม่เคยมีความรัก แต่ถ้าใครยังไม่รู้สึกก็จงรักกัน อยู่เถอะ ! ถ้าใครรู้สึกแล้ว ก็จงเลิกมา

ถาม ถ้ารักให้เป็นแล้วจะไม่ทุกข์ พระคุณเจ้ามีความเห็นในเรื่องนี้อย่างไร

ตอบ ยังไม่เห็นว่า ทำอย่างไรถึงจะรักให้ไม่มีทุกข์ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ถูก อาตมาเห็นจริงเพราะผ่านมาแล้วด้วย ว่ารักแล้วเป็นทุกข์ และเป็นภาระ พอปลดเสียแล้ว ปลงภาระสิ้น ก็แสนสบาย

ถาม ถ้าพระโพธิสัตว์ท่านสำเร็จเป็นอรหันต์ตั้งแต่ เมื่อครั้งยังเป็นพระโพธิสัตว์แล้ว ครั้นเมื่อท่านตรัสรู้เป็นพระสัมมา-สัมพุทธเจ้า ท่านตรัสรู้อะไร

ตอบ ท่านตรัสรู้ทศพลญาณ เวสารัชญาณ สัพพัญญุตญาณ ตรัสรู้อะไรต่ออะไรอีกเยอะแยะ จนกระทั่งท่านแน่ใจว่า ไม่มีใครจะสูงเท่าท่าน จึงปฏิญาณตนเป็นพระพุทธเจ้า มีมากกว่านี้นะ มีมากกว่าญาณที่อาตมากล่าวนี้อีก พระพุทธเจ้าตรัสรู้สิ่งที่เป็นโพธิญาณอย่างนั้นจริงๆ

ถาม สรุปว่าความรักคือกิเลสใช่หรือไม่

ตอบ ทำไมรู้ล่ะ ใช่ ! ความรักคือกิเลส เก่งนี่ รู้เหมือนกันตรงนี้

ถาม ที่ว่าความรักตัวเองนั้น เป็นความรักอย่างไร

ตอบ อ้าว..ไม่รู้ว่าความรักตัวเองเป็นความรักยังไง ? ถ้าความรักตัวเองมันก็รักไปหมดละ มันรักตั้งแต่นิ้วมือไปจนกระทั่งถึงหัวถึงเท้าหมดแหละ ความรักตัวเองนี้แม้แต่ความคิดของ ตัวเองก็ยังรักด้วย ใครมาขัดขวางความคิดของตัวเองก็ไม่ได้ ใครมาเถียง ใครมาเห็นขัดแย้ง ใครมาเห็นค้าน เป็นต้องเถียงกัน บางทีตีกันยังเอาเลย ต่อยกันยังเอาเลย มันรักตัวเองถึงขนาดนั้น ท่านเรียกว่า “มานะทิฏฐิ” น่ะ ไอ้ที่รักตัวเองจนกระทั่งแม้แต่ความคิด ก็ไม่ยอม

นี่ความรักตัวเองนี้ อาตมาก็อธิบายคร่าวๆ เท่านั้นเองน่ะ ที่จริงแล้วมันก็ทั้งนั้นแหละคุณเอ๋ย ความรักตัวเองพยายามไปคิดให้เห็น ถ้าไม่เห็นว่าเรารักตัวเองแล้วก็ดีน่ะซี่ จะเป็น พระอรหันต์ล่ะ ซี่คนนี้ แต่พระอรหันต์ท่านรู้นะว่าคนที่รักตัวเองนั้นเป็นอย่างไร และตัวเองก็รู้ตัวเองด้วยว่า เราได้หลงรักตัวเองมาเสียนักหนา และท่านก็ปลดปล่อย ถ้าไม่รู้อย่างนี้ เป็นพระอรหันต์ไม่ได้หรอก เป็นพระอรหันต์ต้องรู้ว่ารักตัวเองคืออย่างไร

ถาม การที่ท่านว่าการตัดความรักที่เป็นทุกข์ทั้งหลาย เช่น การตัดความรักของหญิง-ชาย การตัดภาระลูก ซึ่งท่านก็ว่าทำให้เราไม่ต้องแบกภาระหนัก ไม่เป็นทุกข์ เป็นการตัดความรักที่วง กว้างขึ้นด้วยหรือ เปล่า เช่น ความรักมิติที่สูงขึ้น คือรักไม่จำเป็นต้องจำกัดเชื้อชาติเพราะจะทำให้แบกภาระที่หนักยิ่งขึ้น ซึ่งถ้าต้องตัดด้วยก็เปรียบเหมือนการที่อยู่โดยสันโดษ ใช่หรือไม่

ตอบ ใช่...อยู่อย่างสันโดษ แต่ฟังคำว่า สันโดษ ใหม่ เพราะแปลคำว่า สันโดษ กันเดี๋ยวนี้ เป็นน้ำเน่ากันหมดแล้ว แปลกันว่า สันโดษคือ ความพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ แล้วกันเลย !

อาตมาสมมุติว่า...อาตมาชื่อ...อะไรสักชื่อหนึ่งที่เป็นมหาเศรษฐีมีเงินอยู่สองพันล้าน อาตมาไม่อยากได้ของใคร อาตมาสันโดษพึงพอใจในเงินสองพันล้านของอาตมา คุณอย่า มาเปลี่ยนระบบใหม่ อย่ามาเที่ยวได้แย่งของอาตมาไปนะ อาตมาทำถูกแล้วนะ โดยธรรมแล้วนะ อาตมาสันโดษน่ะ

นี่แหละผิด ความหมายคำว่าสันโดษที่ว่า คือความ พึงพอใจในของตนที่มีอยู่ ใครมีเท่าไหร่ๆ ก็รักของ ตัวเองเข้าไว้ ก็หวงของตัวเองเอาไว้ เช่นนี้ “เบี้ยวบาลี”

ก็ลองฟังดูใหม่ คำว่า สันโดษ หรือ สันตุฏฐิในภาษาบาลี คำนี้ในคำสอนของพระพุทธเจ้าไม่ใช่คำเดียวโดดๆ นะ “สันโดษ” มันมี อัปปิจฉะ สันตุฏฐิ ปวิเวก อสังสัคคะ วิริยารัมภะ ด้วย จะอธิบายเพียง ๓ คำหรือ ๓ สภาพ อัปปิจฉะ สันโดษ และ ปวิเวก มันมาจากความมักน้อย “อัปปิจฉะ” แปลว่า มักน้อย “สันโดษ” แปลว่า พอ “ปวิเวก” แปลว่า หยุดให้ได้ตามที่เราพอ

เพราะฉะนั้นสันโดษจึงต้องมีการกำหนดความพอ เช่น เรามีรายได้เดือนหนึ่ง ๒,๐๐๐ บาท แหม...เดือนหนึ่งๆ ก็หมด ๒,๐๐๐...บ๊ะ...แบบนี้มันไม่เข้าท่าแล้ว “สันโดษ” เถอะ...กำหนดความพอเข้าไว้เดือนหนึ่งเราจะใช้ให้ได้ ๑,๕๐๐ บาท ทำให้ได้ “มักน้อย” เข้า มักน้อยคือการไม่เอามาก หรือไม่จ่ายออกให้มากนั่นเอง “มักน้อย” ไม่ใช่ คือการไม่ทำมาก ทำเข้าไป ได้มากแล้วก็เอาน้อย เรื่องคำว่า “มักน้อย” ต้องฟังให้ดีนะ ชอบแปล มักน้อยกันผิดด้วย แปลสันโดษกันผิดด้วย มักน้อยแปลเบี้ยวไปว่า คือการไม่ทำอะไรเลย อย่างนั้นก็พังนะซี่ มักน้อยคือการทำอะไรก็ทำไปเถอะ ทำมากๆ คุณทำงาน มีแรงงาน มีรายได้ เขาอาจจะให้คุณ ๒,๐๐๐ เอาเพียง ๑,๐๐๐ เดียวจ้า ! นี่เรียกว่า “มักน้อย” คือเราเอาน้อย ๑ แต่ไม่ได้หมายความว่า “ทำน้อย” นะ ! ฟังให้ดีนะ เดี๋ยวนี้ภาษามันเบี้ยวหมดแล้ว ตีราคา เปลี่ยภาษากันผิดหมด มักน้อย คือการทำตนให้สิ้นเปลืองน้อยลง หรือผลาญน้อยลง ใช้มากนี่ก็ยังไม่เรียกว่ามักน้อยละ ! ใช้ตั้ง ๒,๐๐๐ อย่างนี้ ไม่ได้ลดลง ใช้เหลือ ๑,๕๐๐ สันโดษคือกำหนดความพอเข้า แล้วปวิเวก คือใช้ให้ได้ ทำให้ได้ตามนั้น อย่าดิ้นรน สงบอยู่ปวิเวก หมายความว่า อย่าดิ้นรน จงสงบอยู่ ทำให้ได้ อดทนให้ได้ตามกำหนดความพอนั้น หาหลักการ หามาตรการมาทำให้ตนทำให้ได้ ดังนี้จึงเรียกว่าป็นผู้ที่เพิ่มภูมิ เป็นผู้ที่มีค่า มีประโยชน์สูงขึ้นในโลก จึงจะถูกตามธรรม คำว่า “สันโดษ” จึงจะไม่เป็นมัจฉริยกิเลส และไม่เป็นอหังการ มมังการ (อัตตา)

พอใช้ได้ ๑,๕๐๐ สบายแล้ว หากอยากจะเป็นผู้ “สันโดษ” อีก ก็กำหนดลงไปอีก ใช้ ๑,๐๐๐ เอ้า มักน้อยลงไปอีก เอ้าใช้ ๑,๐๐๐ เดียวให้พอ ทำให้ได้อีก มักน้อยลงอีก แต่ถ้าจะทำงานมากยิ่งขึ้นอีก ไม่เกี่ยวนะ ! มีแรงงานมากขึ้นอีก ไม่เกี่ยง เพราะคุณจะได้เป็นผู้ที่มีความมักน้อยสูงขึ้นได้อีก เพราะมีแรงงานมาก มีผลพลอยได้มาก แล้วทำอะไรให้แก่คนอื่นได้มากเพิ่มขึ้นอีกก็ไม่ว่า แต่คุณผลาญน้อยคือ เป็นผู้มีประโยชน์มาก มีแรงผลิตมาก ทว่าสิ้นเปลืองน้อยนั่นเอง

หลักธรรมของศาสนาพุทธนี้ เข้าใจกันยังไม่พอแล้วเดี๋ยวนี้เอามาตีโต้กัน เอามาด่ากัน สอนให้มักน้อย ก็ขี้เกียจน่ะสิ เปล่าเลย... ไม่ใช่ให้ขี้เกียจสักหน่อย ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อ ความเกียจคร้าน นั่นย่อมไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัยของเราตถาคต ท่านสอนอยู่อย่างนี้ เมื่อกี้นี้พูดแล้วว่า เกียจคร้านเป็นอบายมุข ไม่ได้หรอก ! อย่าไปคิดผิดอย่างนั้น

หรือคุณกินอาหารวันหนึ่ง ๓ มื้อเช่นนี้มากไป ก็ลดลงมากินวันละ ๒ มื้อก็พอ หรือดีที่สุดก็ลดลงมากินวันละ ๑ มื้อ ก็เพียงพอ กำหนด “ความพอ” เท่าใด ก็ทำให้ได้ เป็นขั้นเป็นตอนไป ก็คือบรรลุ “สันโดษ” แต่คนทั่วไปคงจะเชื่อยาก การกินเดี๋ยวนี้“หลง” กันมาก คนตายเพราะกินมาก แต่ก็ไม่รู้กัน มีมากเหลือเกิน ทุกวันนี้ โรคไขมันอุดตันเส้นเลือดบ้าง เบาหวานบ้าง หรือไม่ก็มะเร็งบ้าง เพราะอะไร ? เพราะไม่รู้ความจริง น้ำเปรี้ยว-น้ำหวาน น้ำหลอก อันเป็นปัจจัยของกิเลส หลงกัน ไม่รู้ความจริง ประเดี๋ยวก็ซัปเปอร์อีกแล้ว ใช่มั้ย ? ใช่ แล้วยิ่งผู้หญิงแล้ว ยิ่งบ่นพะโล้นะ เป็นพะโล้น่ะ ไม่ใช่อาตมาพูดเล่นนะ เสร็จแล้วก็ไปจ้างนั่น ซาเลนเดอรีน อะไรโน่นแน่ะ เอาซิ...ลดกิโลหนึ่ง ๓๐๐-๔๐๐ บาท อะไรยังงี้ ไปเสียเงินเสียทองลดน้ำหนัก อย่านะ ! นักธรรมะของพุทธศาสนา อย่าให้เสียชื่อ เพราะต้องไปให้คนอื่นเขาควบคุม เราลดน้ำหนัก มันไม่ใช่เสีย “เงิน” อย่างเดียว มันเสีย “ฉลาด” ไปด้วย

ดังนั้นอย่าไปเข้าใจ “สันโดษ” เข้าใจ “มักน้อย” ผิด ผู้ใดเข้าใจเรื่องสันโดษจะต้องทำสันโดษให้จริงจัง คือ การกำหนดขอบเขตของความพอให้กับตนเอง รู้จักพอในการเป็นอยู่ การกินการใช้ การมี การเอา แล้วลดน้อยลงไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงจุด “ประโยชน์สูง-ประหยัดสุด” แล้วก็เป็นไปด้วยจุด “พอดี” นั้นๆ อย่าเข้าใจสันโดษผิด เมื่อเข้าใจ “สันโดษ” แล้วจะแบกภาระโดยมีความรักมิติสูงขึ้นๆ ก็เอา ถ้าทำได้จริง และผู้ใดจะทำได้จริง ผู้นั้นจะต้องมีตนเป็นผู้
“สันโดษ” แท้ๆ ด้วย

ถาม คนเราเกิดมาทำไมไม่เหมือนกันคะ ?

ตอบ อณูตั้งแต่เล็กที่สุด ตั้งแต่เริ่มมี ๒ อณูขึ้นไป ไม่มีอะไรเหมือนกันเลยในโลก

ถาม ทำไมบางคนรวย บางคนจน บางคนกิเลสน้อย บางคนกิเลสมาก

ตอบ อย่างนี้ยิ่งไม่อธิบายใหญ่เลย ชั้นปัญญาชนไปคิดเอาเอง แม้แต่อณูที่เกิดขึ้นมาเป็นสองอณูหรือปรมาณูก็ตาม ไม่มีอะไรเหมือนกัน ความเหมือนกันในสิ่งสองสิ่งไม่มีในโลก สิ่งเดียวเท่านั้นที่จะเหมือนกัน ฟังให้ดี ! สิ่งเดียวเท่านั้นที่จะเหมือนกัน นั่นคือ นิพพาน หรือ สุญญตาเท่านั้น ไม่มีอื่น นอกจากนิพพาน และสุญญตาแล้ว ไม่มีอะไรเหมือนกันเลยในมหาเอกภพ

ถาม คนเราเกิดมาทำไม ?

ตอบ เกิดมาทำงาน

ถาม คนเราเกิดมาเพื่ออะไร ?

ตอบ เกิดมาเพื่อตาย ฉะนั้นมันยังไม่ตายก็จงทำงาน เพราะการงานคือคุณค่าของชีวิต

ถาม ความรัก ความเสียสละ ไม่ใช่สิ่งดีหรือคะ ?

ตอบ คุณพูดผิดแล้ว อาตมาอุตส่าห์อธิบายแทบแย่ว่า ความรัก คือ ความเห็นแก่ตัว แล้วคุณบอกว่าเป็นความเสียสละ อีแบบนี้ตีกินนี่ ความรัก-ความเสียสละ ไม่ใช่สิ่งดีหรือคะ ? นี่ปนๆ มา แฝงมาด้วยยาพิษ จะพูดตัวเสีย ก็เอาตัวโก้เข้ามาผสม นี่เรียกว่า ปะหน้าเอาไว้งามๆ แต่ข้างในก็ตัวเก่า ตัวโกงตัวเก่า ความรักไม่ใช่ความเสียสละ ความรักคือความเห็นแก่ตัว ความรักคือความต้องการความสมใจ ความรักยังเป็นอัตตา ความเสียสละมันก็ดีน่ะซิ แต่ความรักนั้นมันไม่ใช่ เพราะฉะนั้นเรียนรู้ความรักแล้วเลิกมันเสีย จะได้เป็นผู้เสียสละที่เก่งได้ เพราะตนไม่ต้องรักอะไร หรือห่วงอะไรให้ตนเป็นคนลำเอียง เป็นคน เห็นแก่อำนาจความรัก

ถาม ทำอย่างไรคนเราถึงจะได้ไม่เกิดอีกคะ ?

ตอบ ก็ทำตัวให้ตาย แต่การตายคำนี้ ไม่ใช่ตายอย่างที่ตายเน่า เนื้อเปื่อย กระดูกผุ ไอ้ยังงั้นมันแหงๆ สุนัขก็ทำได้ ใช่ไหม? ทำตายเนื้อเปื่อยเน่าๆ แบบนี้มันวิ่งให้รถชนหน่อยเดียวมันก็ตายได้แล้ว สบายมาก แต่ทำตายอันนี้จะต้องทำการแตกอณูแห่งความยึดติดของจิตวิญญาณของคุณให้ได้ ถ้าคุณแตกไม่ได้ มันก็จะยังวนเวียนอยู่อย่างนั้นแหละ เหมือนอณูของน้ำ มันก็เวียนขึ้นไปเป็นน้ำฝนบ้าง เดี๋ยวก็ลงมาเป็นน้ำในลำคลองบ้าง ในแม่น้ำบ้าง เป็นอณูที่มองไม่เห็น ลอยล่องอยู่ในอากาศบ้าง อะไรยังงี้ อณูนี้ ถ้าไม่ได้แตกมัน มันก็ยังจะเกาะกันอยู่อย่างนั้นแหละ

อณูของจิตวิญญาณเกาะกันยิ่งกว่านั้น แตกทำลายมัน ให้ได้ ในตัวเรามีอณูวิญญาณนั้น ถ้าทำตัวนี้ไม่ตาย ก็ไม่มีตายจริงๆ ทำตัวนี้แตกให้ได้จึงจะสูญ นี่อธิบายได้เท่านี้นะ เพราะอธิบายในขณะนี้ไม่ไหว อันนี้ยาว อันนี้ละเอียด เรื่องยาก เรื่องแตกอณูของจิตวิญญาณนี้เป็นเรื่องยาก และเป็นเรื่องของ พระอริยะ ต้องหัดทำจริงๆ และต้องรู้จริง ถ้าไม่รู้จริงแล้วพูดเลอะ

ถาม ทำอย่างไรคนเราถึงจะได้ไม่เกิดอีกคะ ? ถ้าเกิดแล้ว มันไม่มีความสุข

ตอบ อ้อ ชักกลัวเสียแล้วหรือตอนนี้ ถ้าจะเรียกว่า “สุข” มันก็สุขอย่างหนึ่ง เมื่อผู้นั้นมี “นิพพาน” ไม่ใช่สุขธรรมดาด้วย บรมสุขหรือ “ปรมัง สุขัง” เพราะมันสุขอย่างที่ไม่ต้องมีความสุขเหมือนกันกับที่เรารู้ว่าความรักที่สูงสุดคือรักอย่างที่ไม่มีความรัก ฉันเดียวกัน คำว่า บรมสุขนี้อย่าแปลว่า “สุขอย่างยิ่ง” ถ้าแปลสุขอย่างยิ่ง ประเดี๋ยวหลอกกัน เพราะบรมสุขเป็นนิพพานนี้ มันไม่มีสุข แปลว่า “ยิ่งกว่าสุข” แต่ภาษาจะเรียกให้ชาวบ้านฟังนี้ว่ามันดี เพราะคนเรามันหลงแต่ความสุข ก็เลยยืมเอาความสุขมาเรียกมันเป็นยังไง มันเหมือนๆ กับความสุขนั่นแหละ แต่มันยิ่งกว่าน่ะ มันดีกว่านั้นอีก จึงเรียกว่า บรมสุข แปลว่า ยิ่งกว่าสุข

อาตมากำลังแปลเป็นภาษาไทยว่าอย่างนี้ก็ อาจจะขัดใจบรมครูรุ่นเก่าๆ หน่อย อย่าไปแปลบรมสุข หรือ นิพพานัง ปรมัง สุขัง นี้ว่า นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง เพราะสุขอย่างยิ่งมันเป็นเรื่องของโลก ยังเป็นโลกียะ ลาภ-ยศ-สุข-สรรเสริญ มันยังเป็นโลกียะ ยังไม่ใช่โลกุตตระ โลกุตตระนั้นไม่มีสุขเพราะสุขเป็นอลิกะ บอกแล้ว สุขเป็นตัวตอแหล หรือตัวเหลาะแหละหลอกลวง มันยิ่งกว่าสุข แต่ไม่มีภาษาจะเรียกให้คุณฟัง ปรม หรือปรมังนี้ ปรมัง ปรมตัวนี้แปลว่ายิ่ง “ยิ่งกว่าสุข” ก็เลยขอยืมคำว่า “สุข” เขามาใช้เทียบให้คุณคำนวณเอา คาดคะเนเอาว่า สุขมัน มีมากแค่ไหน สุขตัวไหนที่สุขที่สุด ปรมังสุขัง นี้ยิ่งกว่านั้นอีก

ถาม ถ้าเรารักเพื่อนร่วมโลก มีเมตตาช่วยเหลือเขา ความรักแบบนี้ก็ไม่ดีหรือคะ ?

ตอบ ก็ดีขึ้นหน่อยหนึ่งอยู่ในระดับมิติที่ ๔-๕-๖ คือรักไม่ใช่แค่ในวงญาติ แต่เป็นเพื่อนเข้าแล้วก็พอได้ ถ้าทำให้มันเป็นประโยชน์ก็เอา ก็ไม่ว่า ถ้าจะรักอย่างเป็นประโยชน์

ถาม เมื่อตายแล้ว ถ้าไม่มีความต้องการจะเกิดอีกต่อไป จะมีการกระทำอย่างไรบ้างคะ ? ในขณะที่เรายังมีชีวิตอยู่ใน ตอนนี้ อย่างเช่น ทำบุญทำทาน อุทิศส่วนกุศล ทำตนให้เป็นประโยชน์จะพอไหม ?

ตอบ ไม่พอ จะทำให้ตาย อาตมาพูดแล้วว่าเมื่อกี้นี้ แค่เกริ่นๆ ยังพูดละเอียดไม่ไหว เพราะวันนี้ต้องไปพูดอีกโปรแกรมหนึ่ง ต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมงๆ พูดกัน อาตมาทำให้ตายไม่เกิด มันต้องอธิบายละเอียดหลายๆ แง่ หลายๆมุม พูดสั้นๆ คุณจะเข้าใจยากแล้วจะเบื่อ ก็ขออธิบายผสมลงไปนิดหนึ่ง อย่างเช่น การทำบุญทำทาน อุทิศส่วนกุศล ทำตนให้เป็นประโยชน์ ยังไม่พอ แต่ก็ควรจะทำบุญ

คำว่า “บุญ” แปลว่า การชำระหรือกำจัดกิเลสออกจากจิต ก็คือให้ทาน เป็นต้น “ทาน” แปลว่าให้ ไม่ใช่เอา อย่าไปทำทานแล้วต้องการจะเอา ใส่บาตรข้าวทัพพีหนึ่ง สาธุ ขอให้สวยเหมือนเทวดา เหมือนนางฟ้า อ้าว ไม่ถูกนี่ อย่างนี้ยังไม่เท่าไหร่ ใส่ข้าวทัพพีหนึ่ง สาธุ วันนี้ขอหวยสักตัวเถอะ ห้าร้อย พันหนึ่ง แบบนี้มันนักเลงการพนัน ไม่ได้ทำทาน การทำทานคือการให้ เมื่อให้ด้วยกาย ด้วยวาจาแล้ว ใจก็ต้อง “ให้” ด้วย อย่าไปแลก อย่าไปทำการพนันหรือเสี่ยงทายด้วย ที่ง่ายก็คือ อย่าไปขอ ขอยืนยันว่า ศาสนาพุทธไม่ใช่ศาสนาแห่งการขอ ศาสนาพุทธมีแต่การสอนให้ “ให้ ” ไม่ใช่ให้ขอ จงจำไว้ ศาสนา พุทธไม่มีผู้บันดลบันดาล ศาสนาพุทธมีเหตุจึงมีผล ศาสนาพุทธนั้นทำดีจึงจะมีดีเป็นผล ถ้าทำดีแล้วก็ไม่ต้องขอ มันก็คือดีของเราวันยังค่ำ ถ้าทำชั่วก็เช่นกัน แม้ไม่ขอมันก็ต้องเป็นชั่วของตัว วันยังค่ำ “พระพุทธเจ้า” ในศาสนาพุทธนั้นคือ “เจ้าแห่งพระ”จะเรียกว่า “พระเจ้า” บ้างก็ได้ แต่ “พระเจ้า” ของพุทธศาสนานั้น หมายถึง “ผู้สร้าง-ผู้ทำ” จริงๆ ตรงๆ อยู่ที่ไหน ? อยู่ที่เราเอง ในตัวคนทุกคน เพราะ “พระเจ้า” คือแรงกาย แรงปัญญา ถ้าไม่สร้างไม่ทำ ไม่ออกแรงกาย - แรงปัญญา จะเอาแต่ขอ เอาแต่บนบาน ไม่ได้ สร้างน้อยก็ได้น้อย สร้างมากทำมากก็ได้มาก

สำหรับการอุทิศส่วนกุศลนี้ อาตมาจะขอพูดบ้าง การอุทิศส่วนกุศลนี้ คุณอุทิศไปให้ใคร ขอถามหน่อย ให้พ่อแม่ ที่ตายไปแล้วใช่ไหม ญาติๆปู่ย่า ตาทวดที่ตายไปแล้วใช่ไหม ? สัตว์โลกด้วยหรือ ? การอุทิศส่วนกุศลไปให้ผู้ตายแล้วนี้เป็นลัทธิศาสนาอื่น เรียกว่าเป็นอุบายหลอกกิน ศาสนาพุทธไม่มี ไม่นิยมให้ทำ หากจำเป็นสำหรับผู้ติดยึดจารีตนี้มา ก็ให้เขาทำ ของเขาเอง พระในพุทธอย่าไปเกี่ยว อย่าไปส่งเสริม เพราะการอุทิศส่วนกุศลไปให้คนตายแล้วนี้มันไม่ไป ยิ่งทำพิธีการพราง เรียกว่า “พิธีกรรมอำพราง” มีกรวดน้ำด้วย อุทิศไป ยถา วารี วหา...ว่ากันพึมเชียวละ อย่างนี้ศาสนาพุทธไม่มีหรอก เพราะเป็นพิธีกรรมอำพราง เป็นพฤติกรรมอำพรางอย่างหนึ่ง

อาตมาจะวิเคราะห์ให้ฟังว่ามันไม่จริง เช่น บอกว่า วันนี้ละนะ เอ้อ ปู่คนนี้ตายไปหลายปีแล้ว ชอบกินทุเรียน คุณก็ไปซื้อทุเรียนมา วันนี้ จะต้องอุทิศส่วนกุศล ทุเรียนนี้ไปให้ปู่ให้ได้ ซึ่งก็หมายใจว่า จะให้ปู่ได้กินทุเรียนกันละมื้อนี้ เอาไปเฉาะอย่างดีถวายพระ พระต้องยิ้มแน่เลย ถ้าพระองค์นั้นชอบทุเรียน พอเอาไปถวายพระเสร็จ พระก็ฉันตุ้ยๆ เลย ตามดูให้ดี ทุเรียนเอาเข้าปากลงไปในกระเพาะ อยู่ในกระเพาะนอนแอ้งแม้ง พระฉันเสร็จแล้วก็บอกเอ้าโยม... กรวดน้ำไปให้ผู้ตายนะ โยมก็ถือแก้วมา กรวดใหญ่เลย ยถา วารี วหา...ว่ากันใหญ่เพื่อเทให้จบ เพราะว่าพระสอนว่า เมื่อจบยถาแล้วสัพพี ต้องพนมมือรับ เพราะตอนนั้นให้พร ตอนยถานี้ต้องกรวดน้ำว่างั้นนะ กรวดใหญ่เลย อาตมาขอให้คุณกรวดน้ำ ๘ ตุ่ม ทุเรียนจะออกจากกระเพาะพระมั้ย ไปมั้ย ? ปู่ได้กินทุเรียนมั้ย

พฤติกรรมอำพรางอย่างนี้ ไม่ใช่ของพุทธ พุทธไม่มี แต่เดี๋ยวนี้มันได้เป็นอุบายอันหนึ่งเพื่อหลอกกิน แล้วพระขี้ มักจะได้กินของดีๆ ซะด้วย ถ้าพระรูปไหนขืนว่าทำบุญแบบนี้ไปให้ ผู้ตายกินผู้ตายใช้ล่ะก็ เป็น “พิธีกรรมอำพราง” จริงๆ เรียกว่าเป็น “มารผู้ลามก” ถูกต้อง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ตามพระพุทธพจน์ใน
“นานาติตถิยสูตร” ด้วย และจะมีใครไหมที่จะเชื่อว่า อาตมาพูดนี้ถูก เพราะในวงการศาสนาพุทธในเมืองไทยปัจจุบันนี้ ๙๙.๙๙ % ไม่เป็นอย่างอาตมาว่ามานี้เลย

เอ้า นี่อาตมาเป็นพระนะ ! อาตมาพูดโดยไม่ต้องเกรงใจ เพราะว่าอาตมาเป็นพระเอง อาตมาเผยแพร่สัจธรรม อาตมาไม่กลัวอดตาย เพราะอาตมาถือว่าเป็นธรรมะที่จะทำงาน อาตมาทำงานเผยแพร่ธรรมะทำอะไรนี้แสดงให้เห็น คนมีปัญญาได้เข้าใจถึงสัจธรรมแล้วเขาจะเลี้ยงอาตมาไว้เอง เพราะอาตมาไม่มีแม้แต่เงินบาทหนึ่ง ไม่มีแม้ข้าวสักเม็ดเดียว อาตมาก็ไม่สะสมเพราะว่าถ้าสะสม อาตมาไปโปรดทั่วหัวระแหงไม่ได้ อาตมาลำบาก ถ้าสะสมแล้วต้องมาจอดที่นี่ ไปไหนก็ต้องมานอนที่นี่เป็นตาปีตาชาติ อาตมาเผยแพร่สัจธรรมให้กว้างขวาง ต่อประเทศหรือชาวโลกไม่ได้ เพราะต้องห่วงแต่กลัวเสาเรือนจะหาย กลัวปี๊บข้าวคนจะเอา อะไรอย่างนี้ ไม่เอาหรอก อาตมามีบาตรใบหนึ่งนี้แหละ ใครอยากเลี้ยงก็เลี้ยงไว้ อาตมาก็ทำงาน แล้วคนที่มีธรรมะเขาก็มีปัญญารู้ เขาจะเลี้ยงอาตมาไว้เอง นี่พูดสัจธรรมให้ฟัง

เพราะฉะนั้นเรื่องอุทิศส่วนกุศลผลบุญนี้ เลิกได้ก็จงเลิกเสีย อย่าไปหลงงมงายอยู่เลย เป็นศีลพตปรามาสชนิดหนึ่งที่ถ้าผู้ใดยังไม่มีปัญญาเข้าใจ เขาก็จะทำอยู่ ก็ให้เขาทำไปเถอะ ถ้าเราช่วยอธิบายให้เขาเข้าใจได้ก็อธิบาย แต่คุณจะทำบุญกับ พระ เชิญ พระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบก็เลี้ยงท่านไว้ ไม่เลี้ยงไม่ได้ ไม่เลี้ยง ประเดี๋ยวยิ่งแย่กันใหญ่เลย สัจธรรมไม่มีใครเข้าใจ ไม่มีปัญญาที่จะฉลาดรู้

มีรายละเอียดอีก อาตมาจะวิเคราะห์ให้ฟังได้อีก เยอะแยะ มีเหตุผลอีกมากมายว่า ทำไมการอุทิศส่วนกุศลให้ ผู้ตายมันถึงไม่เข้าท่า แล้วมันก็ไม่เข้าท่าตั้งหลายอย่าง เพราะผู้ที่มารับส่วนบุญได้นั้นมีแต่ “เปรต” คุณอยากให้ปู่คุณเป็นเปรต คุณก็อุทิศให้กันตลอดไป เพราะวิญญาณที่มารับส่วนบุญได้นี้ มีแต่เปรตชนิดเดียว ชนิดอื่นไม่มี เทวดาก็มีทิพย์เสวย ถ้าวิญญาณเป็นเทวดามีทิพย์ของท่านกิน มี วิญญาณเปรตชนิดเดียวที่มารับส่วนบุญนะ คุณอยากให้ปู่ย่าตาทวดเป็นเปรตอยู่ก็เชิญ ไม่ว่ากระไร

.. ความรัก ๑๐ มิติ
   [เลือกหนังสือ]
page: 11/16
   Asoke Network Thailand